ทางลัด นวัตกรรมการลงทุน
สำหรับนักลงทุนที่คุ้นเคยกับการเทรด DW จะเห็นว่าปกติแล้วราคา DW นั้นจะขึ้นแรงลงแรงตามอัตราทด (Effective Gearing) ของ DW ตัวนั้นๆ
เมื่อมุมมองของนักลงทุนถูกทาง นักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนสูง แต่ถ้ามุมมองผิดนักลงทุนก็จะขาดทุนอย่างรุนแรงได้เช่นกัน เวลาผมได้มีโอกาสคุยกับนักลงทุนผมมักจะย้ำเสมอว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเทรด DW คือต้องฝึกตัดขาดทุนให้เป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นกับนักลงทุนที่เก็งกำไร DW ในต่างประเทศเช่นกัน จึงทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจาก DW ในต่างประเทศและได้รับความนิยมอย่างมากมีชื่อว่า Callable Bull/Bear Contract หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า CBBC ซึ่งมีความคล้ายกับ DW ในเรื่องของ Leverage โดยที่นักลงทุนสามารถเก็งกำไรบนหุ้นอ้างอิงได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเต็มจำนวนด้วยการมาลงทุนใน CBBC แต่สิ่งที่เพิ่มมาจาก DW และเป็นจุดเด่นที่สำคัญคือคุณสมบัติที่เรียกว่า Callable
Callable เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ผู้ออกสามารถเรียกคืน CBBC นี้ได้ก่อนวันหมดอายุเมื่อราคาหุ้นมาแตะที่ระดับราคาTriggerที่กำหนดไว้ (ถ้าเรียกแบบทางการจะเรียกว่าระดับบราคา Call หรือ Knock-Out) และทำให้ CBBC ตัวนั้นหมดอายุลงและถูกหยุดการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ทันที โดยที่นักลงทุนจะสามารถใช้สิทธิแล้วได้รับชำระเงินจากผู้ออกตามมูลค่าที่เหลืออยู่ (เพื่อไม่ให้สับสนผมขอข้ามการพูดถึงการคำนวณมูลค่าที่เหลือไปก่อน) ฟังจากตรงนี้แล้วนักลงทุนอ่านเริ่มสับสนว่าลูกเล่น Callable ตรงนี้มีไว้เพื่ออะไร และจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนอย่างไร
CBBC จะแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรกเรียกว่า Bull Contract ที่นักลงทุนใช้เก็งกำไรเมื่อมองว่าหุ้นจะขึ้น ถ้าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตามมุมมองนักลงทุนราคา Bull Contract ก็จะปรับตัวขึ้นตาม แต่เมื่อผิดทางราคาหุ้นลงราคา Bull Contract ก็จะปรับตัวลง แต่ถ้าราคาหุ้นลงถึงจุดหนึ่งที่เป็นราคา Trigger ที่ระบุไว้ ก็จะเข้าเงื่อนไข Callable ทางผู้ออกก็จะระงับการซื้อขาย Bull Contract อันนี้ทันทีและชำระเงินสดส่วนต่างตามมูลค่าที่เหลือให้แก่นักลงทุน สังเกตว่ากลไกนี้จริงๆแล้วก็คือการบังคับตัดขาดทุนให้นักลงทุนนั่นเอง ประเภทที่ 2 จะเรียกว่า Bear Contract ที่ใช้เก็งกำไรหุ้นขาลง ถ้าราคาหุ้นปรับตัวลง นักลงทุนจะได้กำไรจากราคา Bear Contract ที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าราคาหุ้นปรับขึ้น นักลงทุนก็จะขาดทุนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงระดับราคา Trigger ที่กำหนดไว้กลไกตัดขาดทุนก็จะทำงานทันทีโดยที่ Bear Contract ตัวนั้นจะถูกบังคับให้หมดอายุทันทีและนักลงทุนจะได้รับเงินสดส่วนต่างตามูลค่าที่เหลือจากผู้ออก
จะเห็นว่า Bull Contract หรือ Bear Contract มีความคล้ายคลึงกับ Call DW หรือ Put DW เป็นอย่างมากเว้นแต่กลไก Callable ที่เสมือนบังคับให้นักลงทุนตัดขาดทุนที่เพิ่มขึ้นมา เพราะถ้านักลงทุนถือ DW อยู่และราคาหุ้นผิดทางจากมุมมองของนักลงทุน การตัดสินใจตัดขาดทุนจะขึ้นอยู่กับนักลงทุนเพียงอย่างเดียว และในกรณีที่ผิดทางมากๆ และไม่ตัดขาดทุนอาจทำให้มูลค่า DW ที่เหลืออยู่เป็น 0 ได้
ในต่างประเทศนักลงทุนจะเลือกเทรด DW หรือ CBBC นั้นขึ้นอยู่กับสไตล์ที่ตัวเองถนัด ถ้านักลงทุนมากประสบการณ์ในการเทรดอาจชอบ DW มากกว่าเพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า และสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ขณะที่นักลงทุนบางท่านที่ไม่ค่อยมีวินัยในการเทรดอาจเลือก CBBC เพราะมีกลไกในการบังคับตัดขาดทุน สำหรับตลาดหุ้นไทยเองปัจจุบันมีแค่ DW ให้นักลงทุนได้เทรด แต่ในอนาคตผมเชื่อว่ากลไกบังคับตัดขาดทุนของ CBBC ถือเป็นข้อดีและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่เทรด DW อยู่แล้ว