แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2563 (ตอน 2)
การปรับตัวเข้ากับพลวัตของสิ่งที่เรียกว่า Strategic Technology Trends ในปีนี้และอนาคตต่อไป มีความสำคัญต่อกิจการของคุณ ชีวิตของคุณ
ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณ จะถูก Disrupt หรือ เป็นผู้ Disrupt ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆได้ปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ในปีนี้ (ค.ศ. 2020) แม้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมอาจกระเตื้องขึ้นได้เล็กน้อยหากภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว แต่การเรียงลำดับความสำคัญของการเร่งรัดในการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจึงมีความสำคัญพอๆกับการที่เอกชนต้องปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่และลงทุนสำหรับอนาคตอย่างเหมาะสม โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.6-2.8% ซึ่งเป็นกรอบการคาดการณ์ด้านสูงของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯมหาวิทยาลัยรังสิต มีความเป็นไปลดลงเรื่อยๆ ขณะที่กรอบการคาดการณ์ด้านต่ำมีความเป็นไปได้มากกว่า คือ ขยายตัวต่ำกว่า 2% และอาจจะเติบโตต่ำเพียง 1.8% มีความเป็นไปสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่ามีโอกาสที่อัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกอาจติดลบได้และการเติบโตในไตรมาสสี่อาจอยู่ที่ระดับเพียงแค่ 2% เท่านั้น การที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วทั้งที่สถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯดีขึ้น เป็นผลจากปัจจัยลบดังต่อไปนี้ ปัจจัยที่หนึ่งความล่าช้าของการพิจารณางบประมาณปี 2563 จากการเสียบบัตรแทนกันของสมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาล วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่อันเป็นผลมาจากการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การขาดระบบนิติธรรมและการขาดความเป็นธรรมในสังคมรวมทั้งการสร้างกระแสเกลียดชังกันครั้งใหม่ด้วยการปลุกกระแส “ชังชาติ” ขึ้นมา หรือการให้ร้ายป้ายสีโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับเรื่องแนวคิดในการล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ภาวะดังกล่าวเป็นวิกฤติที่คนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้รักสามัคคีและไม่ยึดถือความปรองดองสมานฉันท์สร้างขึ้นมาเอง และสิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุน การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างยากที่จะคาดเดาได้ในอนาคต ข้อเสนอของ “ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ก่อนหน้านี้ในการนำเสนอ “เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน” โดยจัดตั้งอนุกรรมการในการจัดเวทีถกแถลงแห่งชาติขึ้นมาเพื่ออำนวยให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรี เป็นธรรม และปลอดภัย โดยเวทีนี้จะมีหน้าที่สำคัญคือ จัดการถกแถลงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางทุกจังหวัด และประมวลความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงความกังวล ความต้องการ และความคาดหวัง เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและสาธารณชนต่อไป หลังจากจึงเปิดให้มีการลงประชามติเพื่อแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การดำเนินการดังกล่าวเท่ากับเป็นการคืนอำนาจในการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชน ไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐบาล วุฒิสภา หรือ ฝ่ายค้านแต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องหาทางออกร่วมกัน การดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวยังจะช่วยลดการเผชิญหน้าและความตึงเครียดทางการเมืองนอกสภา ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนได้
ปัจจัยที่สอง สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯรวมทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลางสามารถปะทุขึ้นได้ตลอดเวลาลุกลามจนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นได้อีด และ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีตอบโต้กันด้วยการก่อการร้ายกันอีกเมื่อไรซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยวิกฤติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทบแน่ๆต่อเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง กระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียโดยรวมจากการพึ่งพาน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง ปัจจัยที่สามผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค Covic-19 (ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนาไวรัส) ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเอเชียซบเซาลง เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวเพียง 5.3-5.5%(ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 5.8-6%) และไทยได้รับผลกระทบผ่านการท่องเที่ยว ภาคการส่งออกและภาคการผลิตบางส่วนแม้นระบบสาธารณสุขไทยมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคระบาดแต่ต้องไม่ประมาทเพราะไทยกับจีนมีการเดินทางติดต่อกันของผู้คนจำนวนมากและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมาก ปรากฎการณ์ที่เห็นชัดเลย คือ ความซบเซาลงของแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและพัทยา มีการปลดคนงานออกไม่ต่ำ 30-40% การส่งออกผลไม้และสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนชะลอตัวอย่างชัดเจนปัจจัยที่สี่ ผลกระทบภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรมจนทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมขยายตัวติดลบได้ คาดว่าติดลบประมาณ -0.5 ถึง -1% ทั้งปี โดยไตรมาสสองอัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตอาจติดลบมากกว่า -1.5% ขณะที่ราคาผลผลิตบางส่วนจะปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากขาดแคลนน้ำในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก แม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภาวะแห้งขอดและเป็นวิกฤติหายนะทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด
ขณะที่ ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจัยที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย ปัจจัยที่สอง การใช้งบประมาณปี 2563 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการเร่งรัดการใช้จ่ายจากระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือนของปีงบประมาณ 2563ปัจจัยที่สาม ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังดีอยู่ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่ำ การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อต่ำ ปัจจัยที่สี่ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลัง ปัจจัยที่ห้า การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจัยบวกเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่และธุรกิจรายเล็กรายกลางมากนัก เพราะไทยไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เศรษฐกิจยังคงมีการผูกขาดสูงขาดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ตลาดการแข่งขันไม่เสรีจริง สังคมผู้สูงวัยทำให้ผลิตภาพโดยรวมปรับลดลง โครงสร้างเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาภายนอกสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่ได้ไปเน้นไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ แต่เป็นเน้นการแจกเงินทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม ประชานิยมแบบนี้จะสร้างปัญหาฐานะทางการคลังในระยะต่อไป การกระตุ้นภาคการบริโภคติดข้อจำกัดหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงแตะ 80% ของจีดีพี ขณะที่ การกระตุ้นภาคการลงทุนอาจได้ผลบ้างเนื่องอัตราการใช้กำลังการผลิตในบางธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับ 70-80% และจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนอาจไม่สูงนักเนื่องจากมีการลงทุนส่วนเกินอยู่ ดอกเบี้ยต่ำช่วยประคับประคองการลงทุนได้ระดับหนึ่ง ควรผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีสัญญาณของปัญหาฟองสบู่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ภาวะการลงทุนในตลาดการเงินจะยังคงได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่มีอยู่สูง การปรับขึ้นของราคาของสินทรัพย์เสี่ยงอาจไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและผลการดำเนินของกิจการได้ ฉะนั้นนักลงทุนจึงต้องเลือกจังหวะการเข้าลงทุนและซื้อขายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกิจการปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง พลังงาน อิเลคทรอนิกส์ และ สถาบันการเงินบางแห่ง กิจการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น มีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทในปีนี้ (พ.ศ. 2563) จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งปี พ.ศ. 2562
ปี พ.ศ. 2563 นี้เช่นเดียวกับทุกปีในทศวรรษที่ผ่านมา ที่เราจะได้เห็นปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาให้วัตถุไร้ชีวิตแต่ฉลาดล้ำตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ตอบสนองต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและทำงานแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นตามลำดับ โจทย์ของนโยบายสาธารณะ คือ จะเอา “แรงงานมนุษย์” ที่ถูกแทนที่โดยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ไปทำอะไร แนวคิดในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ผู้คนและระบบที่อาศัยเทคโนโลยีมีปฏิสัมพันธ์กันในระบบนิเวศน์อัจฉริยะที่เปิดกว้าง มีการเชื่อมต่อถึงกัน และมีการประสานงานร่วมกันมากขึ้น
หลาย ๆ องค์ประกอบ รวมถึงบุคคล กระบวนการ บริการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการและผ่านการวางยุทธศาสตร์อย่างดี จะยกระดับคุณภาพชีวิต ความสามารถแข่งขันของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยได้เราจะได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “Hyperautomation” มากขึ้นตามลำดับ การโต้ตอบแบบอินเทอร์แอคทีฟและกลมกลืนอย่างอัตโนมัติยิ่งขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิทัล แพลตฟอร์มการสนทนา (Conversational Platforms) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับรูปแบบการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับโลกดิจิทัล ขณะที่ Virtual reality (VR), Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR) ทำให้รูปแบบการรับรู้และสัมผัสกับโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป เกิดประสบการณ์แบบหลากหลาย (Multiexperience) เทคโนโลยีเหล่านี้จะเขย่าระบบการศึกษา กิจการสื่อมวลชน กิจการสื่อสารและบันเทิงอย่างพลิกผันมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมาอีกหลายเท่าตัว
ในปีนี้ (2563) มีเรื่องสำคัญ คือ การประมูล 5G ที่จะปัจจัยที่ต้องนำมาคิดเรื่อง Strategic Technology Trends กันให้ดี การประมูล 5G และหากสามารถเปิดการให้บริการได้ภายในครึ่งปีหลังจะกระตุ้นการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นในปีนี้ การพัฒนาเข้าสู่ยุค 5G ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในหลายประเทศทั่วโลกและจะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากคุณสมบัติหลัก 3 ประการของเทคโนโลยี 5G คือ Enhanced Mobile Broadband (eMBB) Ultra-Reliable and Low latency communications (mMTC) และ Massive Machine Type Communications (uRLLC) เพื่อตอบสนองความต้องการของการสื่อสารในโลกอนาคตที่เน้นการรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูง อุปกรณ์ต่างๆสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ประมวลผลแบบอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องใช้คนในการควบคุม ทำให้สมองกลอัจฉริยะ (Atificial Intelligence- A.I.) สามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ฉะนั้น หากประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ได้ ก็จะสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมาก ยอดขายและการผลิตอุปกรณ์ไอโอทีจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดหลังมีเทคโนโลยี 5G แล้ว ค่าใช้จ่ายทางด้านไอโอทีทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกการลงทุนทางด้านไอโอทีสูงสุด ในไทย อุปกรณ์ทางด้านไอโอทีและมือถือรุ่นใหม่สำหรับเทคโนโลยี 5G เติบโตได้เพียงแค่ระดับหนึ่งอันเป็นผลจากกำลังซื้ออ่อนแอ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ประกอบกับ อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things-IoT) ในรูปแบบของสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับการทำสัญญาในแบบเดิม เพราะมีการประมวลผลโดยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) ลดปัญหาข้อขัดแย้ง ดุลพินิจ การต่อรอง และความผิดพลาดของมนุษย์ หรือ ส่งผลให้เกิดการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายขึ้นได้อย่างรวดเร็วในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกรรมทางธุรกิจ
จากข้อมูลวิจัยจากการร่วมมือกันของ IHS Markit, และมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐต่างๆ เช่น UCLA Berkeley และหน่วยงานของ UN ประเมินว่า ว่า 5G จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคตและเป็นเทคโนโลยีสำหรับบริการเกือบทุกประเภท กลายเป็นเทคโนโลยี General Purpose Technologies(GPT) ในอนาคตอันใกล้เนื่องจาก ธุรกิจอุตสาหกรรม โครงสร้างเศรษฐกิจ ระบบกำกับดูแล นโยบายและระบบการเมืองในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลโดยตรงต่ออัตราการยอมรับ (Adoption Rate) ของ 5G การประเมินผลของการใช้เทคโนโลยี 5G ของงานวิจัยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะประเมินมูลค่าในระยะยาวโดย IHS ได้ประเมินว่าเทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจถึง12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างตำแหน่งและอาชีพใหม่ๆเพิ่มเติมกว่า 22 ล้านตำแหน่งทั่วโลกในปี พ.ศ. 2578
มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในระดับดังกล่าวได้ในระยะ 15 ปีข้างหน้า ต้องมีการใช้เทคโนโลยี 5G ทั่วโลก ซึ่งยังมีอุปสรรคในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการพัฒนาและความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี นอกจากนี้ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ยังก่อให้เกิดเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ของโลก ประชากรยังขาดแคลนแม้นกระทั่งปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ เทคโนโลยี 1G หรือ 2G ก็ยังไม่มีโครงข่ายพื้นฐานรองรับเลย ขณะเดียวกันแม้นมีตำแหน่งงานใหม่และโอกาสใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายจากเทคโนโลยี 5G แต่เราจำเป็นต้องดูแลผลกระทบที่เกิดกับงานแบบดั้งเดิม ธุรกิจแบบดั้งเดิมที่กำลังถูกคุกคามและต้องปรับตัวอย่างหนักด้วย
ส่วนการประมูล การลงทุนและการเปิดให้บริการ 5G ในไทยนั้น ประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์ในเชิงมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2578 โดยแบ่งเป็นผลประโยชน์จากเทคโนโลยีeMBBmMTCและ uRLLCได้ประมาณ 830 พันล้านบาท 677 พันล้านบาท และ 812 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 ไม่ต่ำกว่า 200,000 – 300,000 ล้านบาท การเปิดบริการ 5G สร้างผลประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรม ส่งผลดีต่อการสื่อสาร การแพทย์ การศึกษาและเกษตรกรรม การลงทุนพลิกโฉมธุรกิจอุตสาหกรรม กิจการและวิถีชีวิตของผู้คนและพฤติกรรมผู้บริโภคในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอย่างมาก ขอเตือนว่าหากดำเนินการอย่างไม่มีการวางแผนและมียุทธศาสตร์ที่ดีจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ธุรกิจรายกลางรายใหญ่ปรับตัวไม่ได้กระทบหนัก เกิดการว่างงานเรื้อรังสำหรับผู้ไม่มีทักษะในการทำงาน และ เกิดโอกาสสำหรับตำแหน่งงานใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย ช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรข้ามอุตสาหกรรม การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสารระยะไกล ทำให้พนักงานสามารทำงานทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการฝึกอบรมและการศึกษาผ่านทางบรอดแบนด์ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน AR และ VR ในกิจกรรมต่างๆ อาทิ
การสาธารณสุขทางไกล ความบันเทิง การสำรวจภาคสนามทำให้อุปกรณ์มือถือสามารถทำงานได้เหมือนคอมพิวเตอร์เป็น Mobile Computing เกิดท่อส่งข้อมูลขนาดใหญ่ Cloud Computing และ พัฒนาเป็น Cloud เฉพาะด้านมากขึ้นพัฒนาศักยภาพของระบบค้าปลีก การซื้อของออนไลน์ รวมถึงการใช้งานต่างๆของระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities)Ultra-Reliable and Low Latency Communications (uRLLC) กล่าวคือ หากเป็นเทคโนโลยี 4G จะมีความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลสูงกว่า 5G ถึง 10 เท่า (4G มีความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลที่ 0.01 วินาที ส่วน 5G อยู่ที่ 0.001 วินาที) ทำให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันเป็นไปแบบ real time มากขึ้นเหมาะกับงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูงเช่น ระบบควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือระบบการแพทย์ระยะไกล เป็นต้น จากการศึกษาของ McKinsey (2015) จะพบว่า IoTจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดให้แก่1) ภาคการผลิต การเกษตรและอุตสาหกรรม 2) ระบบการจัดการเมือง การบริการสาธารณูปโภค และ 3) ภาคการขนส่งรวมถึงระบบโลจิสติกส์ อาจกล่าวได้ว่าคุณสมบัติmMTCประกอบกับ uRLLCจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน IoTอย่างมหาศาล
เทคโนโลยี 5 G และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคต จะทำให้ระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์จะไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจสังคม ต้องกระจายอำนาจและเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมือง จึงจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
การเปิดประมูล 5G ต้องกำหนดการขายไลเซนส์ให้เหมาะสมกับขนาดของเศรษฐกิจไทยและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคตให้ดี ใบอนุญาตไม่มากเกินไปจนเกิดปัญหาในธุรกิจแบบกิจการทีวีดิจิทัล เกิดปัญหาต่อรองการคืนใบอนุญาตพร้อมเรียกร้องเงินชดเชย รายได้ระยะสั้นของรัฐจากการประมูล 5G ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาทไม่สำคัญเท่ากับผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมและรายได้ในระยะยาว และใบอนุญาตต้องไม่น้อยเกินไปจนไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการในอนาคต โดยในระยะแรก ผู้ชนะการประมูลไลเซนส์จำเป็นต้องลงทุนโครงข่ายพื้นฐานในการรองรับ 5G ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง หากผู้ชนะประมูลไม่มีฐานะทางการเงินมั่นคงหรือฐานทุนใหญ่พออาจประสบปัญหาในการลงทุนช่วงแรกได้ ทำให้การเปิดบริการ 5G อาจล่าช้าออกไป การเข้าถึงการให้บริการ 5G ต้องทำให้ทั่วถึงมากขึ้นด้วยราคาที่ถูกลงเรื่อยๆก็จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น