โจชู/จังหวัดยามางูจิ
จังหวัดยามางูจิ สำคัญอย่างไร? จังหวัดนี้เป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึง 8 คนจากทั้งหมด 62 คนหรือ 16 สมัยจากทั้งหมด 98 สมัย
ซึ่งอาจจะดูไม่มาก แต่ถ้าหากเทียบเป็นจำนวนวันที่อยู่ในตำแหน่งแล้ว นายกรัฐมนตรีจากจังหวัดยามางูจิครอบคลุมถึง 31% ทีเดียว
จังหวัดยามางูจิ มีวิวัฒนาการมาจากแคว้นหนึ่งในสมัยสงครามกลางเมือง (เซนโงขุยิได/戦国時代) ที่มีโมริ โมโตนาริเป็นไดเมียว (大名) ในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีด แคว้นนี้ครอบคลุมอาณาบริเวณเมือง 10 แห่งทางตะวันตกเกาะฮอนชูและด้านเหนือของเกาะกิวชิว ในช่วงที่ โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ เป็นโชกุน โมริ เทรุโมโต (毛利輝元) เจ้าแคว้นขณะนั้นสวามิภักดิ์โดยมีศักดินา 1.12 ล้านโคขุหรือ 4,740 เกวียน ในปลายสมัยฮิเดโยชิ มีสถานะเป็น 1 ใน 5 ผู้อาวุโส ดังนั้นในคราวสงครามเซกิงะฮารา (関ヶ原) ที่โทกุงาวา อิเอยาสุ ต้องการช่วงชิงตำแหน่งโชกุน เทรุโมโต คือผู้อยู่เบื้องหลัง อิชิดะ มิทสึนาริ (石田三成) ตัวจริงให้เข้ารบกับโทกุงาวา อิเอยาสุ
หลังสงคราม ตระกูลโมริเป็นฝ่ายแพ้ จึงถูกลดศักดินาลงเหลือ 1,560 เกวียนหรือ 369,411 โคขุ และจะต้องย้ายที่ทำการแคว้นไปที่เมืองใหม่ชื่อ ฮางิ(萩) แทนที่จะเป็นเมืองเดิมที่เคยใช้อยู่ที่ นางาโตะหรือโฮฝุ(長門/防府) โมริ เทรุโมโตจึงเป็นต้นตระกูลที่ตั้งเมืองที่ฮางิและเรียกแคว้นตนเองว่า โจชูฮัง(長州藩) ซึ่งหมายถึงดินแดนที่มีเมืองนางาโตะเป็นหลัก ในระบบแคว้นของญี่ปุ่น เจ้าแคว้นจะแต่งตั้งลูกหลานไปครองเมืองต่างๆ ภายในแคว้น เช่น เมืองโฮฝุ ที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองยามางูจิปัจจุบัน ก็คือเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นญาติกัน แต่ถูกตีและยึดให้มาอยู่ภายในแคว้นเดียวกันอีก
ชิโมโนเซกิ(下関) ที่อยู่ปลายสุดทางใต้ของเกาะฮอนชู เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของจังหวัดยามางูจิในปัจจุบัน ในยุคเซนโงขุ เมืองนี้ขึ้นตรงต่อเจ้าแคว้น เนื่องจากเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้ควบคุมดินแดนทางเหนือของเกาะกิวชิวที่อยู่ภายใต้อำนาจ เมืองนี้ยังควบคุมเส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลญี่ปุ่นกับทะเลเซโตะ จึงมีความเจริญรุ่งเรืองจากการค้าขายและทำให้แคว้นโจชูมีความมั่งคั่งพอที่จะท้าทายโชกุนโทกุงาวาในปลายสมัยเอโดะได้
แคว้นโจชูเองมีสินค้าสีขาวที่สำคัญอยู่ 4 อย่างคือ ข้าวสาร กระดาษ เกลือและเทียนไข ส่วนเมืองชิโมโนเซกิ เป็นช่องทางค้าขายกับต่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องผิดกฏหมายในสมัยเอโดะ อาวุธสมัยใหม่จำนวนมากที่ใช้ท้าทายโทกุงาวาได้ ก็มาจากช่องทางนี้
ในปี 1863 หรือ รัชสมัยบุงคิว (文久) ปีที่ 3 โจชูปิดช่องแคบชิโมโนเซกิและใช้ปืนใหญ่ถล่มเรือรบต่างชาติ จึงถูกเรือรบต่างชาติถล่มกลับจนพ่ายแพ้ราบคาบ
เมืองฮางิ อันเป็นที่ตั้งแคว้นภายหลังสงครามเซกิงะฮารา เป็นดินดอนสามเหลี่ยมที่ล้อมรอบด้วยทะเลกับแม่น้ำมัทสึโมโต และฮาชิโมโต ที่แตกออกมาจากแม่น้ำอาบุ ตัวเมืองจึงเปรียบเสมือนมีสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติที่ใช้ป้องกันศัตรูภายนอกได้ (ดังรูปข้างล่าง)