Blind Experience บทเรียนในโลกมืด
เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้ไปเดินชมงาน Learning Day
ที่ทาง SCB Academy จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของธนาคาร เพื่อสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ผ่านช่องทางต่างๆ และวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ในงานนี้มีกิจกรรมBlind Experience ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทุกคนจะได้รับประสบการณ์ของคนตาบอด
นั่นคือทุกคนที่เข้าไปต้องถูกปิดตาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ ดิฉันอยากได้รับประสบการณ์แบบนี้ดูบ้างจึงเข้าไปร่วมกิจกรรมเมื่อเข้าไปแล้วก็แทบจะมองไม่เห็นอะไร เพราะในห้องนั้นปิดไฟมืดไปหมด มีเพียงแค่แสงสลัว ๆ พอมองเห็นได้บ้าง
ผู้ร่วมกิจกรรมรวมทั้งดิฉันถูกพาไปนั่งรอที่เก้าอี้ที่จัดไว้ให้ ก่อนเริ่มกิจกรรมผู้ดำเนินรายการเกริ่นให้ฟังว่ากิจกรรม Blind Experience นี้ถูกนำมาใช้ในการฝึกอบรมพนักงานเรื่อง Design Thinking ในหัวข้อ Empathize คือการรับฟังและทำความเข้าใจคน ทุกคนจะได้คุยกันในขณะที่มองไม่เห็นหน้ากัน ซึ่งจะทำให้ความกลัว หรือความหวาดระแวงหายไป เพราะเรากำลังคุยกับคนที่เราไม่รู้จัก ทำให้เราพูดคุยกันได้โดยสามารถเปิดใจ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ระดับชั้นใดๆ มาทำให้กังวล
เมื่อกิจกรรมเริ่มต้นขึ้น ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนต้องถูกปิดตาจนมองไม่เห็นอะไรเลย ทุกคนต้องเอามือเกาะแขนกันแล้วเดินตามน้องๆ ทีมงานเดินผ่านม่านกั้นเข้าไปบนเก้าอี้ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้ ในนั้นทีมงานได้จำลองบรรยากาศเป็นห้องเรียนในสวน มีเสียงเด็กๆ ทีมงานวิ่งเล่นกัน จ้อกแจ้กจอแจ ขณะที่นั่งอยู่ตรงนั้นดิฉันรู้สึกถึงสายลมเย็นเบาๆ พัดมาปะทะ ได้กลิ่นดอกไม้ใบไม้ ได้ยินเสียงใบไม่ไหว เสียดสีกัน และบางทีก็ปลิวมาตกใส่ที่ตัว สักพักทีมงานก็เริ่มเล่นดนตรี มีนักร้องนำที่ร้องเพลงกันสดๆ เธอมีเสียงที่ไพเราะมาก เธอเล่นบทบาทเป็นครูเจี้ยบที่กำลังพาเด็กมาเล่นในสวน โดยมีพวกเราที่มาร่วมกิจกรรมเป็นพี่ๆ ที่มาเยี่ยมเด็กๆ ที่โรงเรียน
หลังร้องเพลงจบแล้วเธอตั้ง 3 คำถามให้พวกเราได้พูดคุยกัน คำถามแรกเธอถามว่า “ความสุขของพี่ๆ ทุกคนคืออะไร ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย” แล้วเธอก็ให้เวลาพวกเราคุยกับคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าซึ่งไม่รู้เลยว่าเป็นใคร ตอนนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขนั้นน่าแปลกที่ดิฉันไม่ได้นึกถึงความสุขจากการได้ไปท่องเที่ยว หรือ ความสำเร็จจากหน้าที่การงานที่ผ่านมาเลย