การตายทางเลือกของคนไทยในอนาคต

การตายทางเลือกของคนไทยในอนาคต

ในมิติเรื่องความตาย ถ้าพูดถึงเรื่องตายดี แต่ละคนจะให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไปตามการรับรู้และประสบการณ์ของตน

บางคนให้ความหมายของการตายดีคือการตายแบบไม่ทรมาน ส่วนบางคนบอกว่าการตายที่ดีต้องไม่มีห่วงกังวล ยกตัวอย่างเช่น ในศาสนาพุทธ พระไพศาล วิสาโล พูดถึงเรื่องการตายดีไว้ว่า

ตายดีในทัศนะของพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ที่ว่า ตายด้วยสาเหตุใด ที่ไหน หรือตายในวัยใด แต่อยู่ที่คุณภาพจิตเป็นสำคัญ กล่าวคือตายอย่างสงบ จิตใจไม่ทุกข์ทรมาน ไม่ทุรนทุรายในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะยอมรับความตายและปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ไร้ความห่วงใยหรือหวงแหนในสิ่งใดๆ อีก ทั้งเมื่อตายไปแล้วก็ไปสุคติ คือไปเกิดในภพที่ดี (เช่น เกิดในโลกมนุษย์ หรือสวรรค์ดียิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อจะตายใจก็สว่าง เกิดปัญญาเห็นสัจธรรม จนจิตหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระจากวัฏสงสาร ไม่ไปเกิดในที่ใดอีกต่อไป

ในสังคมไทยการตายดีเป็นแนวคิดที่มักมาพร้อมกับวิธีการรักษาผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง(Palliative care) ซึ่งหมายถึงการรักษาที่ไม่ใช่เพื่อหายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่เป็นแนวทางการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานจากโรคหรือการรักษาหลัก หากบางคนให้ความหมายการตายดีว่าคือ การตายที่คาดเดาได้ว่าเราจะตายเมื่อไร แต่ในทางปฏิบัติปัจจุบัน เหตุการณ์ที่จะทำให้เรารู้ว่าเราจะตายเมื่อไรมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยระยะท้าย หมอจะสามารถบอกได้ว่าอาการของคนไข้แบบนี้จะมีเวลาเหลืออยู่อีกกี่เท่าไร และในกระบวนการนี้การรักษาแบบประคับประคองจะเข้ามาเป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษา

 ยกตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยมะเร็งที่เลือกการรักษาโดยการฉายรังสีหรือการทำคีโม ผลจากการฉายรังสีจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดความทรมานขึ้น หากไม่ประสบความสำเร็จ การรักษาแบบประคับประคองจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไม่ทุกข์ทรมานจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ในปัจจุบันกฎหมายได้อนุญาตให้มีหนังสือแสดงเจตจำนงในการตาย (Living will) หมายถึงหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเมื่อหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรืออยู่ในสภาวะที่จะจากไปในไม่ช้า หนังสือฉบับนี้จะได้ใช้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจว่าจะยื้อชีวิตคนไข้ไว้หรือจะปล่อยให้จากไปโดยไม่ต้องยื้อ ซึ่งในหลายครั้งสถานการณ์เช่นนี้มักสร้างความลำบากใจให้แก่ครอบครัวและหมอ แต่หากคนไข้ได้ทำหนังสือไว้ล่วงหน้าแล้ว การกระทำหลังจากนี้ก็จะถือว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนไข้เอง ไม่ใช่ความผิดของครอบครัวและหมอ

