โมเดลเกษียณ: เกษียณไม่ได้ เมื่องานเลอค่า
คนเราจะทำงานได้จนถึงอายุเท่าไหร่?
คนเราจะหยุดทำงานได้ตอนไหน?
อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการทำงานต่อหรือหยุดทำงาน?
ไม่ว่าใครต่างก็มีคำถามเหล่านี้เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง ทั้งคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน ที่ต้องการมี passive income ให้เร็วที่สุด และมีความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต(work-lifebalance)คนวัยกลางคนที่ทำงานมาเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี รวมถึงผู้ที่กำลังก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ ที่ (อาจจะ) ใกล้ถึงวัยหยุดทำงาน
วันนี้ ผมอายุ 65 ปี และเป็นคนหนึ่งที่ทำงานมาตลอด 40 กว่าปี หลังจากจบปริญญาเอกเมื่ออายุ 25 ปี โดยทำงานไม่มีวันหยุด คนจำนวนมากเห็นว่าผมทำงานหนักและเป็นห่วงสุขภาพของผม จึงแนะนำให้ผมพักและผ่อนการทำงานลง ด้วยว่าเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผมไม่เคยคิดจะเกษียณ เพราะผมมีความสุขในการทำงานทุกวันและต้องการใช้ชีวิตอย่าง“เลอค่า” หรือมีคุณค่าสูงสุด เพื่อสร้างประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง สังคม ประเทศชาติจนวันสุดท้ายของชีวิต
ตลอดชีวิตการทำงาน ผมพยายามคิดเพื่อจะตอบคำถามข้างต้น จนตกผลึกออกมาเป็น “โมเดลเกษียณ”เพื่อต้องการสะท้อนคิดและสร้างประกายไฟในใจแก่ผู้สูงวัยและคนทำงานทุกคนทุกวัยว่าควรทำงานอย่างไม่มีเกษียณมีแต่เกษม หรือจะเกษียณได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะและควรเท่านั้น
เกษียณได้... เมื่อสิ้นใจ
ความตายเป็นเงื่อนไขเดียวที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่อาจปฏิเสธได้ในการเกษียณ แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้นของชีวิต ผมปรารถนาให้ทุกคนมีความคิดที่ว่า จะตั้งใจทำงานจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และไม่มีคำว่าเกษียณอยู่ในความคิดเลยเพื่อให้เป็นคนมีไฟในการทำงานอยู่เสมอ ทำงานอย่างมีความสุขทุกวัน ตื่นเช้าขึ้นมาพร้อมความกระตือรือร้น และมุ่งสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนตน ส่วนร่วม ส่วนเรา และส่วนรวม
เกษียณได้... เมื่องานไร้เลอค่า
เกษียณได้ในที่นี้ คือ เกษียณได้จากงานไร้ความเลอค่า เพื่อหันไปทำงานที่เลอค่า หากการงานใดไม่ก่อประโยชน์ ทั้งยังสร้างปัญหาต่อสังคม ส่วนรวม และประเทศชาติ (แม้ตนเองได้ประโยชน์) ควรหยุดทำ ควรเกษียณออกจากงานนั้นเสีย รวมถึงไม่ส่งต่องานที่ไร้ความเลอค่าให้กับคนอื่น
เกษียณไม่ได้... เมื่ออายุมาก
คนส่วนใหญ่ใช้อายุเป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจเกษียณ ด้วยเพราะกฎระเบียบข้อบังคับของระบบการทำงาน รวมถึงภาวะสุขภาพที่ยิ่งอายุมากขึ้น สุขภาพจะค่อย ๆ เสื่อมลง อย่างไรก็ตาม แม้มีอายุมากแล้ว ทว่ายังมีกำลังเรี่ยวแรงอยู่ ก็มิควรรีบเร่งในการเกษียณ ควรใช้เรี่ยวแรงเท่าที่มีอยู่สร้างคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างสมวัย เช่น การเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม ให้ความรู้ มีส่วนสร้างคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว คนใกล้ชิดที่อยู่ในฐานะลูกน้อง ลูกศิษย์ สาวก รวมถึงทายาท เพื่อส่งต่อแนวคิด อุดมการณ์ ประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิต
เกษียณไม่ได้... เมื่องานเลอค่า
งานเลอค่า ตามนิยามของผม คือ งานที่มีคุณค่าสูงสุด ท่ามกลางสิ่งที่มีคุณค่าทั้งปวง งานเลอค่าของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในบุคคลนั้น ๆ โดยจะต้องเป็นงานที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด มีกระบวนการดำเนินงานดีเลิศ รวมถึงสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง อย่างทวีคูณ และสร้างคุณประโยชน์ข้ามกาลเวลาได้
สำหรับผม งานเลอค่า คือการสร้างชาติการทำให้ประเทศเกิดความเจริญงอกงามอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทั้งด้านวัตถุ จิตใจ และคุณธรรม เพื่อนำประเทศสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยริเริ่มจากที่ไม่มี ให้เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง และการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
(1)การสร้างคนให้มีคุณภาพมีอัตลักษณ์ร่วมกัน มีอุดมการณ์ เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน เป็นทายาทในการสืบทอดงาน
(2) การสร้างระบบ ให้เอื้ออำนวยต่อการทำให้คนในชาติอยู่กันอย่างเป็นระเบียบ และเอื้อให้รัฐทำหน้าที่ในการดูแลคนในชาติได้อย่างมีประสิทธิสภาพ (efficacy)
(3) การสร้างบริบทที่เอื้ออำนวยให้คนในชาติ และระบบของชาติทำหน้าที่ได้เต็มที่
หากงานเลอค่านี้ยังไม่สำเร็จ ผมก็ไม่มีวันที่จะเกษียณตัวเองได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้เราจะใช้ชีวิตอย่างไร เป้าหมายสูงสุดของชีวิตจะเป็นตัวกำหนด หากเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้บนมูลค่า เราจะใช้ชีวิตอยู่บนมูลค่า หากสิ่งใดประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้ เราก็อาจจะไม่ทำและไม่ให้ความสำคัญ เช่นเดียวกัน หากคุณวางเป้าหมายชีวิตบนสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด บนความเลอค่า คุณจะใช้ชีวิตอย่างเลอค่าและทุ่มเทอย่างถึงที่สุดจนกว่าเป้าหมายเลอค่านั้นจะสำเร็จ หรือกล่าวสั้น ๆ อีกนัยหนึ่ง คือ เกษียณไม่ได้ เพราะต้องทำงานเลอค่าตลอดไปจนกว่าจะสิ้นใจ เราจึงไม่มีเกษียณ มีแต่เกษม