ยุบพรรค ประท้วงสืบทอดอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญ

ยุบพรรค ประท้วงสืบทอดอำนาจ แก้รัฐธรรมนูญ

ต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่ไม่รู้เรื่องนิติศาสตร์ ผมเห็นว่าการกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคเป็นจำนวนมากขนาดนั้น

และเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรคเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ตามหลักการที่ไม่ต้องการให้เกิดเงื่อนไขของการครอบงำในพรรคการเมืองผ่านทุน

และถ้าจะเปรียบเทียบกับโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ ก็จะพบว่ากลุ่มผู้สนับสนุนทุนมันแตกกระจายไปหลายมุ้งหลายก๊วน ไม่สามารถกล่าวได้ว่าพรรคอยู่ใต้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และแต่ละโต๊ะก็บริจาคไม่เกินที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมีโต๊ะจำนวนหนึ่งที่มาจากบริษัทแม่บริษัทเดียว แต่แตกออกเป็นหลายบริษัท การผูกขาดการครอบงำจึงไม่เกิดขึ้น

แม้ว่าจะมีนักนิติศาสตร์ชี้ว่าพรรคการเมืองในตะวันตกหลายประเทศมีสถานะเป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายเอกชน แต่ที่แน่ๆ คือคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหรัฐ (Federal Election Commission) กำหนดว่า เงินกู้จากบุคคลหรือคณะบุคคลให้ถือเป็นเงินสนับสนุนทางการเมือง (Contribution) จนกว่าจะได้รับการชำระคืน เมื่อชำระคืนเรียบร้อยแล้วให้ถือว่าจำนวนเงินกู้ดังกล่าวไม่นับรวมอยู่ในวงจำกัดเงินสนับสนุนทางการเมือง

ส่วนเงินกู้จากธนาคารไม่เป็นเงินสนับสนุนทางการเมืองหากกระทำตามขั้นตอนปกติและอยู่บนฐานว่าจะมีการชำระคืน อีกทั้งยังมีการจำกัดวงเงินสนับสนุนทางการเมืองไว้อีกด้วย ถ้าเป็นการกู้เงินจากธนาคารไม่ถือเป็นการสนับสนุนทางการเมืองหากเป็นไปตามขั้นตอนปกติ และไม่ได้กำหนดวงจำกัดที่สามารถกู้ยืมไว้

ส่วนการกู้เงินจากบุคคล ให้ถือเป็นการสนับสนุนทางการเมือง และมีการกำหนดวงจำกัดไว้แตกต่างกันไปตามสถานะของผู้ให้และผู้รับ

ดังนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่าถ้าเป็นสหรัฐ พรรคการเมืองจะกู้เงินหัวหน้าพรรคเป็นจำนวนมากๆ ไม่ได้แน่ เพราะเงินกู้ถือเป็นการสนับสนุนทางการเมืองและมีวงจำกัดชัดเจน นอกเสียจากว่าจะกู้จากธนาคาร (รายละเอียดเหล่านี้ผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหรัฐ www.fec.gov/help-candidates-and-committees/handling-political-party-loans-debts-and-advances/loans/)

นอกจากนี้หลังจากได้มีการติดต่อสอบถามกรณีการกู้เงินของพรรคการเมืองในประเทศไทยไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหรัฐ คำตอบที่ได้คือเงินกู้จากบุคคลถือเป็นการสนับสนุนทางการเมืองและต้องมีวงจำกัด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนภายใต้กฎหมายสหรัฐมีตั้งแต่ออกจดหมายเตือนไปจนถึงการปรับเงิน (สนใจดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.posttoday.com/politic/columnist/609616)

จากข้างต้นจะพบว่าการกู้เงินหัวหน้าพรรคอย่างที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่เป็นสิ่งที่ผิดกติกาของประเทศสำคัญๆ ในโลกตะวันตก เพียงแต่บทลงโทษของอเมริกา ก็จะมีตั้งแต่จดหมายเตือนไปจนถึงการปรับเงิน

