Windows และ Mac OS ระบบปฏิบัติการไหนแพตช์ได้ไวกว่ากัน
ต้องปลูกฝังนิสัยให้ผู้ใช้งานหมั่นสำรวจว่ามีแพตช์ใหม่อัพเดทออกมาหรือไม่
ทุกระบบปฏิบัติการย่อมมีช่องโหว่ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือผู้ใช้งานอย่างเราต้องหมั่นอัพเดทแพตช์ (Patch) ที่ออกมาปิดช่องโหว่ให้ทันท่วงทีเสมอ แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีช่องโหว่แล้ว แต่แพตช์กลับยังไม่ถูกปล่อยออกมาจากเจ้าของระบบปฏิบัติการ แค่ลองคิดดูก็เสี่ยงอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะเท่ากับว่าเรารู้ตัวว่ามีช่องโหว่ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
นี่จึงเป็นที่มาของการสำรวจที่จะเปิดเผยว่าระหว่าง Microsoft Windows และ Mac OS ระบบใดจะสามารถปล่อยแพตช์ออกมาปิดจุดอ่อนของตนเองได้ไวกว่ากัน และระบบใดมีช่องโหว่มากกว่ากัน
สถาบัน Cyentia องค์กรทางด้านการบริหารจัดการช่องโหว่ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 450 องค์กรและทรัพย์สิน 9 ล้านเครื่อง และเปิดเผยว่า อุปกรณ์ที่มีช่องโหว่จำนวนน้อยมีการอุดช่องโหว่จากทางผู้ผลิตช้ากว่าอุปกรณ์ที่มีช่องโหว่จำนวนมากกว่า ตัวอย่างเช่น เครื่องที่เป็นระบบ Microsoft Windows นั้นถูกพบว่าค่าเฉลี่ยของช่องโหว่มีประมาณ 119 ช่องโหว่ต่อเดือน มากกว่าที่พบในระบบ Mac OS X(32) และมากกว่าอุปกรณ์เน็ตเวิร์คถึง 30 เท่า
อย่างไรก็ดี ช่องโหว่ที่พบบน Microsoft Windows นั้นถูกแพตช์อุดช่องโหว่อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเฉลี่ย 36 วัน ส่วนอุปกรณ์เน็ตเวิร์คอย่าง เราท์เตอร์ ปรินเตอร์ หรือ อุปกรณ์ไอโอทีใช้เวลาประมาณ 369 วัน
นอกจากนี้ยังพบว่าอุปกรณ์ของ Apple ใช้เวลาประมาณ 70 วันในการปล่อยแพตช์เพื่ออุดช่องโหว่สำหรับอุปกรณ์ Mac OS X ซึ่งถือว่าใช้เวลาเป็นสองเท่าของระบบของ Microsoft ส่วนอุปกรณ์ Linux และ Unix ใช้เวลาประมาณ 254 วัน ส่วน Microsoft นั้นพบว่ามีช่องโหว่ระดับร้ายแรงประมาณ 83% ขณะที่ Mac OS X นั้นตามมาเป็นลำดับสองที่ 79% ต่อด้วยอุปกรณ์ทางด้านเน็ตเวิร์ค 64% และท้ายสุดที่ Linux 63%
ทั้งนี้ นักวิจัยพบ 215 ล้านช่องโหว่บนอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft และถึงแม้ว่า 179 ล้านช่องโหว่จะถูกอุดช่องโหว่แล้ว แต่ที่เหลืออีก 36 ล้านช่องโหว่นั้นยังคงมีจำนวนมากกว่าผลรวมของอุปกรณ์ที่อุดช่องโหว่แล้ว และที่ยังไม่อุดช่องโหว่ของอุปกรณ์ Mac, Linux, Unix และอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหมดนำมารวมกัน
โดยจากผลสำรวจของ Kenna Security ยังพบว่าช่องโหว่ที่ถูกพบบนระบบปฏิบัติการของ Microsoft Windows นั้นมีมากกว่าระบบ Mac OS X ถึง 4 เท่า แต่ระบบปฏิบัติการ Window นั้นมีข้อดีคือสามารถอุดช่องโหว่ของระบบ ได้รวดเร็วกว่า เพราะ Microsoft จะมีการอัพเดทช่องโหว่ของระบบทุกๆวันอังคาร ในส่วนของอุปกรณ์ทางด้านระบบเน็ตเวิร์คอย่าง เราท์เตอร์ และปรินเตอร์นั้นมีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากมีวงจรชีวิตของตัวผลิตภัณฑ์ที่นานกว่า ดังนั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการลดความเสี่ยงโดยการบริหารจัดการความสามารถในการอุดช่องโหว่ให้ดียิ่งขึ้น
จากผลสำรวจทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้หลายๆท่านสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องเลือกระบบปฏิบัติการที่จะใช้ในอนาคต ยิ่งในส่วนขององค์กรที่ต้องซื้ออุปกรณ์มาคราวละมากๆและใช้เป็นระยะเวลานานๆ เมื่อเลือกใช้ระบบปฏิบัติการใดแล้ว ก็อย่าลืมปลูกฝังนิสัยของผู้ใช้งานให้หมั่นสำรวจว่ามีแพตช์ใหม่อัพเดทออกมาหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและองค์กรครับ