Viral Disruption: ยาขมที่ต้องกิน

Viral Disruption: ยาขมที่ต้องกิน

ณ วันนี้ ไม่ใช่ดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ที่กำลังเปลี่ยนโลก แต่กลายเป็นไวรัลดิสรัปชั่น (Viral Disruption) กำลังเปลี่ยนโลก

ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการ รวมถึงหลายๆ ภาคส่วนยังปรับตัวให้เข้ากับโลกป่วนหรือดิจิทัลดิสรัปชั่นแบบช้าๆ มีบางส่วนคิดด้วยซ้ำว่ายังมีเวลา ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ไม่เห็นเป็นไร ซึ่งก็อาจจะจริงเพราะผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปรับตัว ยอดขายอาจตกหน่อย แต่ยังพอขายได้อยู่ เพราะพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์มากขนาดนั้น แต่กรณีวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งเปรียบเหมือนกับไวรัลดิสรัปชั่น (Viral Disruption) ทำให้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องหยุดออกจากบ้านพร้อมๆ กันทันที พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน และธุรกิจหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ด้วย ธุรกิจที่ไม่ได้เตรียมการไว้สำหรับการขายออนไลน์เลยจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก

สถานการณ์ในวันนี้จึงมีให้เลือกแค่ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนก็รอด ถ้าไม่เปลี่ยนก็เท่ากับตาย ทำให้ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และผู้คนต้องคิดใหม่ ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน รูปแบบธุรกิจ รูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ตัวอย่างเช่นการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ผู้คนสามารถเข้าประชุมร่วมกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายอย่าง กรณีตัวอย่างในประเทศจีน ก็ได้มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีโดรนจัดส่งของถึงบ้านให้แก่ผู้คนที่จำเป็นต้องกักตัวเองอยู่กับบ้าน รวมถึงนำหุ่นยนต์อัจฉริยะมาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อห้องผู้ป่วย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเองเราก็เห็นคนหันมาใช้ E-Commerce ซื้อของ อาหารและยาผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ประชุมกันผ่าน Tele-Conference มากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการบริษัทรายไหนหรือหน่วยงานใดที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก็ต้องหันมาใช้ประโยชน์จากโลกยุคดิจิทัลแล้ว เพราะเรื่องนี้กำลังกลายมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ แนวคิด และวิถีชีวิตด้วย ทุกวันนี้คนเริ่มกลับมาทำเศรษฐกิจพอเพียงและหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่นทำสวนครัวภายในบ้าน หรือการทำสวนแนวตั้งในคอนโดหรือพื้นที่จำกัด ดูแลสุขภาพการกินอยู่ด้วยวิถีธรรมชาติมากขึ้น ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหารการกินมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงพึ่งพาวัตถุดิบภายในท้องถิ่นแทนที่จะต้องจัดหาจากพื้นที่อื่นหรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตแบบพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันหรือการดำเนินวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้ผู้คนต้องปรับวิถีชีวิตใหม่ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น คนเริ่มหันมามองการใช้ชีวิตตนเอง พวกเราหันกลับมาตั้งคำถามที่ว่ากิจกรรมที่ปกติเราเคยทำกันมาทุกวันนั้นจำเป็นและเป็นประโยชน์กับเราจริงๆ หรือไม่ การทำงานจากบ้านทำให้การเดินทางลดลง รถติดน้อยลง ส่งผลดีต่อเรื่องอากาศ ความเครียดจากปัญหารถติดก็ลดลงด้วย แม้ว่าในช่วงนี้จะทำให้ผลิตภาพลดลงเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่นี่ก็อาจทำให้เราได้ค้นพบการใช้ชีวิตภายใต้รูปแบบใหม่ (New Normal) ที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้

ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยเองมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โรงเรียนของลูกๆ ก็ปิดชั่วคราว ทำให้พ่อแม่ต้องหันมาดูแลลูกและช่วยสอนลูกเรียนหนังสือเองที่บ้านตลอดทั้งวัน ทำให้รู้สึกขอบคุณครูที่ดูแลเด็กๆ ที่โรงเรียนทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย หรือแม้กระทั่งคนเก็บขยะ คนส่งของ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใช้ชีวิตในการทำงานโดยเอาสุขภาพของตัวเองเสี่ยงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น คนรู้สึกชื่นชมกับความทุ่มเทของคนทำงานด่านหน้าเหล่านี้ แต่นอกจากเสียงปรบมือ คำขอบคุณแล้ว ทุกวันนี้เราเห็นการร่วมส่งกำลังใจให้นักรบเสื้อกาวน์ผู้เป็นด่านหน้าสำคัญผ่านการระดมทุนและระดมทรัพยากร (Crowdfunding and Crowdsourcing) นี่ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับบุคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน

จากเรื่องราววิกฤติในครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่าแผนการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เราควรใช้เหตุการณ์นี้ในการเปลี่ยนแปลงทำให้เราฉลาดขึ้นเรียนรู้ที่จะปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นเพื่ออยู่รอด

ต่อจากนี้ไปทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะประเมินความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง แต่ละองค์กรหรือในระดับประเทศก็เช่นกัน ควรจะต้องมีการประเมินถึงความเสี่ยง คาดการณ์สถานการณ์หรือฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario)

เพราะเรามีความหวังได้แต่ไม่ใช่กับทุกเรื่อง เรามีความหวังสำหรับสิ่งที่ดีที่สุดได้ แต่เราต้องวางแผนสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ภายใต้สถานการณ์วิกฤติหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายเราจะมานั่งรอคอยความหวังไม่ได้ เราต้องวางแผน เราต้องบริหารจัดการ เราถึงจะรอด

แล้วคุณจะเปลี่ยนไป เพราะโลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย...

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation