ยกแรก...เลือกตั้งใหญ่อังกฤษ 2019

ยกแรก...เลือกตั้งใหญ่อังกฤษ 2019

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการดีเบตทางทีวีเป็นครั้งแรกสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในอังกฤษ ปี 2019

ระหว่าง บอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม กับ เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ก่อนโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ โดยบทความนี้ จะกล่าวถึงภาพรวมของการดีเบต และประเด็นสำคัญของการหาเสียงเลือกตั้งเที่ยวนี้

ก่อนอื่นต้องบอกว่ารูปแบบการดีเบตที่ใช้ในครั้งนี้ โดยให้ผู้ชมในรายการและทางบ้าน ถามคำถามให้ทั้งคู่ตอบสลับกันภายในเวลาที่กำหนดนั้น นายคอร์บินถือว่าได้เปรียบเล็กน้อยเพราะเขาเป็นคนที่พูดแบบกระชับตามแบบฉบับผู้นำองค์กร NGO ในอดีต ส่วนนายจอห์นสันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าชำนาญด้านสุนทรพจน์สวยๆ จึงเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติที่ให้เวลาสั้นๆในการให้จอห์นสันตอบในแต่ละประเด็น

ธีมใหญ่ในการดีเบตที่เกิดขึ้น คือในขณะที่คอร์บินเปิดเกมรุกทางการเมือง โดยโจมตีจอห์นสันว่าจะขายหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศ หรือ NHS ให้กับบริษัทอเมริกันผ่านซี้ทางการเมืองอย่างโดนัลด์ ทรัมป์นั้น จอห์นสันเองจ้องแต่จะขายไอเดีย Brexit ว่าจะจบในเร็ววันต่อชาวอังกฤษ

ด้านจอห์นสัน ก็เปิดเกมรุกทางการเมืองกลับ ซึ่งจอห์นสันก็โจมตีคอร์บินว่า จะปล่อยให้สก็อตแลนด์ผ่านพรรคชาติสกอต SNP ภายใต้การนำของนิโคลาส สเตอร์เจี่ยน ทำประชามติให้ประเทศตนเองเป็นอิสระ และถามหาจุดยืนของพรรคแรงงานว่าในประเด็น Brexit จะอยู่หรือไปกันแน่ ซึ่งตรงนี้คอร์บินไม่มีความชัดเจนมากเท่าไหร่นัก ซึ่งประเด็นนี้ ทางด้านคอร์บิน ยืนยันว่าจะใช้เวลา 3 เดือนในการเจรจากับอียูจนให้ได้ข้อตกลงที่ดีกว่านี้ และใช้เวลาอีก 6 เดือน ในการทำประชามติ Brexit เป็นครั้งที่สอง

สำหรับจุดอ่อน ของทั้งคู่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับนายจอห์นสัน ได้แก่ ข้อกังขาในการพูดความจริงต่อชาวอังกฤษสำหรับ Campaign การเลือกตั้ง ซึ่งถูกโจมตีมากในช่วง Brexit เป็นอย่างมากว่าพูดหลายเรื่องเกินข้อเท็จจริง ด้านนายคอร์บิน ได้แก่ ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของชาวยิวหรือ Anti-semitism ซึ่งว่ากันว่าสมาชิกพรรคแรงงานบางท่านมีแนวคิดนี้ ซึ่งทั้งคู่ได้ปฏิเสธจุดอ่อนดังกล่าว

157440755368

รูปที่ 1 มูลค่าการลงทุนสุทธิใน Public Sector ระหวางปี 2022-2023

157440758375

รูปที่ 2 แหล่งเงินในการสนับสนุนนโยบายของพรรคแรงงาน

ทั้งนี้ การดีเบตนี้ได้โฟกัสไปที่ 3 ประเด็น คือ

1.NHS : ด้านคอร์บินยืนยันว่าจะไม่มีการนำองค์กร NHS เข้ามาเป็นของรัฐแบบสมบูรณ์ ในขณะที่ จอห์นสันโจมตีว่าพรรคแรงงานใช้เงินหลวงไปมากแค่ไหนแล้วให้กับ NHS ตั้งแต่ในอดีต 

