เศรษฐกิจในมุมมองของ “เจนวาย” คนหนึ่ง
ตอนเด็กๆ มีโฆษณาตัวหนึ่งที่เคยฉายบนทีวี มันมีเพลงที่ร้องติดหูว่า “เงินกำลังจะหมุนไป กำลังจะหมุนไป ให้ชุมชน”
โฆษณาตัวนั้นผมมารู้อีกทีว่าเป็นโฆษณาของธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2543 เป็นโฆษณาที่มีความยาวทั้งหมด 2 นาที พูดถึงเงินก้อนๆ หนึ่ง ที่ธนาคารกรุงไทยได้มอบให้กับเจ้าของธุรกิจในอนาคตที่มาขอกู้เพื่อสร้างโรงงานปลากระป๋องขึ้นมา หลังจากนั้นเขาก็จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมา และส่งทอดต่อไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่จนกลับมาที่เด็กผู้หญิง ลูกเจ้าของสวนผัก กลับมาซื้อปลากระป๋องที่ร้านโชห่วยแห่งหนึ่ง สุดท้ายเงินก็กลับมาที่เจ้าของโรงงานปลากระป๋องอีกที
สมัยนั้น ผมไม่เข้าใจเลยว่าทำไมถึงทุกคนถึงได้ของที่ตัวเองต้องการ ทั้งๆ ที่เหมือนจะไม่ได้จ่ายเงินสักบาทเลย ผมสงสัยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แต่สมัยก่อนเนื่องจากว่าไม่ได้มีเว็บไซต์อย่าง YouTube เลยไม่สามารถเปิดดูโฆษณานี้ได้อีกครั้ง ตอนนั้นคิดกับตัวเองไว้ว่าถ้าวัฏจักรของเศรษฐกิจเป็นแบบนั้นจริงๆ คงจะดีมากๆ เลย เพราะทุกคนได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ปัญหาที่ผมเห็นตั้งแต่เด็กตอนนั้นคือ ถ้ามีใครเก็บเงินแม้แต่คนเดียว วงจรนี้จะล่มทันที ซึ่งในสมัยนั้นถ้ามองย้อนกลับไปตอนปี 2543 ผมก็อายุประมาณ 7 ขวบ คุณแม่สอนให้ผมเก็บเงิน เอาเงินใส่กระปุกออมสิน ตอน 7 ขวบผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ผมได้เงินไปโรงเรียน 30 บาทต่อวัน ผมเหลือเงินเก็บจากการไปโรงเรียนวันละ 10 บาท ดังนั้นถ้าผมเก็บเงิน 10 บาทนี้และไม่ไปซื้อของเล่นที่ตัวเองต้องการ หรือไม่กินโค้กเย็นๆ ในถุงน้ำแข็งเพิ่มอีกแก้ว เงินของผมก็จะไม่ได้ไปทั่วชุมชนแล้ว
พอโตขึ้นมาได้มีโอกาสเรียนเศรษฐศาสตร์ตอนมัธยม ตอนที่ผมเรียน นอกจาก Supply กับ Demand ที่ผมพอจะจำได้ก็มีคำว่า Inflation นี่แหละครับที่ผมจำได้ เพราะผมไม่ชอบคำนี้เลย เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นจากคำๆ นี้ ทองแพงขึ้น น้ำมันก็แพง มันเหมือนกับว่าเราต้องหาเงินให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ทันกับเงินเฟ้อตัวนี้ ผมก็เลยรู้สึกว่าถ้าต้องหาเงินให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องขยันและเหนื่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิครับ
มาถึงตอนนี้ ปี 2563 นี่แหละเกิดเหตุการณ์สงครามน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับทางรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 20 ปีเลยก็ว่าได้ พอราคาน้ำมันต่ำลงขนาดนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคที่อิงกับราคาน้ำมันก็ต่ำลงตาม ซึ่งมันน่าจะเป็นเรื่องดีของเศรษฐกิจแต่กลับไม่ใช่ครับ ยกตัวอย่าง สมมติว่าผมเองต้องการ MacBook Pro ตัวใหม่ ผมเองก็อยากที่จะรออีกสักพักเผื่อราคาของตัวเครื่องจะลงมากไปกว่านี้ เพราะตอนนี้ที่ Apple ออกสินค้ามาในปีนี้ทั้งหมดราคาถูกลงกว่าสมัยก่อนทั้งหมดเลย ทั้ง MacBook Air iPad และ iPhone SE เรื่องนี้มันดีกับผู้บริโภคอย่างเรา แต่กลับไม่ดีกับบริษัท Apple เพราะว่ามันจะทำให้เขาต้องทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตถูกลง หรือ แม้กระทั่งลดเงินเดือนพนักงาน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ที่ทั่วโลก
เมื่อถึงตอนนั้นเอง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การลดดอกเบี้ยลงเพื่อขยายเศรษฐกิจ สิ่งที่มันน่ากลัวก็คือ ตอนนี้ธนาคารกลางของสหรัฐเอง ไม่มีดอกเบี้ยให้ลดแล้ว คือ ดอกเบี้ยกลายเป็น 0% ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ภาครัฐก็ต้องใช้วิธีอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น พิมพ์เงินสดออกมามากขึ้น หรือ แจกเงินให้กับผู้บริโภค ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศกำลังทำกันอยู่ครับ เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง เมื่อคนรู้สึกว่าเขาจนลง เขาก็จะจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง ดังนั้น นี่เลยเป็นสิ่งที่ไม่ดีของเศรษฐกิจ ถ้าเรามองย้อนกันมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยในแต่ละยุค ก็จะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการให้เราไปใช้จ่ายให้กับร้านค้าของ SMEs อย่างเช่น โครงการธงฟ้า ชิมช้อปใช้ และช้อปช่วยชาติ ซึ่งมีขึ้นมาทุกปีจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
แต่สมมติเปลี่ยนใหม่... เป็นเศรษฐกิจดีขึ้น คนหาเช้ากินค่ำมีรายได้กันมากขึ้น จับจ่ายใช้สอยกันสะดวกสบาย ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้น เมื่อเกิดเงินเฟ้อมากขึ้น ภาวะฟองสบู่ก็เกิดขึ้นตามมา คือสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเป็นที่ต้องการของคน อย่างบ้าน คอนโด เป็นต้น พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้เมื่อคนใช้จ่ายใช้สอยกันไม่ไหว หรือสินค้าเริ่มที่จะแพงเกินไป ก็เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเกิดขึ้น คราวนี้ราคาบ้าน คอนโด ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบจนเจ้าของเริ่มจ่ายหนี้คืนธนาคารไม่ไหว หลังจากพอจ่ายไม่ได้ก็เกิดหนี้เสียลูกใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารจะล้มตามไปด้วย รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วยอุ้มเหมือนตอนวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่ผ่านมา
คำถามสำคัญ แล้วเศรษฐกิจที่ดีที่แท้จริงเหมือนกับโฆษณาของธนาคารกรุงไทยมีจริงๆ หรือ ที่ทุกคนได้สิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องออกเงินของตัวเองสักบาทเลย เราสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินซับซ้อนเกินไปไหม เรามีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่ยุ่งยากเกินไปหรือเปล่า เราจำเป็นที่จะต้องพิมพ์เงินออกมาเพียงแค่ไม่ให้ระบบและวัฏจักรพังลงจริงๆ หรือ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญที่จะไม่ได้มีผลเพียงแค่ส่วนบุคคล แต่มีผลถึงส่วนรวมด้วย เพราะว่าการตัดสินใจในอนาคตของธนาคารกลางของสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป และ ธนาคารกลางของญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม แต่จะส่งผลกระทบกับคนทุกชนชั้นทั่วโลกอย่างแน่นอนครับ
โดย...
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
นักวิชาการอิสระ
www.facebook.com/KakaMan22