เหตุการณ์ที่ดิฉันมีความสุขและได้เล่าให้คนที่อยู่ตรงหน้าฟังคือ ตอนที่ดิฉันไปทำกิจกรรมปั่นจักรยานที่สวนรถไฟ กิจกรรมในวันนั้นมีความพิเศษคือดิฉันปั่นจักรยานแบบปั่น 2 คนร่วมกับ”น้องต้น” เด็กน้อยตาบอดอายุประมาณ 7 ขวบโดยพาน้องต้นปั่นเที่ยวรอบๆ สวน แม้น้องจะมองไม่เห็นแต่เธอก็ส่งเสียงร้องแสดงอาการออกมาให้เห็นว่าเธอสนุกสนานและตื่นเต้นมากแค่ไหน แม้จะใช้เวลาปั่นไม่ถึงชั่วโมงแต่ความรู้สึกเป็นสุขใจมันมากมายจนดิฉันยังจำมันได้มาถึงทุกวันนี้
น้องที่อยู่ตรงหน้าดิฉันก็แชร์มาว่าเธอมีความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้ในการดูแลตัวเองโดยใช้ธรรมชาติบำบัดเพื่อเยียวยาอาการเจ็บป่วยที่เธอเรียนรู้มาจากประสบการณ์ของเธอเอง ให้คนที่กำลังต้องการได้นำไปใช้ ดิฉันฟังแล้วก็รู้สึกอิ่มใจและมีความสุขไปด้วย และแปลกใจว่าเรา 2 คนมีความสุขจากการทำอะไรเพื่อคนอื่นคล้ายๆ กัน
เมื่อจบการพูดคุยแลกเปลี่ยนในคำถามแรกแล้วก็มีคำถามที่ 2 คือ “ถ้าไม่ต้องสนใจเรื่องเงินทองและเสียงของคนรอบข้าง พี่ๆ อยากทำอะไร และทำไมถึงอยากทำสิ่งนั้น” และคำถามสุดท้ายที่ตามมาคือ “ถ้าพรุ่งนี้ตื่นมาแล้วเหลือเวลาบนโลกนี้อีก 1 ปี พี่ๆ มีสิ่งใดที่ยังไม่ได้ทำและอยากทำเพื่อทิ้งไว้ในโลกใบนี้บ้าง”คำถามเหล่านี้ทำให้พวกเราได้ใช้เวลาในการทบทวนชีวิต ตกผลึกความคิด และแลกเปลี่ยนกับคนตรงหน้าอยู่ราวๆ 30 นาที ก็จบกิจกรรม ถึงตอนนี้ทุกคนสามารถเปิดผ้าปิดตาออกได้
เมื่อเปิดผ้าปิดตาออกมาแล้วดิฉันต้องประหลาดใจเพราะในห้องไม่มีต้นไม้เลยสักต้น สายลม เสียงใบไม้ไหว ใบไม้ที่ปลิวมาตกใส่ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของน้องๆ ทีมงานเกือบสิบคนที่ช่วยกันทำ ดิฉันต้องขอชื่นชมความสามารถของทีมงานที่สามารถทำให้เชื่อได้ว่ากำลังนั่งคุยกันอยู่ในสวนจริงๆ เมื่อมองไปรอบ ๆ ก็พอจะได้เห็นคนที่อยู่ตรงหน้า และคนอื่นๆ รอบข้างที่กำลังแปลกใจกับประสบการณ์ที่เพิ่งได้พบมาบางคนถึงกับน้ำตาซึมด้วยความซาบซึ้งใจ
สำหรับดิฉันแล้วkey learning จากประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมนี้คือการปิดตาทำให้แต่ละคนไม่กลัวถูกตัดสินจากสายตาของคนอื่น เมื่อตาถูกปิด หูก็เปิดเกิดการฟังอย่างใส่ใจ (deep listening)ทำให้เข้าใจเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า มันไม่ใช่เข้าใจแค่ว่าเขาเล่าเรื่อง “อะไร”แต่เข้าใจไปถึง ความคิด ความเชื่อ คุณค่าที่เขายึดถือ รวมไปถึงอารมณ์และความรู้สึก ที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ นี่คือความหมายของการเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์จริง ๆ
การเรียนรู้ในโลกมืด ทำให้เราสามารถใช้ทักษะการฟัง และ มีความเข้าใจคนมากกว่าที่เราเคยเป็น