จากที่กล่าวไปทุกฝ่ายในประเทศไทยน่าจะเข้าใจตรงกันได้แล้วว่าการกู้เงินหัวหน้าพรรคของพรรคอนาคตใหม่นั้นขัดต่อหลักการ เพียงแต่โทษภายใต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคนั้นรุนแรงกว่าอเมริกา ซึ่งอเมริกาออกกฎหมายที่กำหนดให้การกู้เงินบุคคลถือเป็นการสนับสนุนทางการเมืองเพราะเกิดกรณีวอเตอร์เกต (Watergate scandal) ในปี 1976 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระดมทุนทางการเมือง

แต่การวินิจฉัยตัดสินยุบพรรคของไทยนั้นถูกมองว่ารุนแรงเกินไปสำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาประท้วง แต่ถ้าจะมีใครจะออกมายืนยันว่าการกู้เงินในลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมทำได้ เหตุผลคืออะไร? ถ้ากฎหมายมีช่องโหว่ ก็ต้องแก้

นักนิติศาสตร์ไทยจำนวนหนึ่งออกมาแสดงข้อคิดทางวิชาการแย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาล และมีทั้งที่สนับสนุนด้วยหลักวิชา ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่ขณะเดียวกันการยุบพรรคสำหรับคนบางกลุ่มก็ถูกผนวกไปกับเรื่อง “รัฐประหาร-รัฐธรรมนูญเอื้อการสืบทอดอำนาจผ่านวุฒิสภา การกดปุ่มจากมือที่มองไม่เห็น” เรื่องมันก็เลยบานปลาย ซึ่งก็ยากที่จะห้ามไม่ให้คนเหล่านั้นคิดเช่นนั้นได้ เพราะมันก็มีเงื่อนไขให้พวกเขาคิดเช่นนั้นได้ จึงนำมาซึ่งการประท้วงที่กระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ 

แต่รูปธรรมและผลสัมฤทธิ์ของการต่อต้าน “ระบบ-ระบอบ” ที่พวกเขาต้องการโค่นล้ม เป้าหมายก็ไม่หนีการแก้รัฐธรรมนูญเพราะไม่ว่าจะออกมาประท้วงกันแค่ไหน จะจบลงอย่างไร ยังไงมันก็ต้องมีรัฐธรรมนูญอยู่ดี 

ดังนั้น การประท้วงเรียกร้องอาจจะเกิดในลักษณะของการนัดชุมนุมใหญ่ลงถนน ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อแสดงพลังจำนวนคน พร้อมข้อเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดทั้งเนื้อหาและกระบวนการ (เช่นต้องการให้มี ส.ส.ร.และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง) และมีการรวบรวมรายชื่อให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลงนามพร้อมสำเนาบัตรประชาชน ยื่นต่อคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำงานอยู่ขณะนี้และจะต้องสรุปผลภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.

และหลังจากนั้นก็รอดูสถานการณ์ว่าข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ที่ยื่นต่อสภาเป็นอย่างไร? ถ้าทุกอย่างดำเนินไปได้ตามประสงค์ ก็รอให้รัฐสภาทำงานไป แต่ถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็นัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้ง ซึ่งก็จะตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่พอดี ทุกอย่างก็อาจจะสะดวกขึ้นสำหรับนักศึกษาต่างจังหวัดด้วย

ขณะเดียวกัน การนัดชุมนุมใหญ่ลงถนนครั้งแรกหลังสอบกลางภาคอาจจะยังไม่ลงตัว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ก็สามารถหาทางชุมนุมแบบกระจายตามภูมิภาคและถือโอกาสให้พ่อแม่พี่น้องในภูมิภาคหรือในจังหวัดนั้นที่เห็นด้วย ได้มีโอกาสมาร่วมสนับสนุน อาจจะเป็น ขอนแก่น อุบลฯ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สงขลา ฯลฯ

แม้ว่าจะไม่ได้เห็นการชุมนุมใหญ่ที่มีพลังมากหนึ่งเดียวที่กรุงเทพฯ แต่การกระจายก็จะทำให้ได้ความรู้สึกของการต่อต้านทั่วประเทศ และที่สำคัญ เปิดโอกาสให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้เข้าร่วม ซึ่งถ้านับจำนวนรวมๆ แล้วก็อาจจะมากกว่าถ่อมารวมกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องเสียค่าเดินทาง และพ่อแม่ผู้ปกครองก็จะเป็นห่วงด้วย และคิดว่าถ้าไม่ได้มารวมกันเป็นจำนวนมากที่กรุงเทพฯ ที่จะทำให้คุมกันยาก โอกาสมีมือที่สามก็น่าจะไม่มีด้วย 

 อีกทั้งการชุมนุมตามภูมิภาคจะทำให้แต่ละสถาบันนั้นๆ เริ่มรู้จักการจัดการการชุมนุมและเข้าใจถึงปัญหา และเมื่อจำเป็นต้องมาชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็จะเข้าใจว่าจะต้องมีแกนนำ มีการจัดระเบียบ คุมการแสดงออกให้อยู่ในประเด็นตาม พ.ร.บ. ทุกอย่างก็จะสะดวก ไม่ใช่เริ่มชุมนุมครั้งแรกก็ชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ เลย มันอาจจะเสียกระบวนได้ 

ที่สำคัญคือหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องผ่านการทำประชามติ อย่างที่คุณสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ได้เคยแสดงความเห็นไว้ (https://www.matichon.co.th/politics/news_1888971) ถ้ากลุ่มนิสิตนักศึกษาทำเสียกระบวน อาจจะทำให้คนที่เคยคิดอยากจะแก้รัฐธรรมนูญไม่เอาด้วย ประชามติอาจจะออกมาว่าไม่แก้ อีกทั้งหากผ่านประชามติ แต่ตอนร่างเสร็จก็จะต้องทำประชามติรับอีกครั้งเช่นกัน หากทำเสียกระบวนก็จะตกไปได้ง่ายๆ

ที่กล่าวมานี้ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์คือหากกติกาบ้านเมืองไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ยามเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นและมีการตัดสินอะไรมาก็จะไม่ยอมรับกัน และไปลงที่รัฐบาลหรือรัฐธรรมนูญเสมอ

ดังนั้น หากจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกัน ก็จะเป็นเรื่องดี ต่อไปเมื่อเกิดปัญหาและใช้มาตราและองค์กรสถาบันที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตัดสิน แม้ว่าจะไม่ชอบใจ แต่ก็ยอมรับกันได้โดยไม่เคลือบแคลงใจ อีกทั้งผู้เขียนต้องการให้กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างสันติ ไม่เกิดการใช้ความรุนแรงจนบ้านเมืองเสียหายอย่างที่ผ่านมากว่าทศวรรษ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แม้ว่าจะผ่านประชามติ แต่ก็ถูกมองว่าอยู่ในสภาพถูกบังคับให้รับ เพราะมิฉะนั้นการเลือกตั้งจะต้องถูกเลื่อนออกไปไม่รู้เมื่อไร 

ปิดท้ายด้วย เจ้าพ่อการเมืองเปรียบเทียบ ฮวน ลินซ์ (Juan Linz) ได้ให้ข้อสังเกตที่แหลมคมไว้เมื่อปี 1978 ใน Juan J. Linz, The Breakdown of Democratic Regimes: Crisis, Breakdown, & Reequilibration หน้า 14-49 ว่า

เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลเสมอไปการเปลี่ยนแปลงหรือการคงอยู่ของรัฐบาล หากดำเนินไปภายใต้กติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ย่อมถือว่าสังคมนั้นมีเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมือง

ถ้าทั้งฝ่ายที่มีอำนาจและฝ่ายที่ต่อต้านต่างมีความยึดมั่นร่วมกัน (loyal) ในหลักการระเบียบกติกาของระบอบการปกครองที่ดำรงอยู่แต่ถ้าเกิดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทุกฝ่ายต่างดำเนินการทางการเมืองใดๆ - ไม่ว่าจะเป็นการพยายามรักษาหรือเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่อำนาจ - การรักษาอำนาจ - และการขยายอำนาจ - โดยไม่ยอมรับการยึดมั่น (disloyal) ในกติกาที่เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย

นั่นย่อมเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความไร้เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองในสังคมนั้น ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะไร้ระเบียบ เกิดจลาจลจนถึงสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด หากไม่สามารถสร้างความยอมรับยึดมั่น (loyal) ในกติกาหรือหลักการร่วมกัน อันได้แก่นัยความหมายของระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญ 

ซึ่งการรณรงค์เพื่อหารัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำเพื่อหาฉันทามติว่า จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ และถ้าแก้จะแก้อะไร และถ้าได้ฉันทามติอย่างใด ก็ควรจะต้องยอมรับร่วมกัน