'เจ๊ต้อย' ทิ้งเพื่อไทย ตั้งพรรคใหม่เจาะสตรี รักษาฐานไทลื้อ
สาวไทลื้อเชียงคำ “ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์” ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย กรรมการบริหารพรรค รองหัวหน้าพรรค
ที่น่าสังเกต จดหมายลาออกของ “เจ๊ต้อย” ลงที่อยู่หมู่ 8 บ้านสบแวน ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ซึ่งเป็นชุมชนไทลื้อหรือไตลื้อ ที่มีภาษาและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทุกวันนี้ เจ๊ต้อยยังเป็นนายกสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทยอีกด้วย
ถอยออกจากเพื่อไทย ไม่ถึงสัปดาห์ “เจ๊ต้อย” ก็แถลงเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ที่มีเธอเป็นหัวหน้าพรรคในวันที่ 8 มีนาคม 2563 ที่โรงแรมเอส.ดี. อเวนิว ปิ่นเกล้า
สาวพะเยาไม่ถอย
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อดีตผู้ประกาศข่าวทีวี ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ที่บ้านเกิด จ.พะเยา และเป็น ส.ส.สมัยแรก ในสีเสื้อประชาธิปัตย์เวลานั้น เธอกลายดาวรุ่งที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่เมืองพะเยา จนได้เป็น ส.ส.ต่อมาอีก 2 สมัย
เลือกตั้งปี 2544 “เจ๊ต้อย” มาอยู่พรรคไทยรักไทย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และได้เป็น รมช.แรงงานและสวัสดิการสังคมปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่นับจากวันนั้น เธอก็ทำงานการเมืองนอกสภาฯ ไม่มีหยุด
"เจ๊ต้อย” สวมหัวโขนประธานมูลนิธิพัฒนาเยาวสตรีภาคเหนือฯ, ประธานชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย
โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจ๊ต้อยนำ “ชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย” ออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มเสื้อแดง
ชมรมเสียงสตรีแห่งประเทศไทย ก็คือฐานการเมืองอันสำคัญของเจ๊ต้อย เป็นที่มาของพรรคการเมืองใหม่ป้ายแดงนั่นเอง
นายกไทลื้อ
สถานการณ์พรรคเพื่อไทย ยุค “แม้วหมอบ” แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่มีผู้นำทรงบารมีพอที่จะเป็นศูนย์รวมใจคนทั้งพรรคได้ ลดาวัลลิ์จึงลงพื้นที่เมืองพะเยาบ่อยครั้ง แต่เมืองกว๊านก็เปลี่ยนไปเยอะ
ผลเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา อรุณี ชำนาญยา (เขต 1) และ ไพโรจน์ ตันบรรจง (เขต 3) สอบตกทั้งคู่ ทั้งที่มีฐานคะแนนเสียงเป็นกลุ่มแม่บ้าน สตรีผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ยังคงภักดีต่อนายใหญ่ดูไบ
อรุณีโตมากับกระแสทักษิณ ข้อเสียของ ส.ส.เพื่อไทย ที่พึ่ง “กระแส” เป็นหลัก มักไม่สร้างฐาน สร้างบารมี ส่วนไพโรจน์ ต้องยอมรับว่า เป็นช่วงขาลงของตระกูลตันบรรจง
เหลือเพียงเขตเลือกตั้งบ้านเกิดของ “เจ๊ต้อย” ที่นักการเมืองจอมเก๋า “เสี่ยมี่” วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ค่ายเพื่อไทย ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่จุดแข็งจุดขายของเจ๊ต้อยคือ เป็นขวัญใจไทลื้อ
ตำแหน่งนายกสมาคมชาวไทลื้อแห่งประเทศไทย ทำให้สาวเชียงคำคนนี้ มีความมั่นใจในการสร้างพรรคใหม่
สหายผู้กอง
แม้ในศึกซักฟอกจะโดนหนักว่าใครเพื่อน แต่วงในพลังประชารัฐ ยังเชื่อว่า “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” มีคนคุ้มครองระดับเบอร์ใหญ่ ให้อยู่รอดปลอดภัย
อันที่จริง อรุณี ชำนาญยา คิดว่า “ผู้กองธรรมนัส” ที่มาสร้างฐานมวลชน ในนามประธานมูลนิธิธรรมนัสพรหมเผ่าเพื่อการกุศล, นายกสมาคมชาวพะเยา และนายกสมาคมกีฬาพะเยา จะยังสวมเสื้อเพื่อไทย
เหตุการณ์พลิกผัน “สหายผู้กอง” เลือกพรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองเพื่อไทยในพะเยาก็รู้ว่า ตกเป็นรอง เพราะผู้กองคนดังช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสต่อเนื่องและยาวนาน จนมีฐานการเมืองเป็นของตัวเอง
ไม่แปลกหรอกที่คนเมืองกว๊านถือว่า มองเขาเป็นพ่อพระ โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือเจือจานคนจน คนด้อยโอกาส เข้าถึงง่าย ปฏิเสธชาวบ้านไม่เป็น รวมถึงคอนเนกชั่นใจถึงใจกับกลุ่ม อปท. กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่ไม่นอน มิตรกลายเป็นศัตรู ศัตรูกลายเป็นมิตร คิดอะไรมากไม่ได้ เพราะเส้นทางการเมืองไทย มันแคบ
หากวันข้างหน้า สาวไทลื้อเชียงคำ จะหันมาสร้างความปรองกับสหายผู้กอง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก