โควิด-19 ป้องกันการเกิดสงครามโลกสู่ทิศทางใหม่(1)
เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อต้นทศวรรษ 1930 ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีคนตายประมาณ 60 ล้านคน
หลังสงครามเศรษฐกิจสหรัฐบูมสุดๆ การทำสงครามถูกใช้เป็นวิธีแก้วิกฤติเพราะส่งคนจนจำนวนหนึ่งไปตาย ลดความกดดันทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีงานทำด้วยการผลิตอาวุธและลดความแตกแยกทางการเมืองในชาติ เพราะในยามสงครามผู้คนรวมตัวกันเพื่อเอาชนะศัตรู แม้ฟังดูร้ายกาจและน่าสลดหดหู่เพียงใดที่การทำสงครามถูกใช้เป็นเครื่องมือแก้วิกฤติ ผลก็ไม่จีรัง
ก่อนโควิด-19 จะมาโลกเครียดจัดอยู่แล้ว
ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศทำให้โลกเครียดจัดสมทบด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเศรษฐกิจลัทธิอุดมการณ์ ศาสนา สีผิว เกิดสภาพขัดแย้งที่รุนแรงยุ่งเหยิงจนไม่มีทางออก ดังที่เห็นได้ในตะวันออกกลาง ระดับความแค้นของโลกมุสลิมที่มีต่อการที่มหาอำนาจตะวันตก ผลักดันให้มีการตั้งประเทศอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์พุ่งสุดขีดปรอท พร้อมที่จะทำให้ทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นระเบิดฆ่าตัวตาย สงครามญิฮาด ขับเครื่องบินชนตึก ก่อการร้ายสากล หรือทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถ้ามี การพยายามสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยที่คุกคามโลกทั้งใบ
ความเครียดในตัวมนุษย์เองก็พุ่งสูง และแสดงอาการในรูปต่างๆ ทางจิตประสาทและสังคม เช่น โรคซึมเศร้า การติดยาเสพติด การฆ่าตัวตาย การฆ่าผู้อื่นตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุเช่นการกราดยิงที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ความกลัว ความวิตกกังวล ความรุนแรง ยิ่งไปกระตุ้นสมองส่วนหลังหรือสมองสัตว์เลื้อยคลานให้กัมมันตะมากขึ้น ทำให้มนุษย์ทำอะไรๆ ตามสัญชาตญาณมากกว่าปรีชาญาณ ยิ่งเพิ่มความรุนแรงให้โลก
ความรุนแรงในโลก นอกจากความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การฆ่ากันตายในสงครามโลกและสงครามอื่นๆ เป็นร้อยล้านคน ยังมีความรุนแรงอย่างเงียบ (Silent violence) ได้แก่ ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งก่อความทุกข์ยากและคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมากกว่าจากความรุนแรงชนิดโจ่งแจ้งหลายเท่าตัว
โลกที่เครียดจัดขนาดนี้จะต้องระเบิดไปทางใดทางหนึ่ง เช่น เกิดมิคสัญญีกลียุคหรือสงครามล้างโลกหลายๆ ครั้งจนกระทั่งโลกลดระดับความเครียดลง
โควิด-19 มาช่วยป้องกันสงครามโลกครั้งใหญ่สู่ทิศทางใหม่ เพราะวิกฤติโควิด-19 คราวนี้กระทบหมดทั้งโลกทุกมิติและไม่มีผู้ชนะมีแต่ผู้แพ้
โลกยุคใหม่หลังวิกฤติโควิด-19
ทำไมและอย่างไร
วิกฤติโควิด-19 สั่นสะเทือนโลกทั้งใบทุกมิติข้ามชาติข้ามศาสนา ข้ามลัทธิอุดมการณ์ ข้ามเผ่าพันธุ์ ก่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ระดับโลก เดิมแม้รุนแรงขนาดทิ้งระเบิดปรมาณูที่ประชาชนลูกเด็กเล็กแดงตายทันทีเป็นแสนคนก็ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นจิตสำนึกที่ใหญ่พอ เพราะสงครามมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ แต่วิกฤติโควิด-19 ทุกฝ่ายแพ้หมด ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ระดับโลกที่ใหญ่พอที่จะทำให้โลกเปลี่ยน เมื่อจิตสำนึกของโลกเปลี่ยนโลกก็เปลี่ยนโลกใหม่ คือ โลกที่มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness World)
โลกยุคใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 มีอิทัปปัจจยตาสู่สภาพใหม่ที่สรุปได้เป็น 7 ใหม่ หรือ 7 N ดังต่อไปนี้
1.จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) เป็นจิตสำนึกใหญ่ที่หลุดออกจากสภาวะเดิมอันเล็กและคับแคบจากการที่เห็นโลกทั้งโลก ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกระทบกระเทือนจากไวรัสตัวเล็กนิดเดียว เพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกว้างใหญ่ไพศาล จิตสำนึกใหญ่ทำให้หลุดเป็นอิสระจากการถูกบีบคั้น อยู่ในความคับแคบเหมือนคนที่ออกจากคุกอันจำกัดและบีบบังคับออกมาสู่โลกกว้าง ทำให้เห็นความจริงมีความแจ่มแจ้งมีความสุขมีศักยภาพ หรือเรียกว่ามีชีวิตจิตใจใหม่ที่ทำให้สิ่งใหม่อื่นๆ เกิดตามมา
2.การรับรู้ใหม่ (New Perception) การรับรู้เป็นฐานการคิดการรับรู้ที่ผิดนำไปสู่การคิดผิดๆ ความจริงคือสรรพสิ่งเชื่อมโยงเป็นทั้งหมดหรือองค์รวม (Wholeness) หนึ่งเดียวกัน การรับรู้แบบแยกส่วนคิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วนคือต้นเหตุของการเสียสมดุล และความรุนแรงในโลกยุคเก่าการรับรู้ใหม่ตามความเป็นจริงของธรรมชาติว่าสรรพสิ่งอยู่ในความเป็นทั้งหมดเดียวกันจะทำให้ตระหนักรู้ว่ามนุษย์ทั้งผองพี่น้องกันอยู่ในองค์รวมหรือร่างกายเดียวกัน
3.วิธีคิดใหม่ (New Thinking) วิธีคิดเก่าคือคิดแบบแยกส่วน วิธีคิดใหม่คือคิดแบบบูรณาการ (Integration) การแยกส่วนทำให้ขาดบูรณาภาพและเสียสมดุล การบูรณาการทำให้เกิดบูรณภาพและดุลยภาพ
4.การทำใหม่ (New Action) การทำเก่าคือการทำแบบแยกส่วน การทำใหม่คือการพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated development) การชำแหละออกเป็นส่วนๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ทำให้สิ้นชีวิต ชีวิตคือการเชื่อมโยง การพัฒนาคือการเชื่อมโยงหรือบูรณาการทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน
5.ความมุ่งหมายใหม่ (New Purpose) ความมุ่งหมายใหม่คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล (Living Together) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม ไม่ใช่การแข่งขันการสร้างความมั่งคั่ง การเอาชนะแบบเก่าๆ ซึ่งนำไปสู่การแตกสลายทางสังคมและการเสียสมดุล การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล ต้องเป็นสิ่งสูงสุดที่กำหนดระบบต่างๆ ให้สนอง เช่น ระบบเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ใช่เอาระบบเศรษฐกิจที่ผิดๆ เป็นตัวตั้งอย่างที่แล้วมา แล้วไปทำให้การอยู่ร่วมกันแตกสลายหักพัง การอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงสำคัญสูงสุดต้องถือการอยู่ร่วมกัน (Living Together)
6.ระบบการอยู่ร่วมกันใหม่ (New System of Living) ระบบเศรษฐกิจที่ผิดในยุคสมัยที่ผ่านมาอันเกิดจากการคิดแบบแยกส่วนขาดความคิดเชิงองค์รวมว่าทั้งหมดเป็นส่วนของร่างกายเดียวกัน จะปล่อยให้ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดโลหิตไปหล่อเลี้ยงมิได้ มีความเห็นผิดว่าระบบเศรษฐกิจคือการแข่งขันเสรีเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ทำให้สังคมแตกกระจาย (social disintegration) เหลื่อมล้ำเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่สมดุล บีบคั้นอย่างชวนเวทนา ลองดูสลัมคนจนในสหรัฐเป็นตัวอย่าง
โดย... นพ.ประเวศ วะสี