เมื่อภัยสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุดของโลก

เมื่อภัยสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุดของโลก

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์จนบางท่านถึงกับขนานนามปี 2563 ว่าเป็น “ปีหนูไฟ”

เรื่องที่ยังคงเป็นความกังวลในขณะนี้คงหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่สร้างผลกระทบอย่างยิ่งโดยเฉพาะในด้านชีวิต สุขอนามัยและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผมเชื่อว่าหากอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องระมัดระวังในการดูแลสุขภาพตัวเอง เราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ครับ 

อย่างไรก็ตามยังมีเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ที่เราจำเป็นต้องตระหนักต่อไปในระยะยาวนั่นคือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

ในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำให้คนไทยต้องหยิบหน้ากากกันฝุ่นขึ้นมาใช้อีกครั้ง และคราวนี้ดูเหมือนความรุนแรงจะมากกว่าเดิมและกินเวลายาวนานขึ้น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันภัยแล้งในประเทศก็ได้ทวีความรุนแรงดังปรากฎชัดเจนขึ้นจากสภาพเขื่อนและแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศที่มีระดับน้ำต่ำเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ทางการต้องออกมาขอให้เกษตรกรงดทำนาปลังเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก่อนหน้านั้นเรายังได้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับไฟไหม้ป่าในประเทศออสเตรเลียที่ลุกลามจนแทบจะกลายเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว  ยังไม่ต้องกล่าวถึงภัยพิบัติในที่อื่นๆ เช่น น้ำท่วมจากพายุขนาดใหญ่ แผ่นดินไหว อุณหภูมิในมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นและปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากมนุษย์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอย่างที่เราทราบกัน

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านขอบเขตและระดับความรุนแรงของผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นและแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปซึ่งดูเหมือนจะควบคุมได้น้อยมากได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การประชุม World Economic Forum (WEF) ในช่วงวันที่ 20-24 เดือนมกราคมที่ผ่านมาได้สะท้อนความจริงข้อนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด ปี 2563 ถือเป็นปีแรกในรอบ 14 ปีของเวทีการประชุมในระดับโลกแห่งนี้ที่บรรดาผู้นำทั้งในวงการธุรกิจและการเมืองต่างระบุในแบบสำรวจความคิดเห็นล่วงหน้าก่อนการประชุมเพียงไม่กี่วันว่าภัยคุกคามจากความเสี่ยงสูงสุดระดับโลก 5 ประการในมุมมองของพวกเขาเป็นความกังวลในระยะยาวด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเรียงตามลำดับได้แก่

  1. สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง (Extreme Weather)
  2. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Failure)
  3. หายนะจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ (Major Natural Disasters)
  4. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) และ
  5. ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ (Human-made Environmental Damage)

โดยการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ ได้ไต่อันดับขึ้นมาที่อันดับที่ 4 และ 5 ในปีนี้แทนที่ภัยคุกคามด้านข้อมูล (Data Fraud or Theft) และการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attacks) ที่ได้รับการระบุเป็น 2 ใน 5 ความเสี่ยงสูงสุดระดับโลกในปี 2561 และ 2562

นอกจากนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนปี 2562 บริษัท ดีลอยท์ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเอกชนและองค์กรภาครัฐทั่วโลกกว่า 2,000 รายในเรื่องที่พวกเขามีความกังวลในฐานะผู้นำ และพบว่าผู้บริหารเหล่านั้นมีข้อกังวลเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร (Resource Scarcity) เป็นอันดับหนึ่ง โดยมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามมาเป็นอันดับสอง

จะเห็นได้ชัดว่าความสำคัญของความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยถูกวางไว้รอบนอก (Periphery) ของแวดวงธุรกิจ หรือเป็นเพียงแค่ประเด็นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้รับการผลักดันจากคนกลุ่มเล็กๆ ได้กลับกลายเป็นประเด็นกระแสหลัก (Mainstream) ที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความสำคัญได้ในเวลาอันรวดเร็ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ประมาณการเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ว่าการพูดถึงประเด็นการลงทุนใน ESG บนพื้นที่สื่อมวลชนทั่วโลกได้เพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและผมคิดว่ามาถึงวันนี้คนส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าหากเรายังไม่สามารถร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับภาวะวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ โลกจะต้องประสบกับหายนะอันยิ่งใหญ่แน่นอน ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย

จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นเสียงที่ดังขึ้นจากผู้นำและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั่วโลก (Tone at the Top) อย่างแท้จริง และมิใช่เกิดจากเพียงแรงกดดันจากนักลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเช่นที่ผ่านมาครับ