ดิจิทัลดิสรัปชั่นที่ทำลาย ภูมิคุ้มกันของประเทศ
มาตรการล็อคดาวน์ เพื่อการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำมาสู่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล อย่างรวดเร็ว
อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องอยู่แต่ในบ้าน และดิจิทัลได้กลายมาเป็นช่องทางหลัก ในการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การซื้ออาหารและสินค้า การทำงาน และกระทั่งการแสวงหาความบันเทิง ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “ระยะทาง”ย่อมไม่ได้มีความหมายอีกต่อไป เพราะเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส และหน้าจอสมาร์ทโฟน มนุษย์สามารถทำได้เกือบทุกอย่าง โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เสียเวลาหาที่จอดรถ หรือกระทั่งสุ่มเสี่ยงเข้าไปในสถานที่ชุมชน
"ระยะทาง“ ที่หายไปในยุคดิจิทัล โดยผิวเผินแล้วย่อมต้องถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่จริงแล้ว ”ระยะทาง“ นั้นแหล่ะ เป็นภูมิคุ้มกันของธุรกิจ ระหว่างประเทศ ระหว่างจังหวัด ระหว่างท้องถิ่น หรือกระทั่งระหว่างชุมชน
ภูมิคุ้มกันดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด ร้านค้าในระดับชุมชน ร้านค้าในระดับท้องถิ่น ห้างร้านในระดับจังหวัด หรือกระทั่งห้างสรรพสินค้าในระดับประเทศ เพราะธุรกิจที่เล็กกว่า ย่อมยากที่จะแข่งขันกับธุรกิจที่ใหญ่กว่า แต่ “ระยะทาง” ทำให้เกิดต้นทุนของการเดินทาง และเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ชาวบ้านเลือกที่ใช้ร้านค้าในระดับชุมชนที่อยู่ใกล้บ้าน แทนที่จะเลือกห้างสรรพสินค้าในระดับประเทศ ที่ต้องเสียเวลาเดินทาง
แต่เมื่อ “ระยะทาง” ได้หายไป ชาวบ้านหรือผู้บริโภคทุกคน สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการที่ดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ตัวอีกต่อไป และที่หลายคนกำลังเริ่มเรียนรู้ คือ “ไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทย”
ในเมื่อ “หน้าร้าน” ไม่มีความหมายอีกต่อไป จะให้บริการหรือขายสินค้าจากที่ใดในทุกมุมโลก ล้วนมีค่าเท่ากันหมด ตราบเท่าที่ หน้าเว็บไซต์ หรือ หน้าแอพ ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ในขณะที่ธุรกิจที่แท้จริง รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด และการจ้างงาน อาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเลย
สำหรับผู้บริโภคคนหนึ่ง เราอาจไม่ได้รู้เลยว่า ถึงแม้ว่าหน้าเว็บไซต์จะเป็นภาษาไทย แต่สินค้าที่เราสั่งซื้อนั้น ถูกส่งมาจากสิงคโปร์ หรือประเทคอื่นๆ
ดิจิทัลดิสรัปชั่นภายหลังโควิด-19 ได้นำมาสู่ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือบริการด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่เดิมเป็นผู้ครองตลาดด้านดิจิทัลของประเทศไทยอยู่แล้ว กลับได้ทวีความแข่งแกร่ง ทวีการรวมศูนย์ จากลูกค้าใหม่จำนวนมาก ที่ได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเกือบจะไม่หลงเหลือโอกาสที่ธุรกิจดิจิทัลของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ใหญ่ กลาง เล็ก หรือ สตาร์ตอัพ จะสามารถแข่งขันได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริการ ด้าน อีคอมเมิร์ซ วีดีโอสตรีมมิ่ง การขนส่ง หรือ กระทั่ง การประชุมออนไลน์ ที่คนไทยจำเป็นต้องใช้ ในช่วงสถานการณ์ล็อกดาว์น ล้วนถูกครองตลาดโดยบริการดิจิทัลจากต่างประเทศ ซึ่งกรณีดังกล่าว คงจะขยายผลไปสู่บริการและธุรกิจด้านอื่นต่อไป เมื่อคนไทยจำนวนมาก เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยที่ธุรกิจด้านดิจิทัลของประเทศ ยังไม่มีความพร้อมหรือแข็งแกร่งพอที่จะรองรับ
สถานการณ์ดังกล่าว กำลังจะเป็นกรณีของ “วัวหายล้อมคอก” หากเราไม่ได้ดำเนินการอะไร ในเร็วนี้ๆ ซึ่งเราควรเรียนรู้จากบทเรียนของประเทศอื่นๆ ในการต่อสู้กับการรวมศูนย์ของธุรกิจดิจิทัลข้ามชาติเหล่านี้