จากทางเลือก สู่ทางรอด เป็นทางหลัก
มีนักคิด นักเขียน และนักวิชาการหลายคนเรียกช่วงเวลาก่อนปี 2020 ว่าเป็นยุค Pre-COVID-19 ยุคที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติใหญ่จากธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ Tsunami ที่ญี่ปุ่น ฝุ่นพิษจากไฟไหม้ป่าที่มักเกิดเป็นประจำในอาเซียน น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยและในบางประเทศในโลก และพายุที่เกิดในสหรัฐ จนถึงขั้นต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หยุดการทำงาน และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคม ที่สำคัญส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการผลิตในอุตสาหกรรมใหญ่หลายประเภทที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากหลากหลายแหล่งนำมาประกอบเข้าด้วยกัน (Assembly) การขาดชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้นไม่ว่าจากการผลิตได้แต่ขนส่งไม่ได้ หรือหนักกว่านั้นคือไม่สามารถผลิตได้เลย อันด้วยเหตุผลเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจในอดีต แต่หลังจากเหตุการณ์ใหญ่นั้นผ่านพ้นไป มีเพียงส่วนน้อยที่นำบทเรียนนั้นหันมาปรับตัวเองให้เข้ากับบริบทใหม่ นำเหตุการณ์และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมากำหนดเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) หากแต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเหมือนเดิม
แม้ว่าภัยจากโรคระบาดจะเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง โดยเฉพาะจากไวรัสที่กลายพันธุ์และก่อให้เกิดอาการป่วยไข้และล้มตายอันเนื่องมาจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพทย์ก็ไม่สามารถเข้าใจในอาการและแนวทางการหยุดยั้งเชื้อ กว่าจะค้นพบแนวทางรักษาและคิดค้นวัคซีนมาป้องกันได้ก็ต้องใช้เวลานานนับปี แต่ที่ผ่านมาก็ยังเป็นการระบาดในวงจำกัด การควบคุมพื้นที่แพร่ระบาดทำได้ง่ายและควบคุมได้เร็วทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก อีกทั้งเชื้อเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน แต่เราควบคุมดูแลและป้องกันได้ในที่สุด และกลายเป็นโรคประจำถิ่นทั่วไป เหมือนกับที่เราหลายคนต่างไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้
แต่สำหรับครั้งนี้ที่โคโรน่าไวรัสที่ได้รับการเรียกใหม่ว่า COVID-19 มีระยะการซ่อนตัวไม่แสดงอาการของผู้ติดเชื้อ ที่สำคัญมันแฝงไปกับผู้คนในยุคที่โลกไร้พรมแดน ทุกคนเดินทางท่องเที่ยวและทำธุรกิจเข้าออกไปมากันทั่วโลก ทำให้เชื้อดังกล่าวแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วส่งผลให้เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการใช้ชีวิตของคนในโลกนี้ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ จากจุดกำเนิดแรกในอู่ฮั่น ประเทศจีน ไปสู่แหล่งแพร่ระบาดใหม่ในยุโรป และกำลังระบาดหนักในปัจจุบันที่สหรัฐ ถ้าจะมีโชคดีอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นการที่มันมาเกิดหลังจากที่โลกนี้ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล จากเหตุการณ์ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นมาหลายปีติดต่อกัน จนทำให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการค้า ตลอดจนการใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่ เริ่มขยับปรับเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่มีดิจิทัลเข้ามาสอดแทรกแทนระบบเดิมมาประมาณหนึ่ง
แต่ในช่วงเวลาที่เชื้อกำลังแพร่ระบาด (In the Period of COVID-19 pandemic) ผลของมันกำลังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ จากเดิมที่คำว่า Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านสิ่งต่างๆด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสนใจและตื่นตัวแล้วก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงยังเป็นไปในแบบเชื่องช้า คงมีแต่บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นที่ลงทุนและให้ความสำคัญอย่างจริงจัง พร้อมๆกับการเร่งมือเพื่อสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมขึ้นในองค์กร แต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็น SMEs แม้ว่าจะเห็นว่าดิจิทัลกำลังเข้ามาแทนที่หลายส่วนในการผลิต การบริการ และการติดต่อทำธุรกรรมทางการค้า ด้วยข้อจำกัดที่มากเป็นผลให้ยังลังเลและไม่กล้าลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเอง ตัวอย่างง่ายสุดคือ ธุรกิจอาหาร ที่ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนขยับปรับตัวมีระบบส่งถึงบ้านและส่งนอกร้านแล้วก็ตาม แต่มักเกิดกับร้านค้าแบรนด์ดังที่มีสาขากระจายตัวทั่วไป หากแต่ร้านอาหารมากกว่า 90% ยังพึ่งพิงการเดินทางมานั่งรับประทานกันในร้าน
แต่หลังจากนี้ที่หลายคนคาดการณ์กันว่าเป็นยุค Post-COVID-19 ระบบการสั่งอาหารแบบออนไลน์ การส่งอาหารด่วนถึงบ้านและที่ทำงาน จะไม่ใช่ทางเลือก ที่เป็นบริการเสริมหรือช่องทางเพิ่มเติมของร้านอาหารต่างๆอีกต่อไป เพราะในระหว่างที่การระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบโรคยังไม่สงบ ระบบการสั่งออนไลน์และส่งถึงบ้าน ได้กลายเป็นทางรอดของทุกธุรกิจไปแล้ว ด้วยมาตรการปิดเมือง จำกัดการเคลื่อนย้ายของคน งดกิจกรรมที่ต้องพบเจอด้วยการรักษาระยะห่างของคน จนทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีกำลังมีบทบาทอย่างมากที่เข้ามาช่วยเติมเต็มและแก้ปัญหารูปแบบของการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในแบบเดิมๆได้อย่างดี อะไรที่หลายคนไม่เคยลอง ไม่เคยทำ ไม่คิดว่าจะทำ หรือพยายามจะยื้อเวลาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ด้วยการยกเหตุผลและข้ออ้างสารพัดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้ทุกคนได้ลอง ได้ทำ ได้คิด และเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้ว่าจะเกิดจากวิกฤตไม่ได้เต็มใจหรือตั้งใจก็ตาม วิถีใหม่ที่เราเรียกกันว่า new normal จะเข้ามาแทนที่สิ่งเดิม และเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเราทุกคน
การลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านตัวเองและองค์กรในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะกลายเป็นการลงทุนใหม่ที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะทุกคนตระหนักและเห็นคุณค่าของดิจิทัล สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจาก Digital mindset ก็คือ Digital toolset หลากหลายเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆจาก offline สู่ online และจาก analog (physical) สู่ digital (virtual) เหมือนที่ภาคการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ประถม มัธยม จนถึงอุดมศึกษา กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตอนนี้ การเรียนออนไลน์ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น หากแต่การศึกษานอกระบบอย่าง การสอนพิเศษหรือติวออนไลน์ ผ่านหลากหลายซอฟท์แวร์และแอพที่เป็น VDO call ทำให้ทุกคนต้องศึกษา เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เราเรียกว่า Digital skillset ทักษะความสามารถใหม่ในการใช้สารพัดเครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทั้งในการใช้ชีวิต การเดินทาง และการทำงาน
ผลของการเปลี่ยนแปลงทั้งชุดความคิด (mindset) การเรียนรู้และเปิดใจให้กับระบบและเครื่องมือใหม่ๆ (toolset) จนถึงการเลือกและนำมาใช้อย่างจริงจัง (Skillset) จนกลายเป็นกิจวัตร ผลสุดท้ายทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในยุคดิจิทัล (Digital culture) จากที่ดิจิทัลเป็นแค่ทางเลือก ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่ามันคือทางรอด และกำลังจะกลายเป็นทางหลักหลัง COVID-19 ป้องกันและรักษาได้