อีกทางเลือกหนึ่งได้แก่ การเลือกจบชีวิตด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์หรือการุณยฆาต(Euthanasia) ที่เกิดขึ้นอย่างถูกกฎหมายแล้วในต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก โคลัมเบีย แคนาดา เยอรมนี และบางรัฐในสหรัฐ Euthanasia คือ การทำให้บุคคลตายด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงและจากไปอย่างสงบ ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ว่าไม่ควรยื้อให้คนไข้เกิดความทรมานไปมากกว่านี้แล้วและเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ฉีดยาเข้าไปในร่างกายตามความต้องการของคนไข้ แต่วิธีการนี้ประเทศตะวันตกจะใช้เป็นทางเลือกเมื่อได้มีการรักษาผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองไปเต็มที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการตายทางเลือกอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ไครโอนิกส์ (Cryonics) คือเทคโนโลยีขั้นสูงในการแช่แข็งร่างกายหรือสมองให้เก็บรักษาไว้ได้กว่าร้อยปี เพื่อรอความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มากกว่าปัจจุบันในการปลุกร่างกายขึ้นมาอีกครั้งและรักษาโรคที่เคยเป็นด้วยวิทยาการในอนาคต โดยคาดหวังว่าจากการรักษานั้นผู้ป่วยจะหายสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนการทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นในกรณีน้องไอนส์ซึ่งเป็นเด็กไทยคนแรกและนับว่าอายุน้อยที่สุดในโลกที่เข้าร่วมโครงการของประเทศสหรัฐในปี พ.ศ. 2558 เป็นการแช่แข็งระบบประสาทส่วนกลางหรือสมองพร้อมกับเซลล์บางส่วนในอุณภูมิติดลบ 150 องศาเซลเซียส น้องไอนส์ป่วยเป็นโรคมะเร็งสมองที่ยากจะรักษาในปัจจุบัน ครอบครัวของน้องจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้หลังน้องเสียชีวิตลงเพื่อรอการรักษาในอนาคต กระบวนการนี้จัดการโดยมูลนิธิอัลคอร์ไลฟ์ เอ็กเท็นชัน บิดาของน้องไอนส์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่อยากใช้วิธีโคลนนิ่ง เพราะเป็นเหมือนวิธีสร้างน้องสาวฝาแฝดผู้ที่ไม่มีความทรงจำของน้องไอนส์

อย่างไรก็ดี นายกแพทยสภาผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อสาธารณะว่า ปกติการแช่แข็งจะใช้ในกรณีของเซลล์เดี่ยว หากมีการสร้างตัวตนไปแล้ว การแช่แข็งจะต้องมีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง อย่างไรก็ตาม กรณีน้องไอนส์แสดงถึงแนวโน้มใหม่ด้านการแพทย์ของโลกตะวันตกที่ทุ่มทุนวิจัยเพื่อปฏิเสธความตาย ในอนาคตมนุษย์(บางคน) จะเลือกได้ทั้งวิธีการตายและจะไม่ตาย! โลกจะเข้าสู่ความเหลื่อมล้ำยุคใหม่ที่ทฤษฎีปัจจุบันไม่สามารถอธิบายให้ความหมายได้เลย

ทางเลือกที่นำเสนอมานี้ส่วนใหญ่เป็นการปฏิเสธความตายโดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์มาเป็นทางเลือก ในปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่ยอมรับวิธีการุณยฆาต ไครโอนิกส์ และการโคลนนิ่ง ผู้เขียนมองว่า ในอนาคตคนไทยต้องการทางเลือกในการตาย ถึงแม้ความตายทางเลือกนี้ดูจะขัดกับบริบทความเชื่อดั้งเดิมของสังคมไทยก็ตาม เหตุที่ผู้เขียนเชื่อเช่นนั้นเพราะ สิ่งที่เป็นฐานรากในการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป เมืองใหญ่ขึ้นแต่ขนาดครอบครัวเล็กลงเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มเลือกอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาไม่เข้มแข็งดังเช่นที่ผ่านมา และถึงแม้จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและสามารถช่วยยืดชีวิตได้ก็จริงแต่ก็ขึ้นอยู่กับสายป่านของแต่ละคน หากการเจ็บป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายถึงแม้จะมีการเยียวยาอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม หรือต้นทุนค่ารักษาโรคสูงกว่ากำลังที่เรามีทำให้ภาระค่ารักษาพยาบาลนี้กลายไปเป็นภาระของผู้อื่นต่อไป เช่นนี้แล้วเราสามารถจะเลือกหนทางสุดท้ายของตนเองได้หรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นหนึ่งในแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่อทัศนคติต่อการเลือกตายของคนรุ่นใหม่ในอนาคต

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐควรจะหันมาให้ความสนใจการตายทางเลือกอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มักถูกนำมาถกเถียงกันด้านจริยธรรมอยู่เสมอ การเตรียมสังคมให้พร้อมก่อนก้าวสู่สังคมที่เปิดรับความตายทางเลือกอย่างเต็มตัวดีกว่าการเป็นสังคมที่ถูกผลักให้ก้าวเข้าสู่สังคมที่ต้องเปิดรับความตายทางเลือกแบบไม่ทันตั้งตัว

โดย...

ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