ผลิตนักวิทย์ฯแบบขาดพื้นฐาน หวั่นซ้ำรอยสร้างนักคอมพ์
อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ค่อนข้างดีและต้องเก่งคณิตศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) คืออาชีพหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากว่ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและโลกกำลังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ เนื่องจากข้อมูลในโลกได้เพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลและธุรกิจต่างๆ ต้องการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และทำการคาดการณ์ในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน รวมถึงนำข้อมูลมาใช้ทำปัญญาประดิษฐ์
หากพิจารณาถึงทักษะที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำเป็นต้องมี จะพบว่าควรประกอบไปด้วยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1.ความรู้ทางคณิตศาสตร์อย่างดี 2.ทักษะทางด้านการพัฒนาโปรแกรม และ 3. ความรู้ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่จะต้องการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจะพัฒนานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีคุณภาพขึ้นมานั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย ต้องใช้เวลานานและต้องคัดกรองคนที่มีความสามารถ มีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ดีเข้ามาเรียน
กระแสการเรียนตามกันและเร่งเปิดหลักสูตรต่างๆ ออกมาไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา ในยุคที่สาขานิเทศศาสตร์กำลังเป็นที่สนใจสถาบันการศึกษาต่างก็เปิดหลักสูตรกันมากมาย ตามมาด้วยยุคของวิศวกรรมศาสตร์ หลังจากนั้นก็จะเห็นหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์จำนวนมากในยุคที่กระแสด้านไอทีกำลังมา มีทั้งหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แต่ละหลักสูตรรับนักศึกษาจำนวนมาก แต่สิ่งที่พบก็คือบัณฑิตจำนวนมากเมื่อจบออกมากลับทำงานไม่ได้ และขาดความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน
หลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์ยุคที่รุ่งเรือง สถาบันบางแห่งที่เปิดแข่งกันกลัวนักศึกษาเรียนไม่จบและจะไม่มีใครมาเรียน จึงเลือกตัดวิชาพื้นฐานที่จำเป็นออกไป เช่น วิชาด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ บางวิชาโดยเฉพาะคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งด้านการพัฒนาโปรแกรม รวมถึงการทำงานด้านคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นบางหลักสูตร ยังไปลดวิชาด้านการพัฒนาโปรแกรมออก เพราะกลัวนักศึกษาเรียนไม่ได้ โดยเลือกสอนวิชาการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปต่างๆ แทน
สุดท้ายบัณฑิตที่จบออกมาจึงมีทักษะแค่การใช้โปรแกรมพื้นฐาน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไปหรือบัณฑิตในสาขาอื่นๆ ที่ได้ฝึกการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเหล่านั้น
ผมไม่ได้จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้พอสมควร แม้จะเรียนวิชาการเขียนโปรแกรมในระดับปริญญาตรีเพียงแค่วิชาเดียว ส่วนหนึ่งเพราะผมจบวิศวกรรมไฟฟ้าและได้เรียนวิชาด้านคณิตศาสตร์นับ 10 วิชา ทำให้มีพื้นฐานและตรรกะทางด้านการพัฒนาโปรแกรม และแม้ตอนเรียนปริญญาโทและเอกยิ่งตอนทำงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกทางด้าน Machine Learning เพื่อคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ก็ยิ่งต้องใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูง
อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ค่อนข้างดี และจำเป็นต้องเก่งคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะถ้าจะต้องพัฒนาอัลกอริธึม หรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก แต่ถ้าประเทศไทยจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมาก โดยไม่เน้นคณิตศาสตร์ เราควรเน้นสร้าง Citizen Data Scientist โดยสอนวิชาเหล่านี้ในสาขาต่างๆ จะดีกว่า เช่น คณะเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ หรือคณะรัฐศาสตร์ ให้เข้าใจหลักการและการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล หรือเครื่องมือทำวิทยาศาสตร์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Auto ML) ดีกว่าการสร้างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลแบบผิวเผิน เหมือนยุคเร่งผลิตหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในอดีต ที่จบออกมาทำอะไรไม่ได้มากนัก
ส่วนคนเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูลก็มุ่งเน้นให้เก่งจริงไม่เน้นปริมาณ เรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานให้แน่น ทำวิจัยระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ให้พัฒนาและเข้าใจอัลกอรึทึมยากๆ จึงจะสามารถออกมาช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งหากละเลยการสอนพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง
สุดท้ายแล้วประเทศไทยก็เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคือ มีบัณฑิตวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่จบออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้จริงนอกจากใช้เครื่องมือวาดกราฟข้อมูลสวยๆ ก็เป็นได้