ชีวิตคนเมือง: ซื้อออนไลน์ ไปเซเว่น แค่นั้นหรือ?

ชีวิตคนเมือง: ซื้อออนไลน์ ไปเซเว่น แค่นั้นหรือ?

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันของคนเมืองในยุคปัจจุบันที่เห็นได้อย่างชัดเจน

คือ 1.การซื้อของออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซ 2.การชอปปิงในร้านสะดวกซื้อ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วที่ทางของผู้ประกอบการรายย่อยของไทยจะอยู่ที่ตรงไหน

โครงการคนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โดย อ.ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กวาดสัญญาณในด้านการซื้อของกินของใช้ประจำวันของผู้คนในภาคมหานครมา 3 ประเด็นด้วยกัน

ใครๆ ก็ซื้อออนไลน์

พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันย้ายช่องทางการซื้อสินค้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นจากเดิมที่เคยเดินทางไปซื้อตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า สาเหตุที่อีคอมเมิร์ซมีบทบาทมากขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากการพัฒนาการบริการด้านโลจิสติกส์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางธุรกรรมการเงินของกลุ่มธนาคารต่อลูกค้ารายย่อยทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งยังอาจเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันซึ่งมีเวลาจำกัดทำให้ไม่สามารถเดินทางไปยังร้านค้า ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญของการค้าแบบดั้งเดิมได้

โซเชียลมีเดียเป็นหัวใจของการตลาดออนไลน์ในประเทศไทย โดยมีการจับจ่ายใช้สอยบนโซเชียลมีเดียมากกว่าร้อยละ 51 จากการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ทั้งหมดและโดยมากเป็นผู้ประกอบการรายย่อยชาวไทยสินค้าที่ซื้อขายมักมีมูลค่าไม่สูงและเน้นตลาดภายในประเทศ เห็นได้จากการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ในการซื้อขายสินค้าจน Facebook ตัดสินใจหันมาเปิดให้ใช้ฟีเจอร์ Marketplace อย่างเป็นทางการเป็นลำดับที่ 24 ของโลก โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการรายย่อย

ดังนั้น โซเชียลมีเดียได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ค้าสินค้าทางเลือกที่อยู่นอกระบบของผู้ประกอบการรายใหญ่มีช่องทางที่จะสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น สามารถตอบสนองความสนใจและค่านิยมในการบริโภคที่หลากหลาย นับเป็นช่องทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการกิจการค้าปลีกดั้งเดิมที่สามารถขยายตลาดไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลจากที่ตั้งร้านค้าได้ อีกทั้งยังมีศักยภาพเป็นช่องทางในการส่งเสริมสินค้าจากชนบทหรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเชื่อมโยงผู้ผลิตหรือสินค้าท้องถิ่นกับผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองได้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งกลไกพ่อค้าคนกลาง อีคอมเมิร์ซจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนระบบนิเวศของการค้าปลีกในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการต้องตามให้ทันมิฉะนั้นอาจเสียโอกาสได้

ใครๆ ก็ไปเซเว่น

ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยขยายสาขามาอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 1.4 หมื่นสาขา สาเหตุของความนิยมของร้านสะดวกซื้อส่วนหนึ่งคือการขายสินค้าที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั้งประเทศ มีสินค้าที่หลากหลายกว่าร้านโชห่วยซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของการค้าแบบดั้งเดิมที่เป็นคู่แข่งโดยตรง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อมีการเสริมบริการใหม่ๆ อาทิ บริการกาแฟสด บริการอาหารปรุงสด บริการรับส่งพัสดุ บริการเครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงบริการทางการเงิน เช่น บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส บริการตัวแทนธนาคาร นอกจากนี้ในบางสาขายังเพิ่มพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารทดลองและโปรโมทสินค้า หรือเปิดบริการร่วมกับธุรกิจประเภทอื่นภายในพื้นที่เดียวกัน เช่นร้านขายยา ร้านขายของที่ระลึก

