ประมวลกฎหมายกีฬาฝรั่งเศส
วิวัฒนาการของการเล่นกีฬาในฝรั่งเศส มีมาตั้งแต่สมัยโรมันจนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 การเล่นกีฬามีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
แต่ในขณะนั้นการบริหารจัดการด้านกีฬาเป็นเพียงแนวนโยบายแห่งรัฐเท่านั้น ยังมิได้มีการออกกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสจึงได้เริ่มมีการจัดทำในรูปแบบประมวลกฎหมายมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ“ประมวลกฎหมายกีฬา”
ประมวลกฎหมายกีฬาฝรั่งเศสเป็นกฎหมายพิเศษ ที่อยู่ในหมวดกฎหมายแพ่งโดยผู้ที่ยกร่างฯคือกระทรวงกีฬาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการบริหารจัดการกีฬามากขึ้นส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้จัดทำประมวลกฎหมายกีฬาโดยการออกพระราชกำหนดเป็นไปตามความในมาตรา 84 ของกฎหมายเลขที่ 2004-1343 ลงวันที่ 9 ธ.ค.2547
การจัดทำประมวลกฎหมายกีฬาเป็นการรวบรวมบรรทัดฐานเฉพาะทางการกีฬามาใช้เป็นแนวทางเริ่มต้นและนำหลักการทางกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้เข้าด้วยกัน อาจกล่าวได้ว่าประมวลกฎหมายกีฬามีพื้นฐานมาจากประมวลกฎหมายทั่วไปโดยหลักการจัดทำประมวลกฎหมายก็คือการจัดหมวดหมู่หรือจัดกลุ่มของ พ.ร.บ.และ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับกีฬามารวมไว้อยู่ในเอกสารเดียวกัน โดยจัดเรียงให้อยู่ด้วยกันและเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน
ประมวลกฎหมายกีฬาฉบับนี้เป็นหนึ่งในผลพวงจากจุดประสงค์ทางการเมืองในฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อเอื้อให้ผู้ปฏิบัติงาน(เจ้าหน้าที่ของรัฐ) มีเครื่องมือ(กฎหมาย) ที่ครอบคลุมและใช้งานได้ง่าย แต่ในระยะแรกยังไม่ได้รวมกฎหมายกีฬาทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันเนื่องจากถือว่าเป็นกฎหมายที่แปลกใหม่จึงเพียงแต่ได้มีการนำเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องของกฎหมายกีฬามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีการ “เข้าถึงได้ง่ายขึ้น”และ “เข้าใจได้ง่ายขึ้น”
ประมวลกฎหมายกีฬาแบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ (ส่วน “L”) ได้จัดทำขึ้นตามพระราชกำหนดลงวันที่23 พ.ค.2549 ซึ่งได้นำเอาส่วนสำคัญของพ.ร.บ.ลงวันที่16 ก.ค.2527 และจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอื่นๆ มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายการศึกษา (การสอนกีฬาเพื่อได้รับค่าตอบแทน) ประมวลกฎหมายสาธารณสุข (สารกระตุ้น) และประมวลแรงงาน (นักกีฬาอาชีพ)
ในส่วนประมวลกฎหมายกีฬาของฝ่ายบริหารส่วนนี้นั้นถูกจัดทำขึ้นจากพ.ร.ก. 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.หมายเลข 2007-1132 และหมายเลข 2007-1133 ลงวันที่ 24 ก.ค.2550 (ส่วน “R” และ “D) นอกจากนี้ยังมีการนำคำสั่งลงวันที่ 28 ก.พ.2551 (ส่วน “A”) ที่ได้รวม พ.ร.ก.ของการใช้กฎหมายเก่าปี2527 ที่เกี่ยวข้องกับกีฬามาปรับใช้ เช่น การลดอำนาจของCNOSF และINSEP รูปแบบการแข่งขันกีฬาบนถนนสาธารณะและได้มีการรวบรวมคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเข้ามาบัญญัติไว้ในส่วน “A” นี้อีกด้วย
การจัดทำประมวลกฎหมายกีฬาฝรั่งเศสใช้รูปแบบการรวบรวมกฎหมายต่างๆ ในเรื่องเดียวกัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาโดยจะต้องเป็นกฎหมายที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกันในทางกีฬา ซึ่งผู้ที่จัดทำประมวลกฎหมายสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อให้ถูกต้อง ตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายเพื่อให้มีความสอดคล้องกันของเนื้อหาที่นำมารวบรวมไว้ด้วยกัน และแก้ไขข้อผิดพลาด รวมถึงยกเลิกข้อกำหนดต่างๆที่ขัดแย้งกันเอง หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเก่าบางข้อที่มีความไม่เหมาะสมให้สอดคล้องกับยุคสมัย
ตั้งแต่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายกีฬา มาตรฐานทางกิจกรรมกีฬาไม่ได้ถูกลดทอนหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดและตั้งแต่ปี 2549 มีพ.ร.บ.อย่างน้อย 8 ฉบับที่ถูกนำมารวบรวมไว้ในประมวลกฎหมายกีฬาฉบับนี้ ที่สำคัญได้แก่ พ.ร.บ. ลงวันที่ 5 ก.ค.2549 ที่เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันความรุนแรงระหว่างการแข่งขันกีฬา ที่ส่งผลให้สามารถยกเลิกสมาคมและกลุ่มสนับสนุนได้ นอกจากนั้น ยังมีพ.ร.บ.ลงวันที่ 3 ก.ค.2551 เกี่ยวกับการต่อต้านการค้าขายผลิตภัณฑ์สารกระตุ้น ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดบางประการเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายกีฬาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารกระตุ้นและ พ.ร.บ.อีกฉบับที่สำคัญคือฉบับลงวันที่ 12 พ.ค.2553 ที่อนุญาตให้สามารถเปิดรับพนันกีฬาออนไลน์ได้
นอกจากนี้ ควรกล่าวถึงพ.ร.บ.ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2553 ที่กำกับดูแลเรื่องอาชีพตัวแทนนักกีฬาและพ.ร.บ.ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2554 เกี่ยวกับองค์กรการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปยูฟ่า ในปี 2559 และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการ “ส่งเสริมจริยธรรมของกีฬาและสิทธิของนักกีฬา” ที่ถูกประกาศใช้ด้วย
จะเห็นได้ว่าการนำกฎหมายต่างๆ มารวบรวมไว้ด้วยกันของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับวงการกีฬานั้น แม้มีความพยายามที่จะทำให้ครอบคลุมกับการกีฬาในทุกส่วน แต่ผลสุดท้ายก็ยังคงมีข้อจำกัดบางประการที่จะต้องได้รับการพัฒนาต่อไปในอนาคต เนื่องจากรูปแบบของการเล่นกีฬาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สำหรับในประเทศไทยซึ่งกิจการกีฬาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้ หากจะมีการจัดทำประมวลกฎหมายกีฬาขึ้นบ้าง ผู้เขียนเห็นว่าควรจัดทำขึ้นในรูปแบบประมวลกฎหมายแบบรวมกฎหมายไม่ใช่รูปแบบประมวลกฎหมายโดยแท้ ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะช่วยทำให้การจัดทำประมวลกฎหมายเป็นไปด้วยความรวดเร็วไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณาหรือโต้แย้งกันเหมือนกับในกรณีที่มีปรับปรุงเนื้อหากฎหมายในทางตรงกันข้ามการจัดทำประมวลกฎหมายในลักษณะนี้ นอกจากจะทำให้สามารถรวบรวมบทบัญญัติของกฎหมายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่มาไว้ในที่เดียวกัน แล้วยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายและทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย
หากจะเริ่มต้นในการจัดทำประมวลกฎหมายกีฬาในประเทศไทย ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานหรือทำการวิจัยสำหรับการยกร่างและนำเสนอประมวลกฎหมายกีฬาแล้วจึงนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมพิจารณาเพื่อให้มีสาระสำคัญครอบคลุมการกีฬาทั้งระบบ และมีการจัดหมวดหมู่บทบัญญัติของกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การยกระดับกฎหมายการกีฬาของไทยในอนาคตต่อไป.
โดย...
พรพล เทศทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์