จะข้ามล็อกดาวน์และเร่งแก้ปากท้องอย่างไร

จะข้ามล็อกดาวน์และเร่งแก้ปากท้องอย่างไร

ทันทีที่มีข่าวว่ารัฐบาลมีแผนคลายล็อกดาวน์ในวันที่ 3 พ.ค.สำหรับบางกิจกรรม และจะต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน

โดยไม่เลื่อนวันหยุดเทศกาลในเดือนพฤษภาคม ก็มีประชาชนจำนวนมากพากันทยอยเดินทางออกไปต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

บางกลุ่มก็ถือเป็นการเดินทางไปพักผ่อนท่องเที่ยวในต่างจังหวัด เพราะอั้นมานานตั้งแต่ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ถูกเลื่อนออกไปแต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพราะไม่มีงานทำในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อเห็นว่าภาครัฐได้ประกาศขยาย พรก. ฉุกเฉินต่อไปอีกหนึ่งเดือน จึงได้รีบเดินทางกลับบ้านเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่ากินอยู่และค่าที่พักเพราะขาดรายได้จากการทำงาน

การที่มีผู้คนเดินทางข้ามจังหวัดพร้อมกันจำนวนมากนี้ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้มีผู้ติดเชื้อใหม่มากขึ้น และอาจมีผลต่อการเลื่อนระยะเวลาคลายล็อกในขั้นต่อไป เพราะ ศบค. ได้แถลงแล้วว่าหลังจากการคลายล็อกแล้ว 14 วันก็จะประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ หากมีมากขึ้นก็จะกลับไปล็อกใหม่แต่หากน้อยลงก็จะคลายมาตรการเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้การล็อกดาวน์ที่ผ่านมาจะสามารถคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ให้ลดลงได้สำเร็จจนเหลือต่ำกว่าหลักสิบติดต่อกันหลายวัน แต่ก็ได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและปัญหาคนตกงานที่ลุกลามไปทั่วจนกลายเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องคลายล็อกให้กับบางกิจกรรมก่อน แม้ว่ากลุ่มที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขได้ออกมาเตือนเรื่องความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโรคกลับมาระบาดใหม่เป็นครั้งที่สอง จนอาจกลายเป็นสาเหตุทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยกลายเป็นรูปตัว “W” ในที่สุดก็ตาม

แต่ความกลัวเรื่องการกลับมาแพร่ระบาดในรอบใหม่นี้ก็ลดน้อยลงไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่มีการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้ปรับพฤติกรรมใหม่และคุ้นเคยกับการป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากและล้างมือกันสม่ำเสมอจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันไปแล้วปัญหาที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ จึงกลับกลายเป็นเรื่องปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ไม่สามารถทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ เศรษฐกิจไทยจึงเสี่ยงที่จะฟื้นตัวยากแบบรูปตัว “L” หางยาวมากกว่า

แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้คนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์จำนวนมากก็ตาม แต่ก็ทำได้แค่ประคองเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น เพราะเพียงไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบแรงจากการหดตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมเนื่องจากการปิดประเทศ รวมทั้งการหยุดชะงักของธุรกิจการบินและการขนส่งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก และยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองก็จะยิ่งชะลอตัวมากขึ้นอันเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์และการหยุดกิจการของโรงงานภาคการผลิตและผู้ประกอบการในภาคบริการจำนวนมาก

ในทางการเมืองแล้ว การที่รัฐบาลจะกลับไปล็อกดาวน์ในแบบที่ผ่านมาหลังจากที่ได้คลายล็อกรอบแรกไปแล้วนั้นจึงเป็นไปได้ยากมากเพราะแม้ว่าจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นก่อนจะถึงวันคลายล็อกรอบที่สองก็ตาม รัฐบาลก็น่าจะเลือกคุมเข้มเฉพาะบางจังหวัดที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนจังหวัดอื่นก็น่าจะต้องคลายล็อกรอบที่สองได้ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจต้องบอบช้ำมากไปกว่านี้ ซึ่งการปิดบางจังหวัดก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะรัฐบาลได้ประกาศเพิ่มมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว

ดังนั้น ประเด็นสำคัญกว่าก็คือการมองข้ามล็อกรอบสอง และประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก

