สตง. แถลงปมอาคาร แห่งใหม่ 30 ชั้น 2,136 ล้านบาท คืบหน้า 30% ก่อนถล่ม

โฆษก สตง. แถลง ปมสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ 30 ชั้น คืบหน้าร้อยละ 30 ก่อนเกิดเหตุถล่มจากแผ่นดินไหว มูลค่า 2,136 ล้านบาท แผนการดำเนินงานเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 8.2 ทำให้โครงสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง พังถล่มลงมาทั้งหมด
โดยระบุว่า จากปัจจุบันโครงการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว ร้อยละ 30 ของแผนการดำเนินงาน โดยขณะนี้ตนเองอยู่หน้างาน และกำลังตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ เป็นโครงการก่อสร้างอาคาร ความสูง 30 ชั้น มูลค่าก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2563 แต่หยุดชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินโครงการ โดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และกิจการร่วมค้า (Joint Venture) PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และ สหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด) เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จำนวน 74,653,000 บาท โดยขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2563 - พ.ศ.2569
สำหรับโครงการนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับ สตง. ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกัน และปราบปรามปัญหาการทุจริต “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี
สตง.ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท จึงคิดเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่าราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท
กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า การก่อสร้างอาคารดังกล่าว มีการเสนอใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารหลังนี้ตั้งแต่ปี 2550 หรือเกือบ 20 ปีก่อน
โดย สตง.ทำหนังสือถึง ครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารหลังนี้ ระบุรายละเอียดของเรื่องว่า เดิม สตง.ได้รับอนุมัติรายการค่าก่อสร้างและเพิ่มวงเงินในการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 4 รายการ ได้แก่
รายการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ตามมติ ครม.เมื่อ 30 ต.ค. 2550 อนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2551-2553 จำนวนเงิน 338,950,000 บาท
รายการค่าก่อสร้างอาคาร สตง. ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2552 อนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2553-2555 จำนวนเงิน 988 ล้านบาท
รายการก่อสร้างอาคาร สตง. ระยะที่ 2 ตามมติ ครม.เมื่อ 16 พ.ย. 2553 อนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2554-2556 จำนวนเงิน 500 ล้านบาท
รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล ตามมติ ครม.เมื่อ 22 ต.ค. 2556 อนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2557-2559 จำนวนเงิน 5,956,600 บาท
ต่อมา สตง.ชง ครม.เพื่อขอเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณเป็น 2 ก้อนได้แก่
รายการค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563-2566 จากเดิม 2,636,800,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท
รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563-2566 จำนวนเงิน 76.8 ล้านบาท
ต่อมา สตง.ได้ลงนามจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2563 จ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด) ก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้าง ประกอบ จํานวนเงิน 2,136 ล้านบาท
และได้จ้างผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง ตามสัญญาเลขที่ 024/2564 ลงวันที่ 14 มกราคม 2564 จ้างกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จํากัด) ควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จํานวนเงิน 74,653,000 บาท ซึ่งได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ 15 ม.ค. 2564 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ซึ่งจะครบกำหนดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 โดยขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันเป็นปีงบประมาณ 2563 - 2569
อย่างไรก็ดี สตง.ได้ขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง 155 วัน ทำให้ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 3 มิ.ย. 2567 ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 เนื่องจากงานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมในพื้นที่ การหยุดงานก่อสร้างตาม ประกาศของทางราชการอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีงานพิธีวางศิลาฤกษ์ รวมเป็น ระยะเวลา 58 วัน
ครั้งที่ 2 เนื่องจากการแก้ไขแบบก่อสร้าง กรณี Load Factor, Core Wall และการสัญจรของรถบรรทุกในชั้นใต้ดิน รวมเป็นระยะเวลา 97 วัน
เนื่องจากผู้ให้บริการควบคุมงานเริ่มงานถัดจากวันส่งมอบพื้นที่ 7 วัน ทำให้ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างที่ สตง.จะต้องจ่ายเพิ่มเติมจากสัญญาเป็นจำนวน 148 วัน (นับตั้งแต่ 8 ม.ค. 2567-3 มิ.ย. 2567) โดยมีอัตราค่าจ้างวันละ 65,667 บาท รวมเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 4,718,716 บาท
เรื่องนี้ สตง.ชงที่ประชุม ครม.เมื่อ 17 ธ.ค. 2568 ต่อมา 13 ก.พ. 2568 ครม.มีมติว่า อนุมัติเพิ่มวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จากเดิมวงเงิน 76,800,000 บาท เป็นวงเงิน 84,371,916 บาท
โดย สตง.ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคาร จํานวน 155 วัน ทําให้ระยะเวลาก่อสร้างขยายจาก 1,080 วัน (วันที่ 31 ธ.ค. 2566) เป็น 1,235 วัน ส่งผลต่อสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จะต้องมีค่าจ้างเพิ่มเติมจากเดิมอีก 148 วัน (ผู้ให้บริการ ควบคุมงานเริ่มงานถัดจากวันส่งมอบพื้นที่ 7 วัน) เป็นจํานวนเงิน 9,718,716 บาท
ดังนั้นเมื่อรวมกับวงเงินในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง จํานวน 74,653,200 บาท รวมเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 84,371,916 บาท ซึ่งจํานวนเงินที่จะต้องใช้ในการจ้างควบคุมงานเนื่องจากการขยายระยะเวลา ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
สำหรับงานก่อสร้างอาคารดังกล่าว วงเงิน 2.1 พันล้านบาทเศษ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด)