ขนส่งระบบราง

ขนส่งระบบราง

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางและยังคงมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

เพื่อการนี้จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในวงกว้าง จะต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือ ระบบการสื่อสาร ระบบการเงิน และระบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนโอกาสทางการค้าและเพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมถึงเพื่อกระจายโอกาสและความเจริญให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจในระดับสากล

จากยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศไทย (พ.ศ. 2557 – 2559) ได้กล่าวถึง “การพัฒนาระบบขนส่งทางราง” ไว้โดยหลัก ๆ  2 ประเภท ได้แก่ (1) ระบบขนส่งทางรถไฟซึ่งจะพัฒนาเป็นทางคู่ (Double track) เป็นสำคัญ และ (2) รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะดำเนินการเป็นเครือข่ายการขนส่งมวลชนเป็นสำคัญ โดยมีประเด็นท้าทายในเรื่องความคุ้มค่าต่อการลงทุน และความยั่งยืนของระบบรางในอนาคต

ในประเด็นข้างต้นอาจใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้มีการลงทุนพัฒนาการขนส่งระบบรางไปก่อนหน้าประเทศไทยจนสามารถดำเนินการอย่างยั่งยืนด้วยตนเอง จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทยในการดำเนินรอยตามทั้งในเชิงนโยบายทางเศรษฐศาสตร์ ความเหมาะสมทางสังคมศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมายให้ตอบโจทย์กับการใช้งานระบบราง

ในปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลจีนเร่งดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟในภาคตะวันตก โดยมีนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลาง  จากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ระบบรางรถไฟในภาคตะวันตกของจีนจึงขยายตัวคู่ขนานกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการขนส่งระบบรางทำให้ต้นทุนการขนส่งราคาถูกลงและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนโครงการพัฒนาเครือข่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนที่มีชื่อว่า “เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ซึ่งเขตเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีปริมาณผู้บริโภคกว่า 3 พันล้านคน และมีประเทศที่ทางรถไฟผ่านเข้าร่วมกว่า 40 ประเทศในอนาคต ส่งผลทำให้นครฉงชิ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างมากเนื่องจากเป็นต้นทางของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ปัจจุบันประเทศจีนมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก และมีแผนขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ โดยได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับประเทศในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ เรียกว่า เส้นทางสายคุนหมิง - สิงคโปร์

เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย กล่าวได้ว่าตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางของภาคเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเคลื่อนไหวทางการค้าที่สำคัญในกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าสูงของภูมิภาค คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ จำเป็นต้องใช้ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ผ่านประเทศไทย ในขณะที่เวียดนาม พม่าลาว และกัมพูชาต่างก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตการค้าระหว่างประเทศเหล่านั้นก็จำเป็นต้องอาศัยระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ผ่านประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ด้วยปัจจัยข้างต้น ประเทศไทยจึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นศูนย์กลางระบบการแลกเปลี่ยนทางการค้าในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถดังกล่าวขึ้นอยู่กับมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา ภายใต้กรอบกฎหมายที่ปลอดภัยและเป็นธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยยิ่งขึ้น

ความตื่นตัวที่จะผลักดันรูปแบบการขนส่งอื่นที่สามารถขนส่งได้คราวละมาก ๆ แทนที่การขนส่งทางถนน (Shift Mode) ในประเทศไทยแสดงออกผ่านการพัฒนาระบบรางที่กำลังขยายตัวมากขึ้น ทั้งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองหลวงและการขยายเส้นทางรถไฟในส่วนภูมิภาคโดยผลักดันโครงการรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) ระหว่างเมืองและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาองค์กรที่รับผิดชอบโดยการจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งมีแต่รถไฟไทย (รฟท.) และท้ายที่สุดได้มีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้นให้อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมพร้อมทั้งยกร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางดูแลรับผิดชอบกิจการรถไฟและรถไฟฟ้า

จะเห็นได้ว่าการขนส่งระบบรางมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทยได้มีการพัฒนาการขนส่งระบบรางมาอย่างยาวนานและได้มีการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริม ควบคุม ดูแลการขนส่งระบบรางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการขนส่งระบบราง จึงส่งผลให้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่อาจจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยและการขนส่งระบบรางที่เปลี่ยนรูปแบบไป อีกทั้งการเชื่อมต่อระหว่างประเทศที่มีการเข้าถึงกันมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระบบรางมาพิจารณาถึงเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน และควรมีการกำหนดแนวทางและนำเสนอกฎหมายใหม่ ๆ ที่สามารถนำมายกระดับและอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาการขนส่งระบบรางของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคได้

เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบรางยังคงไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายออกมารองรับและบังคับใช้อย่างเพียงพอ ทั้งด้านการกำกับดูแล มาตรฐานและความปลอดภัย ด้านการกำกับการประกอบกิจการขนส่งทางราง ด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และด้านการส่งเสริมกิจการขนส่งทางรางให้สามารถสนับสนุนและสอดคล้องการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ต่อไปได้ มาตรการทางกฎหมายจึงมีผลอย่างมากต่อการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านเทคโนโลยีระบบรางและดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในมิติการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ซึ่งสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทางการกายภาพในด้านโครงข่ายคมนาคมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมาก

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์