เพราะแรงงานที่ตกงานจำนวนมากจนต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดนั้น ก็ใช่ว่าจะพึ่งภาคเกษตรกรรมให้ทำหน้าที่ดูดซับแรงงานส่วนเกินได้เหมือนกับเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 เพราะนอกจากภาคเกษตรกรรมไทยจะมีขนาดเล็กลงกว่าในอดีต ก็ยังเจอกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ขณะที่ภาคส่งออกซึ่งรวมถึงการส่งออกผลผลิตจากภาคเกษตรก็ถูกกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ชาวนาก็ตระหนักถึงความไม่แน่นอนในอนาคต จึงมีข่าวว่าในปีนี้ มีชาวนาจำนวนมากเลือกที่จะขายข้าวเปลือกของตนออกไปน้อยกว่าปีก่อน ๆ แม้ว่าราคาข้าวเปลือกจะขยับตัวสูงขึ้นก็ตามทั้งนี้ก็เพราะชาวนาเลือกที่จะเก็บข้าวไว้กินเองเพราะกังวลกับภาวะข้าวยากหมากแพงในอนาคต บวกกับปัญหาเรื่องลูกหลานต้องตกงานจนสูญเสียรายได้และต้องกลับมาอยู่บ้านนอกกันมากขึ้นในยามนี้

แม้ภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวน 3 งวดก็ตาม แต่ความช่วยเหลือเหล่านี้ก็อาจไม่ทั่วถึงและเพียงพอกับครอบครัวเกษตรกรที่มักมีภาระหนี้สินเดิมอยู่แล้ว ต้องมาเจอกับภัยแล้ง ในขณะที่ลูกหลานที่เคยส่งเงินกลับบ้านกลับต้องมาตกงานในเวลานี้อีกด้วย

ที่ผ่านมา สถานบันการเงินชุมชน เช่น ธนาคารตำบลและกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชนต่าง ๆเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสการออมและการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดนี้ หลายแห่งก็ได้ร่วมใจกันต้านภัยชุมชนด้วยการผลิตหน้ากากผ้าและเจลล้างมือแจกจ่ายให้กับสมาชิกแต่สถาบันการเงินชุมชนที่มีการบริหารงานด้วยระบบธรรมภิบาลที่ดีในการช่วยเหลือสมาชิกและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ก็อาจถูกผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ไม่มากก็น้อย

ภาครัฐจึงควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินชุมชนที่ดีให้มีความเข้มแข็งทางการเงินในยามที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ด้วย ซึ่งก็อาจทำผ่านระบบธนาคารของรัฐ   เช่น ธกส. ที่รู้จักคุ้นเคยกับชาวบ้านและชุมชนที่มีประวัติการบริหารการเงินที่ดีแล้วพิจารณาจัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจที่มีอายุไม่เกินสิ้นปีนี้ มาช่วยสถาบันการเงินขุมชนที่เข้มแข็งแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องเพราะวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งนี้กองทุนนี้ก็จะคิดดอกเบี้ยในการให้กู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้นนี้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด เพื่อให้กองทุนเฉพาะกิจนี้ทำหน้าที่เป็นเพียงที่พึ่งสุดท้ายของสถาบันการเงินชุมชนที่ดีและมีธรรมภิบาลเท่านั้น และให้ภาครัฐตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านตลาดเงิน ผู้ตรวจสอบ และปราชญ์ชาวบ้านบางส่วนมากลั่นกรองเรื่องการอนุมัติความช่วยเหลือให้โปร่งใสและเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่เคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตมิชอบ

ทั้งนี้ภาครัฐอาจใช้เงินบางส่วนจากเงินกู้จำนวน 4 แสนล้านบาทที่ได้กันไว้กระตุ้นเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้ไม่มากหรืออาจไม่จำเป็นต้องใช้เลย เพราะกองทุนนี้จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นการช่วยเหลือแบบนี้ก็จะเป็นไปตามหลักการเดียวกันกับที่ภาครัฐได้ยื่นมือเข้าช่วยแก้ปัญหาเรื่องหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ของบริษัทที่มีผลประกอบการดีนั่นเอง ซึ่งการกลับมาฟื้นตัวได้เข้มแข็งของเกษตรกรชาวบ้าน และสถาบันการเงินชุมชนที่ดี ย่อมจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับเป็นรูปตัว “U”ได้เช่นกัน

โดย...

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
กนิษฐา หลิน
กลุ่ม นโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล