อย่าเสียเวลากับ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้!

อย่าเสียเวลากับ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้!

1.กำลังกังวลกับปัจจัยภายนอกที่เป็นข่าวด้านลบอยู่ใช่ไหม?

ปีที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงต้นปีสหรัฐกับอิหร่านและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแทบทุกอย่างของพฤติกรรมลูกค้า ส่งผลกระทบกับแต่ละธุรกิจพอสมควร

มีหลายเรื่องที่เป็นปัจจัยภายนอกแล้วส่งผลทางด้านลบกับ “ความรู้สึก” ของคนทำธุรกิจ จนทำให้หลายครั้งที่ผู้นำและเจ้าของธุรกิจ ชะงัก ลังเล ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับธุรกิจ เพราะ “เสพรับข้อมูลด้านลบ” มากจนวิตกจริต!

2.มัวแต่กังวลแล้วได้อะไร?

การที่ไม่บุ่มบ่าม การที่ผู้นำและเจ้าของธุรกิจรอบคอบ ระแวดระวังเป็นเรื่องที่ดี แต่ความกังวลที่มากเกินไปเกี่ยวกับปัจจัยภายนอก ที่“ควบคุมไม่ได้” ส่งผลเสียพอสมควร จนทำให้เรื่องที่ควรทำ ไม่กล้าทำ มองเห็นแต่ปัญหา แต่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ปัญหาใดที่พอจะแก้ได้ ปัญหาใดที่มีโอกาสแฝงอยู่!?

3.ปัจจัยภายนอกควบคุมไม่ได้ ก็จริง...

แต่...แก้ไขได้ในหลายๆเรื่องนะครับ ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบด้านลบกับธุรกิจ อันที่จริงแฝงโอกาสในหลายๆด้านเช่นกัน เช่น สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ของภูมิภาค จนถึงของประเทศถดถอย กลับเป็นโอกาสให้เรามองหาแนวทางใหม่ๆ กลุ่มลูกค้าใหม่ๆที่มีกำลังซื้อ แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีเวลามาคิด เพราะยังเสพสุขกับแนวทางเดิมๆ กลุ่มลูกค้าเดิมๆ ที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจ

แต่ถ้าลองดูดีๆ การถูกดิสรัปชั่นในปีที่ผ่าน ทำให้เราศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับสิ่งนั้น และถ้ารู้จักใช้เทคโนโลยีที่เคยคิดว่าเป็นสิ่งที่มาดิสรัปชั่นธุรกิจเรา ส่งผลเสียกับเรา แต่ถ้าใช้เป็น ก็เป็นโอกาสในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่ต้นทุนอาจลดลงแต่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นก็ได้!?

ในด้านกำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง จากเดิมธุรกิจเรา พึ่งพาแต่กลุ่มลูกค้าเดิมๆ ไม่มีกลุ่ม เมื่อลูกค้าซื้อน้อยลง รายได้ของธุรกิจลดลง อาจเป็นการเปิดประตูบานใหม่ๆ ให้เราแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆที่มาชดเชยหรืออาจได้ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆที่สร้างรายได้เทียบเท่าหรือดีกว่าเดิมก็ได้!

เพราะฉะนั้น ปัจจัยภายนอกด้านลบ ควบคุมไม่ได้ แต่แก้ไขได้หรือทำให้เรา “ตาสว่าง”มองเห็นโอกาสใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆได้!

4.เรื่องที่ควรสนใจและลงมือทำเพราะควบคุมได้คือ...

“ปัจจัยภายใน!” ไม่ว่าท่านจะแก้ไขหรือมองเห็นโอกาสจากปัจจัยภายนอกด้านลบหรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องที่ท่านควรคิดควรเห็นควรลงมือทำ เพราะเป็นเรื่องที่ท่านควบคุมได้ก็คือ “ปัจจัยภายใน!”

ในฐานะเจ้าของธุรกิจ หรือผู้นำสูงสุด หรือผู้บริหาร ผู้จัดการแต่ละหน่วยงานก็ตาม เป็นโอกาสอันดียิ่งที่สภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อถดถอย หรือปัจจัยลบรุมเร้าต่างๆ จะช่วยให้ท่าน กลับมาให้ความสำคัญกับ ปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่เรื่องแรกที่ต้องระวัง และไม่ด่วนตัดสินใจในเรื่องปัจจัยภายใน คือ การด่วนตัดด่วนลดค่าใช้จ่ายแบบหุนหันพลันแล่นโดยไม่คำนึงถึงผลเสียระยะกลางและระยะยาว เพราะหวังผลระยะสั้นคือค่าใช้จ่ายลดลงทันที แต่หารู้ไม่ว่า หายนะอาจจะตามมาอีกไม่นาน!

หลายธุรกิจ ตัดลดค่าใช้จ่ายอย่างรีบร้อน จนส่งผลเสียอย่างรุนแรงกับขวัญกำลังใจจากพนักงานทุกหน่วยงานทุกระดับและยังส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าที่ลดลงไปแบบไม่คาดคิด

การตัดลดค่าใช้จ่ายทันทีอย่างรวดเร็วรุนแรงจะส่งผลดีระยะสั้นในเรื่องความรู้สึกกับผู้ถือหุ้นและบอร์ดบริหารเท่านั้น!

แนะนำให้ท่านพิจารณาอย่างรอบคอบ สื่อสารให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจ ร่วมด้วยช่วยกัน แล้วตัดลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นในภายหลัง จะส่งผลดีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวครับ

แต่ถ้าเป็นไปได้ การเพิ่มประสิทธิภาพของทุกหน่วยงาน จะส่งผลดีกับการตัดค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว

ถึงแม้จะยากกว่า แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าลองทำไม่ใช่เหรอครับ?

5.คำถาม สำหรับผู้นำและผู้บริหาร....?

สิ่งที่ผู้นำและผู้บริหาร ควรตั้งคำถามกับตนเองและตั้งคำถามกับทีมงาน ให้ช่วยคิดช่วยทำก็คือ...

“ปัจจัยภายในเรื่องใดบ้าง ที่ส่งผลกระทบทางด้านลบ ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบแก้ไข!?”

คำถามนี้ ผู้นำน่าจะมีข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเพียงพอที่จะวิเคราะห์และปรับแก้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น ควรใช้คำถามนี้กับผู้บริหารหน่วยงานทุกท่าน ให้ไปคิดไปถามกับทีมงานแล้วหาข้อสรุปแล้วลงมือทำให้เร็วที่สุด ใช้เวลาไม่นานอย่างที่คิด ก็จะเห็นผล ถ้าร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข

“ปัจจัยภายในเรื่องใดบ้าง ที่ส่งผลด้านบวก ถ้าลงมือทำ!?”

คำถามนี้ ยิ่งควรถามกับผู้บริหารหน่วยงานให้นำไปถามกระตุ้นทีมงาน แล้วท่านอาจจะได้รับคำตอบ แนวคิดดีๆ หรือข้อเสนอแนะที่ท่านคาดไม่ถึง แล้วมาร่วมด้วยช่วยกันทำ อาจค้นพบแนวทางใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆที่ไม่คาดคิดก็ได้ครับ

6.สรุปแล้ว

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบ ที่ควบคุมไม่ได้ พอจะแก้ไขได้ และอาจทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆก็ได้

ส่วนปัจจัยภายใน ที่เราควบคุมได้... ถ้าไม่รีบคิด รีบทำในตอนนี้ แล้วจะรอทำในตอนไหน?

ปิดท้ายด้วยประโยคนี้ครับ...

#ทุกอย่างที่สูญเสียไป...จะกลับมา “ในรูปแบบอื่น”