PANDEMIC New Normal: ความปกติใหม่ของสังคมโลก
นับตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมา มีหลายสถานการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหาร นายพลอิหร่าน โดยสหรัฐ
จนทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เครื่องบินยูเครนถูกยิงตกจากความผิดพลาดของกองทัพอิหร่าน วิกฤติควันไฟป่าในออสเตรเลียที่สร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก วิกฤติฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายเมืองทั่วโลก ภูเขาไฟประทุในฟิลิปปินส์ แผ่นดินไหวในตุรกี
และปัญหาที่กลายเป็นวิกฤติระดับโลก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน และองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ไวรัส COVID-19 เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) ในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
หลังจากที่ผมได้จัดทำข้อเสนอแนะ ไปถึงท่านนายกฯเกี่ยวกับมาตรการจัดการกับวิกฤติไวรัส COVID-19 อย่างสะเด็ดน้ำ ไม่ใช่การดำเนินการแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยในระดับจุลภาค ผมมองว่า หากรัฐบาลปิดประเทศเพียงบางส่วน หรือทยอยปิด (บางพื้นที่ บางประเภทธุรกิจ บางกิจกรรม ฯลฯ) จะแก้ปัญหาไม่จบ และได้ผลเพียงชั่วคราว เพราะเชื้อโรคยังสามารถแพร่กระจายในส่วนที่ยังไม่ถูกปิด และจะย้อนกลับมาระบาดอีก เมื่อเปิดทำการ
ส่วนในระดับมหภาค ผมเสนอให้มีความร่วมมือกับประเทศทั่วโลก ในการกำหนดวันและระยะเวลาปิดเมือง ปิดภูมิภาค ปิดประเทศต่างๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อจัดการคัดกรอง กักตัว แยกผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน รวมถึงสกัดการแพร่เชื้อข้ามพื้นที่และการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะหากแต่ละประเทศต่างคนต่างทำ จะไม่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคนี้ได้ระยะเวลาอันสั้น และจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างยืดเยื้อ
ถึงกระนั้น ผมคาดการณ์ว่า สถานการณ์ COVID-19 มีความเป็นไปได้ว่า จะคงอยู่ยาวนานอาจถึง 2 ปี เพราะนอกจากประเด็นการปิดพื้นที่ระดับจุลภาคและมหภาคดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและนำวัคซีนมาใช้ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการศึกษาวิจัยและทดลองอย่างน้อย 18 เดือน หรือแม้ว่าเราสามารถจัดการภายในประเทศได้ดี แต่สถานการณ์ในประเทศอื่นทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น เราก็ย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การผลิต การค้า รวมถึงด้านการลงทุน
มากยิ่งกว่านั้น ผมขอทำนายว่าโมเดล PANDEMIC New Normal จะกลายเป็นสิ่งปกติที่อยู่กับโลกมนุษย์ ผมมองว่าในอนาคตเราอาจจะต้องอยู่กับภัยพิบัติโรคระบาดเป็นระยะๆ ตลอดไป จนกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal) ที่ทุกคนจะคุ้นเคยและเคยชิน เกิดเป็นพฤติกรรม ความสัมพันธ์ การดำเนินชีวิต และการทำงานในรูปแบบใหม่อย่างแน่นอน ทั้งนี้แม้ว่าเราสามารถจัดการกับ COVID-19 ได้ แต่เชื้อไวรัสก็อาจจะมีปรับตัว หรือกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ได้เสมอ และไวรัสอื่นๆ จากหลากแหล่งที่มักไม่อาจทราบแน่นอนมาจากที่ใดก็จะสร้างการระบาดทั่วโลกได้
New normal หรือ สถานการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์เดิมที่เกิดขึ้นในอดีต จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องในเชิงโครงสร้าง และจะกลายเป็นบริบทใหม่ของโลก หรือกล่าวได้ว่าเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ คำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ปี 2003 เพื่อพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อการร้ายในเหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี 2008 Bill Gross นักลงทุนในตราสารหนี้ชื่อดัง (bond guru) และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pacific Investment Management (PIMCO) ได้นำคำนี้มาใช้ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิม กล่าวคือ เกิดการปรับตัวของปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรเชิงลึก หรือ “Deep Parameters” ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งตัวแปรเชิงลึกเหล่านี้เปรียบเสมือนฟันเฟืองของ เครื่องจักร หรือสุขภาพของผู้คน ที่มักจะไม่เป็นที่ประจักษ์ และบ่อยครั้งอาจถูกมองข้ามไป ทว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังของผลลัพธ์ต่างๆ ในวงกว้าง
และในปี 2020 นี้ ผมขอนำคำว่า new normal มาใช้ในสถานการณ์ไวรัส COVID-19 นี้อย่างเป็นทางการ ที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป และในอนาคตเราอาจต้องใช้คำว่า new normal เพิ่มเติมกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะสงครามมิติต่าง ๆ เช่น สงครามทางทหาร สงครามการค้า สงครามสื่อ สงครามมนุษยธรรม เป็นต้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดมากขึ้นทั่วโลก
สุดท้าย ผมขอฝากให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐกิจและภาคธุรกิจต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะกลายภาวะวิกฤติได้ เพราะสถานการณ์ในเวลานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และวิกฤติที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้นหรือผ่านพ้นไป นั่นคือ วิกฤติเศรษฐกิจยิ่งใหญ่ ที่จะตามมา
หากผู้นำไม่ว่าจะหน่วยงาน องค์กร หรือภาคส่วนใด ขาดภาวะการนำอย่างชัดเจนและถูกทิศ ขาดภาวะการบริหารจัดการอย่างบูรณการมีประสิทธิสภาพ และขาดภาวะคุณธรรมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนหรือพวกพ้อง องค์กร ภาพรวมนั้นจะเผชิญความเสียหาย เกิดปัญหาเรื้อรังหลายด้านที่อาจใช้เวลาฟื้นฟูนาน หรือไม่อาจฟื้นฟูได้ดีเท่าเดิม