เปิดเมือง ผ่อนล็อกดาวน์ หากแพร่เชื้อ ใครจะรับผิดชอบ?
ต้องยอมรับว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ยังสวิงไปมาขึ้นลง ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ
ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะพอ เคอร์ฟิวน่าจะพอ การประกาศปิดสถานที่เสี่ยงหรือล็อกดาวน์ น่าจะพอ
ถึงเวลาผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการเปิดบริการได้แล้ว
แรงกดดันมาจากทุกด้าน ทั้งด้านนอก ส.ส.ฝ่ายค้าน นักธุรกิจเจ้าของกิจการ ส่วนด้านในก็ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองบีบ
นายกฯลุงตู่ จะตัดสินใจอย่างไร เพราะการปิดเมือง หากไม่มีอะไรรองรับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนตกงาน พวกเขาก็จะอดตาย
แต่หากเปิดเมืองแล้ว เอาไม่อยู่ คนไทยไม่รับผิดชอบและไม่มีระเบียบวินัย จะนำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่
ใครจะรับผิดชอบ?
ความจริงจะต้องมีการนำข้อมูลมาชั่งน้ำหนักให้ดีว่า อย่างไหนที่สามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่เสี่ยงว่าจะมีการแพร่เชื้อ
มีความเห็นจากหมอทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า เจ้าโควิดนี่จะไม่หายไปจากโลกนี้ง่ายๆ นับวันมันยิ่งจะกลายพันธุ์และพัฒนาตนเองไปยิ่งขึ้น
ประกอบกับโลกวันนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนเพื่อมาปราบไวรัสร้ายตัวนี้ ดังนั้นการที่เราเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงนั้น เพราะว่ามีการควบคุมการเคลื่อนไหวของคน
อย่าลืมว่าไวรัสมันไม่มีขา เดินไปมาเองไม่ได้ คนคือพาหะที่นำไวรัสไปสู่คน คนคือตัวนำที่พาเชื้อแพร่กระจาย หากตรึงคนให้อยู่กับที่ ไวรัสมันก็ไม่มีพาหะที่จะนำไปติดคนอื่นได้
ประเด็นต่อมา จำนวนคนป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้มีจำนวนตัวเลขที่น่าพอใจนั้น เพราะว่าหมอไทยเก่ง ใช้สูตรจิปาถะ ลองผิดลองถูกในการรักษา ประกอบกับผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง
ดังนั้นจะมาบอกว่าเรารักษาได้ เราเอาอยู่ เปิดเมืองเลย นั้นไม่ได้
รัฐบาลโดยศบค. จะเป็นคนสรุปว่าอะไรควรเปิด อะไรควรปล่อย เพราะอย่าลืมว่า แนวคิดในการเปิดเมืองนั้น มาพร้อมกับเรื่องการเมืองกลายๆ เพราะหากมีการผ่อนคลาย ผ่อนกฎ จะมีคนบอกว่า งั้นปกติแล้ว เมื่อปกติ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่จำเป็นสินะ งั้นเลิกไม่ต้องต่อ
เพราะนักการเมืองบางคนทั้งในรัฐบาลและนอกรัฐบาลต่างเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอุปสรรคในการเล่นการเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเสมือนการ “ปฏิวัติเงียบ” ยึดอำนาจอีกครั้งของนายกฯลุงตู่
ฝ่ายค้านและพรรคร่วมบางคนจึงไม่พอใจ เพราะไม่มีอำนาจอะไรเลย จึงอยากให้สถานการณ์ฉุกเฉินมันจบลง โดยไม่ต้องต่อพ.ร.ก.ออกไปอีก
นายกฯลุงตู่ ก็คงรู้ว่าฝ่ายที่ต้องการให้เปิดนั้นคิดอะไรอยู่
โดยเฉพาะเมื่อนายกฯรวบเอาอำนาจการจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุขมาไว้ที่นายกฯเอง ก็ยิ่งทำให้ปั่นป่วนกันมากทีเดียว
แต่วิธีการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ มันเหมือน นายกฯมีมาตรา 44 กลับมาคืนชีพอยู่ในมืออีกครั้ง ก็เลยทำให้สบายมือหน่อย
หนึ่งสภายังไม่เปิด สองพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเสมือนเงา รัฐมนตรีเงา รองนายกฯเงา เพราะคนมีอำนาจคือนายกฯกับปลัดกระทรวงฯเท่านั้น
ก็ไม่ต่างจากการปฏิวัติ การใช้อำนาจรัฐถาธิปัตย์เท่าไหร่
ดังนั้นกระแสและแรงกดดันให้ “เปิดเมือง” จึงไม่ใช่เพียงแต่เรื่อง “สุขภาพ” แต่มันคือ “อำนาจ” ของพรรคร่วมที่หายไป จะกลับคืนมา
โดยไม่คำนึงว่า สุขภาพของประชาชนจะเป็นอย่างไร แล้วสิ่งที่หมอต่อสู้มาก็จะสูญเปล่า