ชีวิตที่ดูดี แล้วเป็นแบบนี้ได้ไง
บางครั้ง คนที่เราเคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเสียง เป็นคนมีความรู้ ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ ได้รับการยอมรับในสังคม
แต่กลับถูกจับดำเนินคดีข้อหาทุจริต ฉ้อโกง หลอกลวง หรือกระทำการใดๆที่เสื่อมเสีย
ทำให้เกิดคำถามว่า คนที่ดูดี มีฐานะพอสมควร อยู่ได้อย่างไม่ลำบาก มีความสำเร็จในชีวิต มีสถานภาพที่ดีในสังคม....แล้วเหตุใดจึงทำเช่นนั้น?
ผมไปควานหาคำตอบมาครับ เสาะหาจนพบงานวิจัยของ ศ. มูแอล แคพไทน์ แห่งร็อทเธอร์ดาม ซึ่งสรุปว่าการที่คนเหล่านี้กระทำเช่นนั้น อธิบายได้ด้วยเหตุผลทาง “จิตวิทยา”
หนึ่ง “ฉันทำดีมามากมาย เรื่องนี้เล็กน้อยเท่านั้น” ก็คล้ายๆกับบอกตัวเองว่า ฉันทานสลัดมาแล้วทั้งอาทิตย์ ถ้าทานของทอดสักวันจะเป็นไรไป พอคิดเช่นนี้ การกระทำที่น่าจะผิด มันเลยถูกมองว่าเป็น “เรื่องนิดเดียว” ถ้าเทียบกับสิ่งดีๆที่ฉันเคยทำมาแล้วมากมาย
สอง “ชื่อ ทำให้เบี่ยงเบน” เช่นการตั้งชื่อว่า “วิศวกรรมทางการเงิน” (Financial Engineering) คนในวงการอาจเผลอลืม จนแยกไม่ออกว่า แบบไหนคือ “วิศวกรรม” และแบบไหนคือ “วิศวโกง” แม้จะก้าวข้ามเส้นไปจนถึง วิศวโกง แล้ว ก็ยังคิดว่า มันเป็นวิศวกรรมทางการเงินอยู่นั่นแหละ
สาม “ใครๆก็ทำกัน ไม่เห็นมีปัญหาอะไร” เมื่อมองไปรอบตัว การทำความผิดเล็กๆน้อยๆ มีอยู่ทั่วไป และเจ้าหน้าที่ก็ละเลยมาตลอด ไม่เห็นจับใครได้ เมื่อใครๆก็ทำได้ และอยู่รอดได้ ฉันก็ทำด้วยคนสิ....ก็เท่านี้เอง
สี่ “ต้องไปให้ถึงปลายท่อ” หมายถึงการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการทำงานต้องมีเป้าหมายที่ท้าทาย แต่พอยึดมั่นเป้าหมายหลักอย่างหนักแน่น ว่า “จะต้องไปให้ถึง” ก็เลยมีโอกาสสูงขึ้น ที่จะละเลย ข้อบังคับ กฎหมาย หรือจริยธรรม ในระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้น
ห้า “จะเป็นแกะดำไปทำไม” มันไม่ใช่ของง่ายเลยนะ ที่ใครจะยืนหยัดอยู่กับสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งเพื่อนร่วมงานมีแนวโน้มกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การไม่ปฎิบัติตามกระแสอาจถูกมองเป็นแกะดำ ทั้งๆที่ตัวเองเป็นแกะขาว ในที่สุดก็เลยพ่ายแพ้ต่อแกะดำตัวจริง
หก “เรื่องนี้ฉันไม่ได้คิดเองนะ” นายสั่งให้ทำ แม้รู้สึกว่าไม่ถูกต้องนัก แต่ฉันก็ไม่ใช่คนคิด ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง หรือไม่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ก็ทำๆไปเถอะ วิธีคิดแบบนี้ ทำให้ความรู้สึกว่า ความผิดมันลดดีกรีลงไป เพราะคนคิดตัวจริงคือนาย ไม่ใช่ฉัน
เจ็ด “งานนี้แพ้ไม่ได้" เราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เมื่องานนี้จะมีผู้ชนะได้เพียงคนเดียว ถ้าแกชนะ ฉันก็แพ้ หรือ ตำแหน่งนี้รับได้เพียงคนเดียว ถ้าแกได้ ฉันก็ไม่ได้ พอสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
แปด “ฉันมีคุณค่าแค่นี้เองหรือ” สำหรับพนักงานบริษัท หรือ องค์กรต่างๆ เมื่อใดที่เกิดความรู้สึกว่า ทำอะไรก็ไม่เห็นมีใครชื่นชม ถ้าเป็นเช่นนี้ ความผูกพันในองค์กรก็ลดลง แล้วเริ่มคิดว่า ถ้าฉันจะทำอะไรที่ผิดๆบ้าง เพื่อประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ก็ย่อมทำได้ เพราะไม่ค่อยมีใครในองค์กร มองเห็นคุณค่าของฉันอยู่แล้ว
เก้า “เขาได้มากกว่าฉัน ขนาดนั้นเชียวหรือ” เวลาที่องค์กรตอบแทนคนทำงานเก่งๆ ด้วยการปรับยศ ปรับตำแหน่ง และให้ผลประโยชน์ตอบแทน อย่างเห็นได้ชัด ก็อาจจะมีคนอื่นที่คิดในใจว่า ฉันก็ทำอะไรให้องค์กรมากเหมือนกันนะ ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนนั้นเลย แต่ทำไมได้น้อยจัง ความคิดอย่างนี้ก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมหาประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่ถูกต้อง เพื่อชดเชยความรู้สึกนั้น
สิบ “สองมาตรฐาน” อำนาจมักทำให้ลืมตัว คนที่อยู่ระดับสูงและมีอำนาจ แทนที่จะมองว่า มาตรฐานทางจริยธรรมหรือวิถีปฏิบัติของตน จะต้องสูงกว่าพนักงานทั่วไป กลับกลายเป็นตรงกันข้าม คือพร่ำสอนให้พนักงานมีคุณธรรม จริยธรรมระดับสูง แต่ตนเองกลับลืมตัวและหย่อนยานในสิ่งเหล่านี้
ถ้าบังเอิญ คุณก็เป็นคนที่ดูดี มีความสำเร็จในชีวิต และไม่อยากพลิกอนาคตตนเอง ให้ติดบ่วงการกระทำผิด ก็คงต้องทบทวนทั้ง 10 ข้อที่ผมกล่าวถึง ยิ่งทบทวนบ่อยก็ยิ่งดี เพราะจะเป็นการเตือนสติ ป้องกันมิให้เราต้องตกไปเป็นจำเลยของเหตุการณ์ใดๆ
ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่าน คงจะเข้าใจและสามารถโยงใยได้เกือบทุกข้อครับ อย่างเช่น ข้อสอง “ชื่อ ทำให้เบี่ยงเบน” ผมก็ไม่รู้ว่าใครบัญญัติคำว่า “เล่นการเมือง” พวกนักการเมืองส่วนหนึ่งเขาจึง เล่น กันจนเละมาถึงทุกวันนี้ แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนเป็นคำว่า “ทำงานการเมือง" มาหลายปีดีดักแล้ว แต่ถึงวันนี้ เราเลือกตั้งแล้วเลือกตั้งอีก ก็ยัง “เล่น” กันอยู่ดี จนเบื่อที่จะดูข่าว และเสียดายภาษีของผมเต็มที
อีกข้อ ที่มีตัวอย่างชัดเจน ก็คือ ข้อ หก “ฉันไม่ได้คิดเอง” นายสั่งมา แถมยังเป็นนายที่ดูแลฉันมาอย่างดี ส่งเสริมให้ได้ดิบได้ดีมาตลอด ข้อนี้ คนที่น่าจะซาบซึ้งที่สุด เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เชียวนะครับ
วันนี้ คงพอแค่นี้แหละครับ เพราะถึงเวลาที่ตัวผมเอง ก็จะต้องกลับไปทบทวนทั้ง 10 ข้อ คือพอเขียนเสร็จ ผมก็ต้องทบทวน เตือนสติตัวเองทันทีเช่นกัน
เพราะ “ใจ” มันควบคุมยากครับ ขนาด พระภิกษุ ที่มีตำแหน่งใหญ่โต บางรูปยังควบคุมใจไว้ไม่ได้ กลายเป็นพระหนีคดี หรือสมีหนีตำรวจ ดังนั้นคนธรรมดาอย่างเราทั้งหลาย จึงต้องพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะไม่เผลอเรอจนเดินตกหลุมพลางแห่งความผิดพลาด อันใหญ่หลวงของชีวิต
พราะไม่ได้เดือดร้อนเพียงคนเดียวนะ แต่มันจะทำให้ ลูก เมีย สามี พี่น้อง ต้องพลอยเจ็บปวด และเดือดร้อนตามไปด้วย....อีกหลายคนเลยครับ