เลื่อน/เลิก เดินทาง ข้อควรปฏิบัติรับมือ COVID-19
ปั่นป่วนกันทั้งประเทศเมื่อจากกรณีผู้สูงอายุคู่หนึ่งหลังจากกลับจากญี่ปุ่นได้ปกปิดประวัติการเดินทาง จนทำให้มีผลกระทบตามมาในวงกว้าง
ทั้งธนาคารปิดสาขา โรงเรียนปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19
วันนี้ผมอยากจะมาชวนท่านคิดอ่านถึงผลกระทบของความมักง่าย ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับราคาที่สังคมจะต้องจ่าย และข้อคิดถึงท่านที่กำลังจะเดินทางโดยเฉพาะนักเรียนที่มีแผนการเดินทางไปทัศนศึกษาหรือเรียนระยะสั้นในต่างประเทศ
ขณะนี้เป็นช่วงใกล้ปิดเทอมเข้ามาทุกขณะ ซึ่งหากอยู่สภาวะปกติ ทางเลือกของกิจกรรมระหว่างปิดเทอมก็หนีไม่พ้นการเรียนซัมเมอร์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ หรือการลงเรียนเพิ่มพูนทักษะทั้งทางวิชาการ ศิลปะ หรือกีฬาซึ่งมีคอร์สมากมายให้เลือกสรร ซึ่งโดยทั่วไปการลงเรียนหรือกิจกรรมช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ก็จะมีการเตรียมการหรือลงสมัครล่วงหน้าไว้แล้ว
ผมอยากให้ข้อคิดและตรรกะเหตุผลต่างๆ ที่ควรจะนำพิเคราะห์ให้ดี ถึงกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปิดเทอม ว่าจะร่วมหรือยกเลิกกิจกรรมอันเป็นที่รวมของเยาวชนดีหรือไม่ หรือหากจำเป็นต้องร่วมแล้ว ควรมีข้อปฏิบัติอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสนี้ให้ได้มากที่สุด
ก่อนอื่นท่านผู้อ่านควรวิเคราะห์ว่าผู้ร่วมโครงการคนอื่นๆ และสถานที่หรือการเดินทางไปยังค่ายหรือโครงการต่างๆ นั้นๆ มีความเสี่ยงในการติดโรคหรือไม่จากข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ประเทศที่สมควรเลี่ยงอย่างยิ่งคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ถึงแม้ว่าแค่ต่อเครื่องบินก็สมควรที่จะระวังและพิจารณาให้ถี่ถ้วน กิจกรรมในประเทศอื่นๆ หรือจังหวัดในไทยที่ยังปลอดภัยมีมากมาย สมควรพิจารณาเป็นทางเลือก และกิจกรรมนั้นๆ มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด เลื่อนได้หรือไม่
ขณะนี้หลายหน่วยงานในไทยได้ปรับระดับการรับมือและออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น อาทิ กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย กระทรวงศึกษาธิการสั่งยกเลิกการเดินทางในโครงการต่างๆ ไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ออกประกาศห้ามนักเรียน บุคลากร ผู้ปกครองที่เคยไปเยือนประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าโรงเรียนและต้องได้รับการตรวจคัดกรองก่อน
เพราะสถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การประเมินสถานการณ์จึงจำเป็นประมวลจากข้อมูลข่าวสารรายวัน และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพิจารณาคือ ประกาศจากประเทศปลายทาง จำเป็นต้องหาข้อมูลก่อนการเดินทางว่าประเทศนั้นๆ ได้มีมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างไร อาทิ บาห์เรนห้ามคนไทยเข้าประเทศ คาซัคสถานประกาศกักตัวเพื่อคุมโรค 14 วัน ประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังไม่มีการกักตัวหรือประกาศห้ามเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้
ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการเดินทางยังประเทศหรือเมืองกลุ่มเสี่ยง หรือมีแนวโน้มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็มีความจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อม ทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการตรวจและรักษาไวรัส ระมัดระวังในการสัมผัสอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ภายในเครื่องบิน สนามบินและที่สาธารณะ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และใช้หน้ากากอนามัย และที่สำคัญที่สุดเมื่อกลับมาถึงไทยแล้วให้งดการออกสู่สังคมหรือดำเนินชีวิตตามปกติก่อนการตรวจเช็ค
ตัวอย่างจากความมักง่ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากกรณีผู้สูงอายุคู่หนึ่งนั้นถือเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับสังคมไทย ที่ทุกคนควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะนอกจากบทลงโทษทางกฎหมายโดยปรับไม่เกิน 500,000 บาท และหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปีแล้ว ยังมีบทลงโทษทางสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันในสังคม การทำให้วิถีชีวิตของคนอื่นๆ ผิดแปลกหรือลำบากไปจากเดิมจากความมักง่ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นย่อมจะต้องมีแรงปฏิกิริยาจากสังคมเป็นแน่
ความมักง่าย ความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์มีราคาที่รัฐและสังคมจะต้องร่วมกันจ่าย การหยุดกิจกรรมถึง 14 วันนำมาซึ่งความฝืดเคืองในรายรับ หรือเกิดเป็นค่าเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ไม่นับรวมภาระของผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกเมื่อโรงเรียนถูกสั่งปิดอีก ในแง่ของภาพรวม เศรษฐกิจซึ่งแย่อยู่แล้วถูกซ้ำเติม เพราะมีความเสี่ยงเพิ่ม รัฐมีความลำบากในการจัดการและงบประมาณที่มากขึ้น สร้างความกลัวและตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วไป ไม่เป็นการดีกับภาวะบ้านเมืองและเศรษฐกิจในตอนนี้เลย