วิกฤต COVID-19 กับบรรทัดฐานใหม่ของโลก
สวัสดีครับ จากโรคไข้หวัดปริศนาที่เริ่มมีข่าวระบาดในนครอู่ฮั่นของจีนเมื่อปลายปี 2562
กลับกลายเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ซึ่งเป็นภัยลุกลามในวงกว้างขวางทั่วโลก เพียงต้นปี 2563 ก็มีผู้เสียชีวิตมากถึงหลักหมื่นและผู้ติดเชื้อหลักหลายแสน และยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน วิกฤตการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ที่เป็นการหยุดชะงักของกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (Severe Disruption) บางท่านกล่าวว่าโรคระบาดทำให้เราก้าวสู่ช่วงเวลาของการโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ (Economic Self-isolation) ขณะที่ความคิดแบบชาตินิยมกำลังมีพลังขึ้น และการล่าถอยจากกระแสโลกาภิวัฒน์แบบสุดโต่ง (Hyperglobalization) กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมอยากแบ่งปันข้อสังเกตต่อสถานการณ์นี้ในแง่ของสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลดังต่อไปนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ตั้งแต่ที่ทางการจีนได้ออกมาตรการเด็ดขาดในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ประชาชนถูกจำกัดให้อยู่ภายในที่พักตนเอง โรงงานหลายแห่งก็ต้องหยุดการผลิตเช่นกัน ทำให้ก๊าซเรือนกระจกในจีนลดลงแบบฉับพลันอย่างเห็นได้ชัดตามภาพเปรียบเทียบจากดาวเทียมของนาซ่า ซึ่งเผยให้เห็นว่าการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงเป็นอย่างมาก อีกทั้งองค์กร Carbon Brief รายงานว่าช่วงที่ผ่านมา จีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลกลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ของปริมาณปกติ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการหยุดบรรดากิจกรรมที่เผาไหม้เชื้อเพลิงในระดับประเทศสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกแบบวัดได้จริง จึงเป็นคำถามให้เราขบคิดต่อไปว่าระดับความสมดุลของการลดก๊าซเรือนกระจกควรจะอยู่ที่ใดเพื่อให้ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจหรือกิจวัตรของประชาชนจนเกินไป
ด้านสังคม (Social) ในประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างอเมริกาและอิตาลีมีบริษัทบางแห่งที่ให้พนักงานทำงานจากบ้านแทนและงดเดินทางออกมาข้างนอกเพื่อป้องกันการติดต่อโรคผ่านละอองน้ำลาย แม้อยู่กันคนละที่ แต่เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้เราสื่อสารหรือประชุมทางไกลได้ตราบที่มีเครื่องมือและสัญญาณอินเตอร์เน็ต บริษัทเครื่องสำอางชื่อดังของญี่ปุ่น ชิเซโด้ อนุญาตให้พนักงานเลิกงานเร็วขึ้นหรือใช้วันลาแบบได้รับค่าจ้างถึงสิบวันเพื่ออยู่บ้านเลี้ยงดูบุตรในขณะที่โรงเรียนต่างๆ ยังปิดอยู่ เช่นเดียวกับบริษัทในไทยที่ทราบว่ามีพนักงานติดเชื้อก็ดำเนินการแจ้งปิดสำนักงานและออกมาตรการทั้งการป้องกันพนักงานรายอื่นและการทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานที่โดยไม่รอช้า การตัดสินใจหยุดพักการปฏิบัติการของบริษัทในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันเช่นนี้อาจนับได้ว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทเอกชนยินยอมพร้อมใจทำแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งนี้เรายังได้เห็นจิตสำนึกรับผิดชอบระดับบุคคลที่ร่วมปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน
ด้านธรรมาภิบาล (Governance) บทเรียนสำคัญที่เราได้จากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้คือความโปร่งใสและความฉับไวในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐสู่ประชาชนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะลดการแพร่กระจายเชื้อโรคและนำพาประเทศให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ แม้ผู้คนต่างกักตัวอยู่ในที่อยู่อาศัยของตัวเอง แต่ทางการก็สามารถส่งข่าวสารถึงประชาชนอย่างทั่วถึงด้วยช่องทางเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ไต้หวันในฐานะประเทศที่ผ่านเหตุการณ์โรค SARS มาก่อนก็มีศักยภาพในการรับมือ COVID-19 ซึ่งมีลักษณะแพร่กระจายเชื้อคล้ายกัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ออเดรย์ ถัง ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาออนไลน์แพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข้อมูลสถานที่จำหน่ายหน้ากากแก่ประชาชนแบบเรียลไทม์ มีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อตามจริงต่อทั้งชาวไต้หวันเองและชาวต่างชาติ ส่วนสิงคโปร์ซึ่งมีประสบการณ์เคยจัดการกับไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ก็มีคณะทำงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงานรัฐ มีการประสานงานกันสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าวิกฤตการณ์ใดๆ ย่อมมีผลที่ตามมาในหลากหลายมิติเสมอ การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบซึ่งเราสามารถถอดเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่สามารถคาดการณ์ได้ในอนาคต แต่ผมยังเห็นด้วยกับข้อสังเกตที่ว่าวิกฤตครั้งนี้ก่อให้เกิดแรงผลักดันมหาศาลในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ในหลายๆ ด้าน และเป็นครั้งแรกที่โลกทั้งโลกร่วมต่อสู้กับสิ่งเดียวกัน เรายังเห็นพลังความร่วมมือจากมวลชนท่ามกลางวิกฤต เราได้เรียนรู้ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อปรับปรุงข้อจำกัดในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงจุดอ่อนและจุดแข็งในด้านดิจิทัลที่มีบทบาทอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน และได้พัฒนาขีดความสามารถในแง่ของการพึ่งพาตนเอง ขณะเดียวกันในระดับบุคคล เราเรียนรู้ที่จะมีสุขอนามัยที่ถูกต้อง รวมถึงการทำงานที่บ้านที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบให้กับอนาคตการทำงานในยุคดิจิทัลต่อไปครับ