สาเหตุจลาจลในประเทศพัฒนาแล้ว : ไม่เท่าเทียมหรือไม่เป็นธรรม
ปี 2562 นับเป็นปีที่มีการประท้วงทั่วโลก เช่น เลบานอน เอกวาดอร์ สเปน ชิลี ฮ่องกง ฝรั่งเศส โบลิเวีย แอลจีเรีย ซูดาน เฮติ นิคารากัว เป็นต้น
เหตุการณ์ประท้วงในหลายประเทศสามารถอธิบายสาเหตุได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหมักหมมมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำ บริการสาธารณะด้อยคุณภาพ การคอร์รัปชั่น การขาดธรรมาภิบาล
แต่คำถาม คือ อะไรเป็นสาเหตุของการประท้วงรุนแรงในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรุงซาติอาโก ประเทศชิลี และฮ่องกง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มั่งคั่งและค่อนข้างมีความสงบ เหตุใดเหตุการณ์ประท้วงยังดำเนินไปต่อเนื่อง และลุกลามจนกลายเป็นการจลาจล แม้ว่านโยบายและกฎหมายที่เป็นต้นตอของความไม่พอใจของประชาชนได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งเห็นตรงกันว่า นโยบายและกฎหมายที่เป็นต้นเหตุของการประท้วง เป็นเพียงตัวจุดชนวนความไม่พอใจที่มีอยู่แล้วให้ระเบิดออกมา ซึ่งสาเหตุของความอัดอั้นของประชาชน คือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ (economic inequality) หรือช่องว่างของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยที่กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะชิลี ที่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ดี มีข้อถกเถียงว่า ประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่พอใจของประชาชน ไม่ใช่เพียงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจซ้อนทับเข้าไป (economic unfairness) ต่างหาก แม้ประเด็นทั้งสองดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน หรือถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงทั้งสองประเด็นมีความแตกต่างกัน ควรแยกออกจากกันแม้โยงใยกันได้
แองกัส ดีตัน (Angus Deaton) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2015 ได้พยายามแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ โดยอธิบายว่า ความไม่เท่าเทียมไม่ใช่สาเหตุของกระบวนการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่เป็นผลของกระบวนการดังกล่าว อาจเป็นผลของกระบวนการที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ ความไม่เท่าเทียมจึงมี 2 ประเภท คือ ความไม่เท่าเทียมที่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งประเภทหลังต่างหาก ที่เป็นสาเหตุของความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน
สอดคล้องกับ แฮรี่ แฟรงค์เฟิร์ท ผู้เขียนหนังสือ “On Inequality” ที่ถกเถียงว่า ผู้คนไม่ได้ถูกรบกวนจิตใจด้วยความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ผู้คนยอมรับได้กับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล เช่น จากความรู้ความสามารถ ความขยันขันแข็ง แต่รับไม่ได้หากความเหลื่อมล้ำนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น จากความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ชาติตระกูล สีผิว เพศ เป็นต้น แฟรงค์เฟิร์ท มองว่า ความเท่าเทียมไม่มีนัยในเชิงคุณธรรม เพราะสังคมที่เท่าเทียม แต่ทุกคนยากจน น่าเป็นห่วงกว่า สังคมที่เหลื่อมล้ำสูง แต่ไม่มีคนยากจน
มุมมองดังกล่าวได้รับการยืนยันด้วย งานวิจัยของ คริสติน่า สตาร์แมนส์ มาร์ค ชีสกิน และ พอล บลูม นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล ที่ทำการศึกษาผู้คนในหลายวัฒนธรรม พบว่า ไม่มีหลักฐานว่า ผู้คนกังวลใจเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ แต่ผู้คนถูกรบกวนจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ พวกเขาจึงสรุปว่า มนุษย์ต้องการการกระจายที่เป็นธรรม ไม่ใช่กระจายให้เท่า ๆ กัน
สำหรับมุมมองของผมต่อข้อถกเถียงนี้ ผมได้นำเสนอในหนังสือ “สยามอารยะ-แมนนิเฟสโต :แถลงการณ์สยามอารยะ” ซึ่งผมเขียนขึ้นในปี 2555 กล่าวถึง “ปรัชญาสังคมอารยะ” ซึ่งเป็นปรัชญาการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบด้วย เสรีภาพที่พึงประสงค์ ความเสมอภาคที่พึงประสงค์ และภราดรภาพที่พึงประสงค์ การสร้างสังคมอารยะที่เจริญงอกงาม สงบสุข และยั่งยืน ต้องอยู่บนฐานปรัชญาครบทั้งสามประการนี้
ดังตัวอย่างการประท้วงรุนแรงในฮ่องกง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการที่ประชาชนรับรู้ว่า ตนเองขาดเสรีภาพทางการเมือง จากการที่รัฐบาลปักกิ่งแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บริหารเกาะฮ่องกง อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการรับรู้ว่า ขาดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้คนรวยยิ่งรวยขึ้น แต่ต้นทุนการครองชีพก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่สูงมาก ทำให้คนรายได้น้อยและคนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้ ประกอบกับสังคมขาดภราดรภาพ เพราะเป็นสังคมทุนนิยมแบบสุดโต่ง มีการแข่งขันสูง ขาดความเอื้ออาทรในสังคม
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะประเด็นความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ผมขออธิบายด้วยหลักความเสมอภาคที่พึงประสงค์ ซึ่งผมเห็นว่า ความเสมอภาคที่พึงประสงค์ไม่ใช่การจัดสรรให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่จัดสรรให้แต่ละคนตามความจำเป็น เพื่อให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จ คือ การใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อทำประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและสังคมส่วนรวม
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมเห็นว่า สังคมควรมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่เลื่อมล้ำมากจนเกินไป เพื่อจูงใจให้คนอยากทำงาน พัฒนาผลิตภาพ และสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทำให้การจัดสรรทรัพยากรในสังคมมีประสิทธิภาพมากกว่าการกระจายให้ทุกคนเท่า ๆ กัน
ถึงกระนั้น สังคมไม่ควรมีช่องว่างของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยมากเกินไป เพราะอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความรับรู้ว่า มีความไม่เป็นธรรมอยู่ในสังคม ถึงแม้ว่าคนรวยจะได้ความมั่งคั่งนั้นมาอย่างชอบธรรม และด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมก็ตาม เพราะโดยปกติ ความมั่งคั่งอาจนำมาซึ่งความได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่น ๆ ทั้งในแง่การพัฒนาสมรรถนะ โอกาสทางเศรษฐกิจ เครือข่าย และอำนาจ
กล่าวโดยสรุป สังคมที่มีความสงบสุข จึงเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคที่พึงประสงค์ กล่าวคือ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำไม่มากเกินไป มีความเป็นธรรม ทั้งในความเป็นจริง และในความรับรู้ของผู้คนในสังคม
อย่างไรก็ดี การสร้างความเสมอภาคในสังคมนั้นต้องทำให้เกิดเสรีภาพที่พึงประสงค์ด้วย เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยไม่ถูกกีดกันหรือปิดกั้นด้วยอุปสรรคที่ไม่จำเป็น รวมทั้งทำให้เกิดภราดรภาพที่พึงประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้คนที่มีมากกว่า ช่วยเหลือและแบ่งปันแก่ผู้ที่ยากจน สร้างสังคมที่ไม่มีใครสักคนถูกทอดทิ้ง