2.อัตราภาษี: จอห์นสันเกริ่นว่าจะลดมีการลดภาษี แม้มีหลายกระแสจะประเมินว่าจะไม่ลดภาษีนิติบุคคล ด้านพรรคแรงงาน จะขึ้นอัตราภาษีให้เท่าปี 2010 เพื่อช่วยด้านโรงพยาบาลและการศึกษา

3.ด้านการเปลี่ยนแปลงภาวะด้านอากาศของโลกหรือ Climate Change: ทั้งคู่เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก

คราวนี้ หันมารู้จักไอเดียเศรษฐกิจของทั้งคู่กัน ตามแผนการณ์ของจอห์น แม็คโดนัลด์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคแรงงาน เพื่อที่จะพยายามให้นโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ดูสุดโต่งมากจนเกินไป จึงจำกัดโครงการใหม่ๆไว้ไม่ให้มากนัก โดยประกอบด้วย การนำบรรดาบริษัทสาธารณูปโภคอันประกอบด้วยรถไฟ น้ำประปา ไปรษณีย์ ไฟฟ้า และโทรคมนาคม มาเป็นของรัฐ รวมถึงจะให้ชาวอังกฤษสามารถท่องโลกออนไลน์แบบฟรีๆ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากภาษีที่เก็บกับคนรวย

รวมถึงจะนำหุ้นร้อยละ10 ของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมด มาแจกให้กับพนักงาน อีกทั้งจะเพิ่มสิทธิของผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่นับการกู้เงินครั้งใหญ่พื่อนำมาลงทุนในโครงการสาธารณะ

ด้านแรงงาน จะมีไอเดียให้แรงงานบางส่วนทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มีการจ่ายเงินรายเดือนที่เรียกกันว่าuniversal basic income ให้กับทุกคนแทนรัฐสวัสดิการที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ โดยทั้งหมดจะใช้เงิน 3 แสนล้านปอนด์ ดังรูปที่ 1 และ 2

ทางด้านนโยบายการเงิน อาจมีการพิจารณาการทำ QE แบบที่เรียกว่า People’ QE [อ่านเพิ่มเติม คอลัมน์ มุมคิดมหภาค วันที่ 2 ตุลาคม 2019] ในอนาคต รวมถึงจะย้ายกิจกรรมของธนาคารกลางอังกฤษบางส่วนจากลอนดอนไปที่เมืองเบอร์มิงแฮม และกระทรวงการคลังบางส่วนไปที่เมืองแมนเชสเตอร์

ด้านพรรคอนุรักษ์นิยม ประเด็นหลักของจอห์นสัน มีอยู่ประโยคเดียว คือ ‘Let’s get Brexit done’ ในการดีเบต รวมถึงการให้ประโยชน์ทางภาษีต่อชนชั้นกลาง

ในภาพรวม ผมมองว่าจอห์นสันเป็นมวยประเภทที่เก๋า สไตล์ไฟต์เตอร์ คือต่อยไม่หยุด แถมยังพริ้ว ทว่าปัญหาของจอห์นสันคือความน่าเชื่อถือ และ เนื้อหาของนโยบายในประเทศที่ไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่ โดยมองว่า Brexit ต้องจบก่อน ด้านคอร์บินเป็นมวยสไตล์บ็อกเซอร์ พูดแบบเนิ่บๆ แต่ตามจิกถ้ามีโอกาส อาทิในประเด็น NHS

โดยการดีเบตครั้งนี้ ดูแล้วยังไม่จะแจ้งนักว่าใครชนะแบบเบ็ดเสร็จ แต่ผมมองว่าจอห์นสันเองต้องเน้นนโยบายของตนเองมากกว่านี้ หากคิดจะชนะการเลือกตั้งอังกฤษแบบเสียงข้างมากในวันที่ 12 ธ.ค.นี้