ดอกเบี้ยต่ำทั้งโลก ใครเสียประโยชน์?
ปี 2019 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการกระหน่ำลดดอกเบี้ย ผู้นำก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นหน้าเดิมคือธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)ที่ลดดอกเบี้ยไปถึง3ครั้ง
รวม 0.75% (จากสิ้นปี 2018 ที่ 2.25-2.50% มาระดับปัจจุบันที่ 1.50-1.75%) ในมุมบวก เงินทุนในภาคธุรกิจต่างๆ จะมีต้นทุนที่ลดลงถึงเกือบ 1% เลยทีเดียว ซึ่งตามแนวคิดของ Easy Money ควรจะนำไปสู่การกระตุ้นการกู้ยืมและใช้จ่ายให้สูงขึ้น เพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งภาคเอกชนและครัวเรือน ซึ่งกว่าจะเห็นว่าได้ผลตามที่คิดหวังกันไว้หรือไม่ ก็ต้องรอดูตัวเลขทางเศรษฐกิจอีกประมาณ 2-3 ไตรมาส มายืนยัน แต่สิ่งที่ดูจะตามมาไวกว่าคือ ธนาคารกลางในประเทศอื่นต่างต่อแถวลดดอกเบี้ยตาม แม้บางที่ อัตราดอกเบี้ยเดิมก็เข้าข่ายติดลบอยู่แล้ว สำหรับนักลงทุนก็ได้เห็นปรากฎการณ์ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับลง จนทำให้กว่า 1 ใน 4 ของตลาดพันธบัตรโลกให้ผลตอบแทนติดลบแล้วในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเทียบกับสิ้นปี 2018
คำถามพื้นฐานคือ ใครจะยอมเสียผลตอบแทนซื้อพันธบัตรที่ดอกเบี้ยติดลบ และถ้าไม่ซื้อพันธบัตร จะให้หนีไปลงทุนอะไรได้ดีกว่านี้
อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบถูกใช้ครั้งแรกช่วงปี 2014 เพื่อแก้วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ต่อมาเศรษฐกิจที่ซบเซากดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ ลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยกลับเชื่องช้า ทำให้ดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำมาก และลดความสามารถในการลดดอกเบี้ยในอนาคตถ้าต้องใช้สู้กับภาวะถดถอย หรือที่ธนาคารกลางทั่วโลกกังวลกับปัญหา Limited Policy Space สิ่งที่คาดว่าจะเห็นต่อคือดอกเบี้ยต่ำอีกนาน คือขึ้นก็ไม่ดี ลงไปอีกมากก็ไม่ได้
แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรจะต่ำจนถึงติดลบในตลาด โดยเฉพาะในยุโรป เช่น เยอรมนี แต่ความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลยังมีต่อเนื่อง ด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ 1) สถาบันบางประเภท เช่น กองทุนบำนาญ และบริษัทประกัน มีข้อกำหนดการลงทุนให้ถือพันธบัตรในสัดส่วนสูง เพื่อรักษาพอร์ตลงทุนให้มีความเสี่ยงต่ำ 2) พันธบัตรจัดเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มักมีแรงซื้อในช่วงตลาดเสี่ยงหรือผันผวนสูง เช่น ช่วงสงครามการค้า ความไม่แน่นอนของ Brexit และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 3) นอกจากรายได้ดอกเบี้ย พันธบัตรสามารถสร้างกำไรได้ ดังนั้น แม้ดอกเบี้ยต่ำ หากในอนาคต มีแรงกดดันจากเศรษฐกิจหรือความอ่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศให้ผลตอบแทนต่ำลงหรือติดลบเพิ่มขึ้น ก็จะผลักให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น เกิดกำไรได้
เมื่อรายได้ดอกเบี้ยลดลง สถาบันต่างๆ ยังมีหน้าที่สร้างผลตอบแทนให้ผู้รับผลประโยชน์หรือนักลงทุน เกิดเป็นความเสี่ยงในแง่ของการสร้างและรักษาผลประกอบการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาทางเลือกอื่น สถาบันที่พร้อมไปด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ลงทุนได้ระยะยาว รวมทั้งข้อกำหนดการลงทุนเปิดโอกาส จะมีทางเลือกที่ดีได้ เช่น ลงทุนในพันธบัตรระยะยาวขึ้น เพิ่มสัดส่วนลงทุนในหุ้นกู้เอกชนหรือต่างประเทศที่ดอกเบี้ยสูง รวมไปถึงการลงทุนข้ามสกุลเงิน หุ้นปันผลดี นอกจากนี้ เริ่มเห็นแนวโน้มการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ และ/หรือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจขาดสภาพคล่องระยะสั้น แต่ช่วยลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ดี เป็นแหล่งผลประโยชน์ให้นักลงทุนในอนาคต กลุ่มที่น่าห่วงคือผู้ออมหรือนักลงทุนที่พึ่งรายได้จากดอกเบี้ย และขาดข้อมูล รวมทั้งความเชี่ยวชาญในการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือหลักทรัพย์ที่ซับซ้อนขึ้น ในกรณีเช่นนี้ นักลงทุนควรใช้กองทุนรวมที่มีมืออาชีพดูแลเป็นเครื่องมือสำคัญ
สำหรับมุมมองในอนาคต ดอกเบี้ยต่ำจะยังคงอยู่อีกนาน เนื่องจากเงินเฟ้อโลกที่ยังต่ำจากค่าจ้างแรงงานที่โตช้า แม้อัตราการว่างงานจะต่ำเป็นประวัติศาสตร์ก็ตาม กอปรกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังสูง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศยังเห็นอยู่หลายที่ทั่วโลก ปัจจัยนี้ล้วนทำให้ความต้องการลงทุนพันธบัตรยังสูงต่อไป โดยความเสี่ยงสำคัญในปี 2020 คือ สงครามการค้า และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปลายปี