คิดเชิงระบบเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ

คิดเชิงระบบเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เปิดตัวและเริ่มหาทางพลิกฟื้นธุรกิจของตนเอง

ประเด็นหนึ่งที่มักจะพบจากในอดีตก็คือ เวลาผู้บริหารนึกถึงการพลิกฟื้นหลังสถานการณ์วิกฤตินั้นจะคิดถึงแต่แนวทางการพลิกฟื้นในระยะสั้น และมองในด้านของรายได้และการอยู่รอดของกิจการเป็นหลัก เลยอยากจะนำเสนออีกมุมมองหนึ่งที่พยายามมองเป็นระบบมากขึ้น และแบ่งสิ่งที่ต้องทำตามช่วงระยะเวลา

สิ่งที่ธุรกิจควรจะทำสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ (สั้น กลาง ยาว)

ในระยะสั้นนั้น มีอยู่ 4 เรื่องที่ธุรกิจควรจะต้องเร่งทำ โดย เร่งที่ 1 คือการเร่งการรายได้และดูแลกระแสเงินสด ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจต่างๆ ดำเนินการกันอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เร่งที่ 2 คือเร่งสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า เนื่องจากความปกติใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป เมื่อธุรกิจกลับมาเปิดใหม่ก็ใช่ว่าลูกค้าจะกลับมาด้วย ดังนั้นธุรกิจควรจะต้องเร่งสร้างความผูกพันและความเชื่อมั่นที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจอีกครั้ง

เร่งที่ 3 คือเร่งยกระดับการดำเนินงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากจะต้องออกแบบและปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานใหม่ เช่น จากการขายสินค้าจากหน้าร้านก็สู่กระบวนการจัดส่ง อีกทั้งธุรกิจจำนวนมากต้องเร่งการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้อย่างรวดเร็วก่อน เวลาที่ตั้งใจไว้กระบวนการในการดำเนินงานที่ออกแบบและปรับปรุงใหม่นั้น จะต้องสามารถนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและนำไปสู่การสร้างรายได้และเพิ่มกระแสเงินสดให้กับองค์กร

เร่งที่ 4 คือเร่งออกแบบองค์กรและการทำงาน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในองค์กรรูปแบบการทำงงานแบบเดิมๆ จะต้องเปลี่ยนไป ถึงแม้องค์กรจะให้พนักงานกลับมาทำงานได้ แต่ก็ต้องมีการออกแบบรูปแบบการทำงานใหม่ที่เหมาะสมกับภาวะหลังโควิด-19 นอกจากนี้ ระบบต่างๆ ก็จะต้องได้รับการคิดคำนึงถึงและออกแบบใหม่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบในการประเมินผลและจูงใจบุคลากร การสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีในทีม(จากแบบเจอหน้ามาสู่ออนไลน์) หรือแม้กระทั่งการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรก็จะต้องเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการไป (จะปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรในสภาวะที่พนักงานทำงานผ่านออนไลน์?)

สำหรับในระยะกลางนั้น ธุรกิจจะต้องทบทวนใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบแรก การทบทวนกลยุทธ์ขององค์กร เมื่อวิธีการเติบโตและการแข่งขันที่ธุรกิจได้เคยวางแผนไว้ อาจจะต้องเปลี่ยนไป ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับการทบทวน ประการที่ 2 การทบทวนBusiness model โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความปกติใหม่อาจจะเป็นโอกาสในการพัฒนาBusiness model ใหม่ๆ ขึ้นมา สำหรับการทบทวนประการที่ 3 คือการทบทวนในด้านDigitalization ของทั้งองค์กร ซึ่งในระยะสั้นนั้นอาจจะเป็นการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อลูกค้าและความอยู่รอด แต่เมื่อเข้าสู่ระยะกลาง องค์กรจะต้องคิดเกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร ผู้บริหารควรจะได้ถือโอกาสนี้ทบทวนและเร่งขับเคลื่อนในเรื่องDigital Transformationขององค์กรไปเลย

สุดท้ายคือระยะยาวนั้นเราจะเห็นแนวโน้มในเรื่องของPurposeful Organizationที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนยุคโควิด-19 และพอธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เรื่องของPurpose ขององค์กรกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้บริหารและคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งPurpose ขององค์กรไม่ใช่เป้า หรือสิ่งที่องค์กรอยากจะเป็น แต่เป็นสิ่งที่องค์กรทำเพื่อคนอื่น(ที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น) เพื่อสังคมในวงกว้างดังนั้นผู้บริหารอาจจะต้องเริ่มคิดกันแล้วว่าสำหรับองค์กรตนเองนั้นPurpose คืออะไร? ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อลูกค้าแล้วยังส่งผลอย่างมากต่อพนักงานรุ่นใหม่

สิ่งที่ต้องทำในแต่ละช่วงระยะเวลานั้นอาจจะสลับกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับลักษณะและความพร้อมของแต่ละธุรกิจ อีกทั้งไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าระยะเวลาของแต่ละช่วงคือ กี่เดือน หรือกี่ปี ก็หวังว่าการคิดถึงสิ่งที่ต้องทำตามช่วงระยะเวลานั้น จะทำให้ผู้บริหารได้มองเป็นระบบและมองรอบด้านมากขึ้น