ในต่างประเทศผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อยังมีการแตกธุรกิจเป็นแบรนด์ย่อยเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เช่นในญี่ปุ่นร้านสะดวกซื้อ LAWSON ได้พัฒนาแบรนด์ย่อย ได้แก่ NATURAL LAWSON ที่เน้นการขายสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าอินทรีย์และ LAWSON STORE 100 ที่เน้นการบริโภคในปริมาณน้อย โดยสินค้าส่วนใหญ่จะจำหน่ายในราคา 100 เยน รวมถึงอาหารสดเช่นเนื้อสัตว์ ผัก ก็มีการแบ่งขายให้มีขนาดเล็กเพื่อตอบโจทย์การบริโภคของกลุ่มผู้อยู่อาศัยคนเดียวและผู้สูงอายุในเมือง รวมทั้งการพัฒนาบริการเสริมอย่างต่อเนื่องเช่น การให้บริการปรึกษาของนักโภชนาการแก่ผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีการปรับตัวอยู่เสมอจากการที่ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ จึงมีความได้เปรียบจากการลดต้นทุนในการจัดหาสินค้ามีความคุ้มทุนของการกระจายสินค้ามีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจอื่นที่มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย และด้วยทำเลที่ตั้งที่ใกล้ชิดกับแหล่งชุมชนและมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ร้านสะดวกซื้อเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวไม่เพียงแต่เฉพาะกับร้านโชห่วย แต่ยังท้าทายธุรกิจประเภทอื่นที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแหล่งชุมชนและต้องการการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง เช่น กลุ่มธุรกิจขายอาหารในระบบและกลุ่มหาบเร่แผงลอย และอาจพัฒนาถึงขั้นเป็นธุรกิจที่ชี้ชะตาการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานของคนเมืองในอนาคตได้โดยสิ้นเชิง

จบลงด้วยรถพุ่มพวง

รถพุ่มพวงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร โดยผู้ค้าจะนำสินค้าจากตลาดสดเช่นอาหารสดของแห้งใส่ในรถกระบะที่มีการดัดแปลงเพื่อเร่ขายไปยังชุมชนที่ห่างไกลจากตลาด หรือพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรที่การเข้าออกไม่สะดวก กลุ่มลูกค้าของรถพุ่มพวงที่สำคัญคือ 1.กลุ่มลูกค้าในหมู่บ้านซึ่งประกอบไปด้วยผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเดินทางไปซื้อของแม่บ้าน (ภรรยา) และคนรับใช้ 2.กลุ่มลูกค้าในโรงงานและไซต์งานก่อสร้างซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในด้านเวลาที่จะเดินทางไปซื้อของ และในด้านราคาสินค้าที่สามารถซื้อได้ในแต่ละครั้งเป็นการเติมเต็มการให้บริการสาธารณูปการของเมืองที่ไม่เพียงพอ หรือขยายขอบเขตการให้บริการผู้ที่อยู่ไกลจากแหล่งพาณิชยกรรม

ถึงแม้ว่ารถพุ่มพวงจำหน่ายสินค้าในราคาที่แพงกว่าตลาดประมาณร้อยละ 10-15 แต่กลุ่มลูกค้าก็เลือกใช้บริการจากรถพุ่มพวงเพราะถือว่าเป็นการซื้อความสะดวกจากข้อจำกัดที่ตนเองมีอยู่ นอกจากนี้ยังพบว่ารถพุ่มพวงยังมีบริการรับจัดหาสินค้าตามสั่งโดยต้องมีการสั่งล่วงหน้าประมาณ 1 วัน และยังมีบริการจ่ายบิลโดยคิดค่าบริการเพิ่มเติมประมาณ 10-20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดในเชิงเวลาและการเดินทางได้เป็นอย่างดีและอาจเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมเมืองในปัจจุบันได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อบริการรับส่งของและอาหารผ่านทางแอพพลิเคชั่นได้แพร่ขยายมากขึ้น บทบาทของรถพุ่มพวงจะลดลงไปหรือไม่

นโยบายด้านผังเมืองของรัฐไทยที่ผ่านมา มักมองเรื่องการซื้อของใช้ประจำวันเป็นกิจกรรมที่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่ภาคเอกชนจัดการ จึงละเลยการวางแผนสาธารณูปการในด้านนี้ให้ครอบคลุมและทั่วถึง ประชาชนจึงต้องหาทางออกและพึ่งพาทางเลือกอื่นๆ ที่แพงกว่า ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ภาครัฐจึงควรเพิ่มความสนใจและเตรียมวางแผนสาธารณูปการด้านตลาดสำหรับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยและหาบเร่แผงลอยในเมืองสำหรับ Thailand 4.0

หรือจะปล่อยให้ชีวิตคนเมืองเป็นไปตามกระแส ซื้อออนไลน์ ไปเซเว่น ทิ้งรถเข็นพุ่มพวง!

โดย... 

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย