ประเมินเศรษฐกิจ หลัง Covid19 ระบาดระดับโลก
โรคระบาดระดับโลก (Global Pandemic) กรณี Worst case หากโรค COVID-19 แพร่ระบาดในวงกว้างในยุโรป สหรัฐ รวมทั้งประเทศไทยแล้ว
ถึงขั้นปิดเมืองสำคัญแบบจีน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยในปีนี้จะมีความไม่แน่นอนสูงมาก และเศรษฐกิจโลกมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 1% หลายประเทศทั่วโลกจะประสบกับภาวะถดถอยรวม ส่วนจะถึงขั้นเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแบบปี 1929 ต้องดูผลกระทบ COVID-19 ไปอีกระยะหนึ่ง
แต่ขณะนี้ยังเชื่อมั่นว่าไม่เลวร้ายขนาดนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้ไม่ถึง 2.5% อย่างมากที่สุดเศรษฐกิจจะเผชิญเศรษฐกิจถดถอยแบบปี 2008 มากกว่า หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ บางประเทศอาจจะฟื้นตัวได้เร็ว สถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะพัฒนาไปอย่างไรและมีลักษณะผลกระทบแบบปลายเปิด
จากการประเมิน ล่าสุดยังไม่สามารถชี้ชัดว่าจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับโลกหรือไม่ แต่แน่นอนมีความเสี่ยงที่จะเกิดมากขึ้นตามลำดับ จึงยังไม่ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ในขณะที่ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วที่ระดับ 1.8% มีแนวโน้มจะปรับลดลงจากระดับนี้ค่อนข้างสูง แต่ถึงขั้นทั้งปีติดลบหรือไม่ รอดูปัจจัยต่างๆ ในเดือน เม.ย.และ พ.ค.
ล่าสุด เกิดสงครามราคา Price War ของผู้ผลิตน้ำมันและส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ผลกระทบสุทธิที่กดราคาน้ำมันลดลงเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ แต่ทำให้ 2 ประเทศสูญเสียรายได้ไปมากและกระทบต่อมูลค่าบริษัทพลังงานและราคาหุ้นของธุรกิจน้ำมัน
ทางด้านเศรษฐกิจไทยนั้น น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิคค่อนข้างแน่นอน ส่วนจะถึงขึ้นเกิดวิกฤตการณ์ระดับเดียวกับปี 2540 ต้องรอประเมินอีกครั้งในเดือน เม.ย. ซึ่งจะได้เห็นปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ชัดเจนขึ้น และบอกเราได้ว่าเศรษฐกิจจะเจอวิกฤติเศรษฐกิจทั้งปีติดลบหรือไม่ และต่อเนื่องกันกี่ปี
ตอนนี้ที่คาดการณ์ได้คือติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาส แต่หากเกิดขึ้นจะต่างจากปี 2540 คราวนี้จะเกิดเป็นวิกฤติของเศรษฐกิจฐานรากและคนชั้นกลางระดับล่าง เป็นวิกฤติของภาคเศรษฐกิจจริง ภาคการผลิตภาคท่องเที่ยว ไม่เหมือนวิกฤติปี 40 ที่ใจกลางของวิกฤติอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป มีการลงทุนเกินตัวจนเกิดฟองสบู่และปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงิน
ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิค ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้คืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบแน่ในไตรมาสแรก และอาจจะต่อเนื่องในไตรมาส 2 ติดต่อกัน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกอาจหดตัวเกือบ 2% การลดลงของภาคการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ และการนำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคจำนวน 4 ครั้ง ในปี 2540-2541 (เกิดวิกฤตการณ์การเงินด้วย), ปี 2551-2552, ปี 2556 และปี 2557 โดยในปี 2540-2541 เกิดภาวะถดถอยรุนแรงสุดจนถึงขั้นเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจติดลบ 4 ไตรมาสติดต่อกัน
การประเมินมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ล่าสุด การแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย อัดฉีดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากให้ตรงกลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 จะช่วยบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชนและสถานประกอบการขนาดกลางขนาดเล็กได้บ้าง
มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลยังเป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเป็นหลัก บรรเทาปัญหามากกว่า เป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนทางการเงิน อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งเป็นการเพียงช่วยไม่ให้การทรุดตัวหรือติดลบเกิน 2% การแจกเงินไปที่กลุ่มผู้รายได้น้อยโดยตรงอาจมีความจำเป็นต้องทำในสถานการณ์ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจค้าปลีก
แต่ให้ระวังฐานะการเงินการคลังหากใช้มาตรการแบบนี้บ่อยและประชาชนจะเสพติดประชานิยม ไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระยะยาวแต่อย่างใด ไม่ได้สร้างระบบหลักประกันทางสังคม ผมจึงไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง หากต้องการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการควรเลือกใช้แนวทางอื่น เพราะการลดการจ่ายสมทบจะทำให้สถานะทางการเงินของระบบประกันสังคมอ่อนแอลงในระยะต่อไป
มาตรการหรือแนวทางที่สำคัญในช่วงนี้คือ รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการควบคุมการแพร่ระบาดของไทย และการเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มีความปลอดภัย หากทำให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่นเช่นนั้น ปัญหา COVID-19 ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนลดลง
รัฐบาลต้องโปร่งใสและไม่ปิดบังข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพ ทำให้เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนหลายรอบ ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจจะทำหน้าที่ได้ดีเมื่อมีความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ต้องทำให้เกิด Rule of Law และประชาธิปไตยในประเทศนี้จะทำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น การกดอัตราดอกเบี้ยลงไปให้ต่ำที่สุดและอาจต้องพิจารณานำเอานโยบาย QE หรือการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษมาใช้ ต้องเน้นไปที่การจ้างงาน และชะลอการเลิกจ้าง สร้างรายได้ เรียงลำดับความสำคัญของการช่วยเหลือเน้นไปที่กลุ่มคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย สื่อสารทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่ต้องปิดบัง ปราบปรามการกักตุนสินค้า และต้องทำให้ประชาชนและนักลงทุนไม่ตื่นตระหนก เร่งรัดการลงทุนภาครัฐอย่างเต็มที่