เผือกร้อน! ผกก.หนัง..โจทย์ 'ประยุทธ์' ชูทหารสู้ตายเพื่อชาติ
เรื่องร้อนๆ วงการภาพยนตร์ไทย หลังรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สั่งการกระทรวงวัฒนธรรม ประสานงานกระทรวงกลาโหม จัดสร้างภาพยนตร์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การสงครามของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์ และส่งเสริมให้เกิดความรักชาติ
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสื่อว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า ที่นายกฯเคยมีดำริตั้งแต่กลางปี 2562 ช่วงที่สนับสนุนให้มีการวิ่งเทรล (Trail Running) บนเส้นทางประวัติศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและเยาวชนรู้จักประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาติไทย ขณะนี้เชื่อว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้ประสานไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อประสานขอข้อมูลสำคัญ รวมทั้งการอ้างอิงเกี่ยวกับศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นขณะนี้ แต่อาจเป็นไปได้ถึงความคืบหน้าโครงการดังกล่าว จึงมีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมออกมา ซึ่งการที่นายกฯ มีดำรินั้น เป็นเรื่องดีที่คนไทยทุกคนจะได้รับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความเป็นมา ไม่ได้ต้องการแปลไปในเจตนาอื่น"
ก่อนหน้านี้ สื่อรายงานว่า ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดำเนินการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์สารคดีประวัติศาสตร์ชาติไทยเกี่ยวกับสงครามที่ผ่านมาของประเทศ เพื่อให้คนไทยมีความรู้และเข้าใจในประวัติศาสตร์ และปลุกใจให้เกิดความรักชาติ ซึ่งจากการประชุมคุณทำงานส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้สรุปแนวทางการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน สนับสนุนให้เกิดการผลิตภาพยนตร์อย่างน้อย 1 เรื่อง ภายในเวลา 1 ปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในปี 2564 และระยะต่อไปให้คณะทำงานส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ชาติไทย ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เพื่อให้ผู้ชมได้รับสาระความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เกิดความรักชาติ โดยมีการนำเสนอเรื่องราวที่มีอรรถรส ความบันเทิง และเผยแพร่ไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทย
คณะทำงานได้มีการศึกษาแนวทางการสร้างภาพยนตร์ออกเป็น 3 ช่วงเหตุการณ์ มาตั้งเป็นโครงเรื่องสำหรับการพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ โดยได้เห็นชอบ 3 โครงเรื่อง รวม 8 เหตุการณ์ ประกอบด้วย 1.) วีรกรรมทหารไทยที่ได้เข้าร่วมรบกับนานาชาติ อาทิ สงครามเกาหลี (สงครามเนินพอร์กช็อป) , สงครามเวียดนาม (สงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2) , ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1, ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
2.) วีรกรรมการต่อสู้ของทหารไทยกับต่างชาติที่มารุกราน อาทิ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112, ยุทธนาวีเกาะช้าง (สงครามอินโดจีน ครั้งที่1) และ 3.) วีรกรรมในการยุติการต่อสู้ ความขัดแย้งทางความคิดของคนไทย อันเนื่องมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน อาทิ สมรภูมิบ้านร่มเกล้า หรือยุทธการบ้านร่มเกล้า, สมรภูมิเขาค้อ
ทั้งนี้จะมีการสรุปผลการดำเนินการเพื่อรายงานต่อ อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เพื่อพิจารณา รวมถึงนายกรัฐมนตรีให้ทราบความคืบหน้าในการดำเนินการ และเสนอให้นากยกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ชาติไทย
ทว่า ดูเหมือนเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและความสามัคคีของคนในชาติ หากแต่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกลับมองมุมต่าง อย่างที่ ธัญวารินทร์ สุขะพิศิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว ว่าส่วนตัวเเละพรรคอนาคตใหม่ ขอคัดค้านในการเสนอให้สร้างภาพยนตร์เพื่อเชิดชูสถาบันทหาร เเละยกย่องกองทัพเพราะเห็นว่าการสร้างศรัทธาให้ประชาชนรักชาติ
"ไม่จำเป็นต้องเสนอด้วยการสร้างภาพยนตร์ที่ชูภาพลักษณ์เเละประชาสัมพันธ์องค์กรทหารกรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความต้องการคงอำนาจของเผด็จการ ในรูปแบบการประชาสัมพันธ์" ธัญวารินทร์ กล่าว
อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เสนอว่า แทนที่จะสร้างภาพยนตร์เพื่อชูภาพลักษณ์องค์กร สถาบันทหารนั้น ควรสร้างภาพยนตร์ที่เเสดงให้เห็นจุดบอด ความบกพร่องของกองทัพ ในปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้กับประชาชนหรือส่งเสริมภาพยนตร์ประเภทอื่นที่จะส่งผลต่อการสร้างรายให้กับประเทศยังดีเสียกว่า
"ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพราะที่ผ่านมาขาดการเยียวยา เเละการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยได้ทัดเทียมเท่าสากล ส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ" อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าว
...
