กระบวนการยุติธรรมเพื่อความไม่ยุติธรรม (2)

กระบวนการยุติธรรมเพื่อความไม่ยุติธรรม (2)

ในบทความครั้งที่แล้วผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้ว่าจะมาพูดถึงแนวทางที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ในการจัดการกับการฟ้องคดี

การฟ้องคดีที่เรียกว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) หรือการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก คำว่า SLAPP ถูกใช้ครั้งแรกโดยศาสตราจารย์ Pring และศาสตราจารย์ Canan แห่งมหาวิทยาลัย Denvor สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1989 โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 32 มลรัฐที่มีกฎหมายต่อต้าน การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก และนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีเพื่อปิดปากที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าก็ยังมีประเทศแคนาดา และออสเตรีย ในส่วนประเทศอื่น ๆ แม้ว่าจะยอมรับแนวคิดของกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก แต่ก็ยังไม่ค่อยมีการออกกฎหมายมาจัดการกับเรื่องนี้โดยตรง แต่อาจจะใช้กฎหมายอื่นเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับการฟ้องคดีเพื่อปิดปากได้ เช่น กฎหมายละเมิดทั่วไป หรือในสหภาพยุโรปก็มีข้อ 10 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่การแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างอิสระตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย 

แม้ว่ากฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีเพื่อปิดปากในแต่ละประเทศจะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ก็ยังคงมีหลักการสำคัญที่สอดคล้องกัน นั่นคือ เมื่อเป็นคดีที่เข้าข่ายว่าเป็น SLAPP แล้วกฎหมายเหล่านั้นก็มักจะมีช่องทางให้ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้ยกฟ้องคดีได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มต้น โดยจะต้องมีการไต่สวนคำร้องอย่างเร่งด่วน เพราะเวลาเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคดีในลักษณะนี้

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการฟ้องคดี SLAPP ตั้งแต่แรก บางประเทศก็อาจมีการกำหนดให้ผู้ฟ้องคดี SLAPP จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งหมด และค่าเสียหายเชิงลงโทษ เมื่อสุดท้ายแล้วคดีถูกยกฟ้อง เป็นต้น

ในบางคดีที่เจตนาของผู้ฟ้องคดีอาจมีความคลุมเครือ หรือผู้ฟ้องคดีอาจประสงค์ต่อผลทั้งสองด้านคือ เพื่อการชดใช้เยียวยาทางกฎหมาย และเพื่อใช้เป็นเครื่องมือกดดันให้ผู้ถูกฟ้องคดีเลิกแสดงความคิดเห็น หรือเลิกใช้สิทธิในทางสาธารณะ เช่น การประท้วง ในกรณีนี้ศาลก็อาจลังเลที่จะยกฟ้องคดี แต่เมื่อสุดท้ายแล้วหากศาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิโดยสุจริต ศาลก็พิจารณายกเว้นความรับผิดให้กับผู้ถูกฟ้องคดีได้

ฟังดูแล้วก็เป็นวิธีการที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาและง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ยากที่สุดในการจัดการกับคดี SLAPP คือ การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในขอบเขตที่เป็นคดี SLAPP บ้าง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่าในแต่ละประเทศก็มีการกำหนดขอบเขตคดี SLAPP ที่กว้างแคบต่างกันไป ตัวอย่างเช่น

  1. ประเภทของคดี SLAPP ซึ่งเดิมทีในสหรัฐอเมริกานั้นก็มีแต่คดีแพ่งเท่านั้นที่จะเป็นคดี SLAPP ได้ แต่ต่อมาคดี SLAPP ก็ขยายขอบเขตไปถึงคดีอาญา คดีปกครอง และคดีรัฐธรรมนูญได้ด้วย
  2. คู่ความในคดีในบางประเทศก็ใช้กับเฉพาะคดีที่คู่ความฝ่ายรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐฟ้องฝ่ายที่เป็นเอกชน แต่บางประเทศก็รวมถึงกรณีที่เอกชนซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ฟ้องผู้บริโภค หรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
  3. การใช้สิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องเป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนรวม

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงนโยบายในแต่ละประเทศที่ต้องการจัดการกับคดี SLAPP ที่แตกต่างกันออกไป ประเทศไทยเองก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการจัดการกับปัญหานี้มากขึ้น รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อในบทความครั้งหน้าค่ะ

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด

Purita.Thanachoksopon@allenovery.com