Flattening the Curveอย่างเดียว ก็ยังไม่พอ!
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยเริ่มพุ่งตัวสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเกิดคำถามว่า เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้หรือไม่
แล้วคนไทยจะป่วยเพราะโควิด-19 มากแค่ไหน? เรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำฉากทัศน์แนวโน้มการระบาดโควิด-19 (Scenario Building) ของไทยออกมา 3 ฉากทัศน์คือ (1) ฉากทัศน์ของการระบาดรุนแรง แค่ในปี 2563 ปีเดียว แต่ผู้ป่วยสูงถึง16.7 ล้านคน (2) ฉากทัศน์ที่ชะลอการระบาดได้พอสมควร แต่จะระบาด 2 ปี คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วย 9.9 ล้านคน และ(3) ฉากทัศน์กรณีที่ไทยสามารถควบคุมโรคได้ดีก็ยังจะมีผู้ป่วย 400,000 คนในช่วง 2 ปี
เมื่อเราพิจารณาตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละฉากทัศน์แล้ว เราควรจะถามตัวเองว่าประเทศไทยพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดตามฉากทัศน์กรณีต่างๆ หรือไม่ โดยที่เรานำตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อมาเปรียบเทียบกับขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของไทยที่มีอยู่ ซึ่งถ้าตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อมากกว่าจำนวนเตียงที่จะรองรับได้ ก็อาจหมายถึงการต้องเลือกว่าจะใช้เครื่องมือทางการแพทย์ช่วยเหลือใครให้มีชีวิตอยู่และผู้มีโอกาสรอดชีวิตน้อยกว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างพอเพียง ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในอิตาลี
Joshua Gans ศาสตราจารย์ด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ชี้ว่า การชะลอการระบาดด้วยวิธีการFlattening the Curve เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หากแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุข (Health Care System Capacity)ด้วยทางเลือกสำหรับเรื่องนี้มี 2 ทางเลือก ทางแรกคือเตรียมความพร้อม เพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือ แต่หากระบบสาธารณสุขไม่มีความสามารถรองรับได้ก็จะมีผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตทางที่สอง คือ ทำลายวงจรการแพร่ระบาดในปีนี้ลงก่อน แล้วค่อยเตรียมการรับมือใหม่ทั้งหมดอีกครั้งในปีหน้า(https://thereader.mitpress.mit.edu/flattening-the-coronavirus-curve-is-not-enough/)
ดังกรณีของจีน ที่สามารถสร้างโรงพยาบาลเฉพาะกิจภายในเวลา 2 สัปดาห์ ทำให้มีจำนวนเตียงของโรงพยาบาลเพียงพอสามารถรองรับผู้ติดเชื้อและสามารถรักษาทันท่วงที อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเศร้าที่ ณ เวลานี้กรณีของยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย นับว่าไม่มีทางเลือกอีกต่อไปเพราะการแพร่ระบาดรุนแรงมากจนเกินกว่าระดับสาธารณสุขจะรองรับได้แล้ว
จากประเด็นดังกล่าว เราได้พิจารณาดูศักยภาพสาธารณสุขของไทยพบว่าขีดความสามารถทางระบบสาธารณสุขของไทยเราก็มีจำกัด เรามีจำนวนเตียงในโรงพยาบาลรวมเป็น 157,027 เตียง (สัดส่วนเตียง 2.4 : 1,000 คนต่อประชากร) ซึ่งเราทราบดีว่าปกติก็มีผู้ป่วยที่ใช้เตียงในโรงพยาบาลหนาแน่นอยู่แล้ว และจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่าไทยมีเตียงพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 5,000-6,000 เตียง ขณะที่แพทย์โรคติดเชื้อชี้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการไม่หนัก กรณีที่ต้องดูแลแบบภาวะวิกฤตมีประมาณ 5% เท่านั้น
การควบคุมโรคให้ดี การชะลอการระบาดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เช่นนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีจำนวนเกินกว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้เมื่อเราพิจารณาตัวเลขการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อฉากทัศน์ที่แพร่ระบาดข้างต้นกับขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข พบว่า จำนวนเตียงที่มีอยู่ในปัจจุบัน (รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ) อาจสุ่มเสี่ยงต่อการไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แม้แต่จะเป็นฉากทัศน์ที่ควบคุมโรคได้ดีก็ตาม
ณ วันนี้สำหรับประเทศไทยเรายังมีทางเลือก เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างขีดความสามารถระบบสาธารณสุข(โดยยกระดับเส้นสีแดงในกราฟให้สูงขึ้นเหนือกว่าเส้นจำนวนผู้ป่วย) พร้อมกันนั้นควรเพิ่มแนวทางการบริหารจัดการด้านต่างๆอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานให้เสมือนยามศึกสงครามเพราะเรากำลังทำสงครามกับไวรัส การบริหารจัดการอุปทานด้านระบบสาธารณสุขทั้งหมดอย่างเป็นระบบตั้งแต่เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน เครื่องช่วยหายใจ จำนวนเตียงในโรงพยาบาล เช่น เร่งสร้างโรงพยาบาลเฉพาะกิจ โรงพยาบาลสนาม เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วย ประยุกต์ใช้สถานที่อื่นรองรับผู้ป่วยเป็นเสมือนโรงพยาบาลเฉพาะกิจ และระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน มีส่วนร่วมในมิติต่างๆ รวมไปถึงการบริหารบุคลากร นอกเหนือจากแพทย์และพยาบาลเพื่อมาช่วยสนับสนุนและลดภาระของแพทย์พยาบาล ตลอดจนการเร่งศึกษาวิจัยในเรื่องชุดตรวจโรคโควิด-19 ที่ตรวจวัดผลได้เร็ว ราคาถูก และค้นคว้าวิจัยเพื่อผลิตวัคซีน ประชาชนทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมในมิติต่างๆ รวมถึงป้องกันตนเอง ลดความเสี่ยง ลดโอกาสในการแพร่ระบาด
เราทุกคนจะนิ่งเฉยหรือใช้ชีวิตเหมือนปกติไม่ได้แล้ว เราต้องร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้เสมือนกับการอยู่ในยุคการทำศึกสงคราม เราต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประชาชนในชาติ เพื่อที่เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
โดย...
ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
Facebook.com/thailandfuturefoundation