Social Distancing - ห่างกันอีกนิด ให้ชีวิตปลอดไวรัส
ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อยู่ในระดับการระบาดใหญ่ (Pandemic)
ไปทั่วโลกแล้ว และล่าสุด งานวิจัยใน Journal of Travel Medicine บ่งชี้ว่า อัตราความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน หรือ Reproductive Number ของเชื้อไวรัสชนิดนี้สูงถึง 3.3 ซึ่งนั่นหมายความว่า การแพร่ระบาดนั้นยากที่จะควบคุมไว้ได้โดยง่าย ผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คนสามารถที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นที่ไม่มีภูมิคุ้มกันได้กว่า 3 คน อันเป็นผลทำให้ในปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกก็มีมากกว่า 160,000 คนแล้ว ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อวันละกว่า 13,000 คน ซึ่งการแพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้พื้นที่ในแถบทวีปยุโรปในเวลานี้ก็กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดขนานใหญ่ แทนพื้นที่ในแถบเอเชียอย่างจีนและเกาหลีใต้ที่เริ่มจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นแล้ว
เพื่อให้สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง ทั่วโลกจึงได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบังคับใช้มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ภายในวงที่จำกัด เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐกำหนดให้มีเขตกักกันผู้ติดเชื้อ หรือออกมาตรการควบคุมการเดินทางไปยังประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย แต่แนวทางสำคัญที่จะส่งผลให้การแพร่ระบาดนั้นชะลอลงได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ก็คือ มาตรการในเชิง "Social Distancing" ที่ถ้าแปลเป็นไทยแบบตรงตัวก็คือ "ระยะห่างทางสังคม" แต่ในความหมายจริง ๆ แล้วนั้น หมายถึง การหลีกเลี่ยงจากพื้นที่ที่ต้องเจอกับคนหมู่มาก หรือการรักษาระยะห่าง ในระหว่างที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กันกับผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อทางอากาศ ซึ่งวิธีการนี้เองที่เป็นหนึ่งในมาตรการรับมือและจัดการที่ไม่ใช่ในเชิงเภสัชกรรม (Non-pharmaceutical Intervention) ของสหรัฐอเมริกาเมื่อว่าร้อยปีก่อน ตอนที่เกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (The Influenza Pandemic) ในช่วงปี ค.ศ. 1918-1919
สำหรับประเทศไทย ล่าสุด ก็มีมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาสั่งการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายวงกว้างมากกว่าเดิม เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียน ผับ สถานบันเทิง และโรงหนัง หรือการงดจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต การจัดแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมกีฬา ฯ รวมไปถึงการงดวันหยุดและการเดินทางในช่วงสงกรานต์ งดกิจกรรมเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ซึ่งมาตรการที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนถือเป็นการสร้าง "Social Distancing" ในทางอ้อม เพื่อลดการพบปะกันของผู้คน ทำให้โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสนั้นลดลงตามไปด้วย อีกทั้งยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) โดยไม่ต้องเดินทางออกมาเสี่ยงภัยข้างนอก ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการติดเชื้อนั้นน้อยลงไปได้อีกด้วยเช่นกัน
และเมื่อมองในแง่มุมของการเงินส่วนบุคคลและการจัดการความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลต่อเรื่องการเงินของเราด้วยนั้น หลักการของ "Social Distancing" ก็บังเอิญไปสอดคล้องกับการ “หลีกเลี่ยงความเสี่ยงภัย” ที่ถือเป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้ เมื่อมีต้องเผชิญกับโอกาสเสี่ยงภัยที่สูงมาก และความรุนแรงของภัยนั้นสูงมากตามไปด้วย และถือเป็นแนวทางหนึ่งในหลากหลายวิธีการจัดการความเสี่ยงภัย นอกเหนือไปจาก การรับผลกระทบจากความเสี่ยงภัยไว้ด้วยตัวเอง การควบคุมหรือลดโอกาสเกิดความเสี่ยงภัย และการโอนย้ายความเสี่ยงที่เรารับมือเองไม่ไหวออกไปให้บริษัทประกันภัย เผื่อกรณีที่ป่วยขึ้นมาจริง ๆ ก็ยังได้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ ที่เปรียบเสมือน “เงินกองกลาง” ให้เอาไปใช้จ่ายรักษาตัวเอง
จากพลวัตของสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ ทำให้เราต้องหมั่นพิจารณา "โอกาสที่จะเกิดภัย" และ "ความรุนแรงของผลกระทบ" อยู่เสมอ ทบทวนแผนการจัดการความเสี่ยง และศึกษาหาความรู้ในการรับมือ พร้อมติดตามข่าวสารที่ถูกต้องเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อประเมินทางเลือกในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สิน(ทางการเงิน)ของเราให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด
ในเวลาแบบนี้ ด้วยสถานการณ์แบบนี้ นับเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยต้องการความสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้ให้ได้ ผ่านหลักการของ Social Distancing ที่เราทุกคนสามารถทำได้เลยทันที โดยพยายามหลีกเลี่ยงออกจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ ให้ได้มีพื้นที่ห่างจากความเสี่ยงกันอีกสักนิดหนึ่งก็ยังดี และการไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสจะติดเชื้อ จึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการลดโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา หากต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดใหญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรงเช่นนี้
เพราะในสถานการณ์แบบนี้ Social Distancing ซึ่งก็ถือเป็น Social Responsibility ด้วยเช่นกันครับ