เลื่อนเปิดเทอม! เคอร์ฟิวปิดเทอมใหญ่ นร.-นศ.สู้โควิดต้องรอด?
เสียงสะท้อน รัฐบาลสั่งเลื่อนเปิดเทอม! เคอร์ฟิวปิดเทอมใหญ่ นร.-นศ.สู้โควิดต้องรอด?
การที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษา เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
โดยกระทรวงศึกษาธิการจะปรับวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับการศึกษา ของปีการศึกษา 2563 ศธ.จะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
ก่อนจะมีมติดังกล่าวนั้น ครม. ได้มีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ข้อ 2 ยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ข้อ 2.4 งดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย (สถาบันการศึกษา) โรงเรียน โรงเรียนนานาชาติ และสถาบันกวดวิชา หรือปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 14 วัน และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เมื่อสถานศึกษากลับมาเปิดสอนตามปกติ
และข้อ 2.6 งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก ได้แก่ ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค เช่น การตรวจคัดกรองคนก่อนเคลื่อนย้าย
2. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาเปิดและปิดภาคเรียนตามปกติในรอบปีการศึกษาหนึ่งตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ (1) ภาคเรียนที่หนึ่ง วันเปิดภาคเรียน วันที่ 16 พฤษภาคม วันปิดภาคเรียน วันที่ 11 ตุลาคม (2) ภาคเรียนที่สอง วันเปิดภาคเรียน วันที่ 1 พฤศจิกายน วันปิดภาคเรียน วันที่ 1 เมษายน ของปีถัดไป วรรคสอง สถานศึกษาใดประสงค์จะเปิดและปิดภาคเรียนแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดเป็นผู้กำหนดตามที่เห็นสมควร ดังนั้น อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 กระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควรให้มีการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง จากวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการะทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบถึงการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในเดือนพฤษภาคม ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เนื่องจากป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19
การจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2563 จะไม่มีปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนตุลาคม และเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากเปิดมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ล่าช้าไปกว่า 2 เดือนแล้ว ดังนั้นจะต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้ครบตามหลักสูตร ส่วนการรับสมัครนักเรียนม.1 และ ม.4 จะเริ่มดำเนินการรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ในเดือนพฤษภาคม แต่วิธีการจัดสอบออนไลน์ยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ยาก ดังนั้นหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงก็จะมีการจัดสอบเป็นกลุ่มเล็กๆ แทน
หลังมติ ครม. ออกมา เสียงสะท้อนในโลกโซเชียล อย่าง ทวิตเตอร์ แฮชแท็ก #เลื่อนเปิดเทอม ติดเทรนด์ความนิยม ซึ่งบางรายสะท้อนให้ฟังว่า แค่เรียน 5 วันก็เครียดแล้ว งานกลุ่ม งานคู่ งานเดี่ยว ครูสั่งงาน และกิจกรรม วันสำคัญ แข่งขันทักษะต่างๆ โครงการโครงงาน แล้วมีค่ายอีก ขอให้เห็นใจ
กรณีครูอัตราจ้าง พอปิดเทอม เงินเดือนก็ไม่ได้ มาเลื่อนเปิดไปอีก จะมีเงินที่ไหนใช้จ่าย ลงทะเบียนเงินผู้ที่ได้ผลกระทบจากโควิดก็ใช่ว่าจะได้เป็นต้น , ถามหน่อย อัดเรียน 8 เดือนแล้วถ้าไม่เลื่อนสอบให้จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือ
อย่างไรก็ตาม เข้าใจเสียงบ่นของนักเรียน นักศึกษา พ่อแม่และผู้ปกครอง แต่ความเป็นจริงในภาวะโรคระบาดรุนแรงอย่าง โควิด-19 หากปล่อยเปิดเทอม ความวุ่นวายของการเตรียมตัวของ พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน โรงเรียน มหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ ร้านค้า ขนส่งสาธารณะ รถโรงเรียน รถรับส่งนักเรียน ย่อมทำให้มาตรการ Social distancing ไร้ประโยชน์ และผลที่ตามว่ามีคนป่วยมากขึ้นจนเกินควบคุมก็ได้
ทั้งนี้ ไม่อยากจะนึกภาพเลยว่า ในห้องเรียนเด็กเล็กอนุบาลทำกิจกรรมด้วยกัน เด็กประถมวิ่งเล่นในห้อง เด็กมัธยมทำโครงงาน เด็กวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมรับน้อง ถ้ามีใครรับเชื้อโควิดไปแพร่โดยไม่รู้ตัว จะทำอย่างไร จะไม่ติดโรคร้ายทั้งสถานการศึกษาหรือ จะป้องกันเสียตอนนี้หรือปล่อยให้เกิดกรณีวัวหายแล้วล้อมคอก
แน่นอนว่า ยุคสมัยนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ทำให้การเรียนรู้ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน ใช้เวลาปิดเทอมใหญ่ในภาวะเคอร์ฟิวเตรียมตัว หรือเรียนด้วยตัวเองรอไปก่อน น่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้นักเรียนและนักศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของชาติรอดไปด้วยกัน!!