ถ้าพูดกันตามจริง! วงการภาพยนตร์ไทยในช่วง 3-4 ปี สังเกตหรือไม่ว่า หนังไทยที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ มีแต่หนังตลกและหนังผี ที่พอได้รอบฉายสู้หนังจากต่างประเทศ แต่หนังแนวอื่นๆ กลับไม่มีพื้นที่ให้ผู้ชมคนดูได้มีเวลาเลือกเท่าใดนัก
ยกตัวอย่างง่ายๆ หนังเรื่อง งู ของผู้กำกับฯรุ่นเดอะ "แจ๊ส สยาม" เข้าฉายเมื่อต้นปีนี้ จากบทประพันธ์ "วิมล ไทรนิ่มนวล" นักเขียนรางวัลซีไรต์ ตามไปดูเนื้อหนังและเนื้อหาไม่ทัน เพราะเผลอแป๊บเดียวออกจากโรงภาพยนตร์ไปแล้ว
ไม่แน่ใจว่ารัฐบาล ฟังเสียงสะท้อน "คนทำหนังไทย" ในช่วง 3-4 ปีบ้างหรือไม่ ว่าอยากให้สนับสนุนด้านไหนบ้าง เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยเติบโตได้ ทุกวันนี้เหมือนยืนด้วยลำแข้ง ภาครัฐได้ส่งเสริมอะไรหรือไม่
ขณะเดียวกัน หันกลับมามอง "โจทย์" ที่รัฐบาลออกให้ "คนทำหนัง" ได้สร้างหนังออกมาเพื่อขายแนวคิดความสามัคคีของในชาติ ไม่ว่าจะเป็น วีรกรรมทหารไทยที่ได้เข้าร่วมรบกับนานาชาติ อาทิ สงครามเกาหลี , สงครามเวียดนาม , สงครามโลกครั้งที่ 1- 2 และวีรกรรมการต่อสู้ของทหารไทยกับต่างชาติที่มารุกราน อาทิ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112, ยุทธนาวีเกาะช้าง ,สมรภูมิบ้านร่มเกล้า และสมรภูมิเขาค้อ เป็นต้น หากมองในแง่ดี เมื่อเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาสร้างหนัง อาจขายตลาดหนังต่างประเทศได้ ถ้าทุ่มทุนสร้าง ได้ผู้กำกับฯเก่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่าง หนัง สุริโยไท และตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นต้น
ถึงกระนั้น "โจทย์รัฐบาล" ก็มีวาระซ่อนเร้นอยู่ ในแง่ความเสียสละเพื่อชาติของทหาร พูดง่ายๆ คือทำหนังเชียร์ทหารหรือไม่ โจทย์นี้กลายเป็นเรื่องร้อนๆ ใน "สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย" อย่างแน่นอน ไม่ต้องถามใครก็พอมองออก
พูดกันตรงๆ ผู้กำกับฯคนไหนจะรับงาน และใครได้งานนี้ก็ถูกตั้งคำถามอีก ท่ามกลางกระแสข่าวว่า "คนในสมาคมฯ" อยากให้รัฐบาลช่วยแบบเปิดกว้างกว่านี้ ไม่ใช่โจทย์ลักษณะนี้ มันเหมือน "ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" เพราะคนทำหนังทั้งรุ่นใหญ่และเล็ก ต่างอยากทำหนังที่ไม่จำเจกับหนังผีกับตลก แต่ไม่มีทุน และนายทุนไม่กล้าเสี่ยงด้วย
จับตา เผือกร้อนเงินทุนรัฐบาลเรื่องนี้ ถูกโยนเข้า "สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย" เมื่อไหร่อาจไม่ต่างจาก ส.ส. ประชุมสภาฯ เพราะมีทั้งคนเชียร์ และต่อต้านแนวคิดรัฐบาล คงถกเถียงกันถึงพริกถึงขิง!!