เมื่อผมเป็นผู้ร่วมก่อการ(ประท้วง)

เมื่อผมเป็นผู้ร่วมก่อการ(ประท้วง)

ชีวิตที่ค่อนข้างจะโชกโชนสมบุกสมบันในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศนานถึง 14 ปีนั้น มีเรื่องเล่ามากมาย ผมเป็นคนต้นทุนต่ำ

ไปเรียนหนังสือด้วยการหาเงินเรียนเอง ไม่ได้เป็นนักเรียนทุนของใคร จึงไม่จำเป็นต้องทำเกรดให้ดีเพื่อรักษาสถานะการเป็นนักเรียนทุน เกรดการศึกษาจึงอยู่ในระดับคาบลูกคาบดอก พอผ่านไปได้เท่านั้น จบปริญญาเอกด้วยเกรด 3.0 พอดี ถ้าต่ำกว่านี้แค่ 2.99 ก็ไม่จบ

มีเรื่องหนึ่งอยากเล่าให้ฟังสนุกๆ ที่คิดว่านักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะนักเรียนไทยคงไม่มีใครทำแต่ผมทำประมาณปี 1988 รัฐสภาของรัฐเท็กซัสที่ผมอยู่ ได้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่ง คือยกเลิกการให้สิทธินักเรียนต่างชาติที่เรียนหนังสือในรัฐเท็กซัสโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนพิเศษ ที่เรียกว่า Out-of-state tuition fee และให้ทุกมหาวิทยาลัยของรัฐขึ้นค่าเล่าเรียนจากหน่วยกิตละไม่ถึง 100 เหรียญมาเป็นประมาณ 300 เหรียญเหตุผลก็คือ เกิดวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ และเท็กซัสที่เคยร่ำรวยจากน้ำมัน กลายเป็นว่าขาดรายได้มหาศาล รัฐสภาแห่งรัฐจึงยกเครื่องกฎหมายให้หน่วยงานรัฐต้องช่วยตัวเองมากขึ้น อย่าหวังพึ่งรัฐบาลของมลรัฐอีกต่อไป

มหาวิทยาลัยที่ผมเรียนในขณะนั้นมีนักศึกษาประมาณ 20,000 คนเศษ มีนักศึกษาต่างชาติประมาณ 2,000 คนเศษ และเป็นนักศึกษาไทยประมาณ 400 คนซึ่งมากเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและจีนการขึ้นค่าเล่าเรียน 300% ทำให้นักเรียนต่างชาติตกตะลึง เพราะจะมีสักกี่คนที่ไม่มีปัญหา ทุกคนที่มาเรียนมีแผนการเงินการใช้ทุนตามที่กำหนดในระเบียบ ไม่มีใครเตรียมสำหรับการขึ้นค่าเล่าเรียนอย่างรวดเร็วไม่ได้ตั้งตัวแบบนี้ กลุ่มนักเรียนต่างชาติเริ่มคุยกันว่า จะเอาอย่างไรดี ยอมตามหรือย้ายไปหาที่เรียนใหม่ แต่คนที่มีปัญหาคือพวกที่ใกล้จะจบแล้วหรือกำลังอยู่ครึ่งๆ กลางๆ

นักเรียนมาเลเซียเชื้อสายจีนเริ่มต้นก่อน เพราะพวกเขามาเรียนโดยไม่ได้รับทุนจากรัฐบาลมาเลเซียของนายกฯมหาธีร์ (นายกฯสมัยแรก) ที่ให้ทุนเฉพาะชาวมาเลย์ดั้งเดิม (Native Malaysian) ที่เรียกว่าภูมิปุตรา เท่านั้น นักเรียนมาเลย์จำนวนมากทำงานกับผมที่คาเฟทีเรียของมหาวิทยาลัย ที่ผมเป็นหัวหน้าด้าน Food service ก็รวบรวมชาติอื่น ไม่ว่าอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เม็กซิโก เอลซัลวาดอร์ ประเทศเล็กๆ มาร่วมปรึกษากันว่า ถ้าอย่างนี้พวกเราลำบากแน่ แต่พวกนักเรียนจากจีน อินเดีย และตะวันออกกลางพวกซาอุดิอราเบีย ซีเรีย เลบานอน อียิปต์ ไม่ร่วมด้วย เพราะเป็นนักเรียนทุนเป็นส่วนใหญ่หรือไม่เช่นนั้นก็มีฐานะดี

พวกผมที่เริ่มก่อการก่อน ชักชวนกันติดริบบิ้นดำที่แขนเสื้อ แต่ไม่ได้ขึ้นป้ายประท้วงชัดเจน ได้แต่คุยกันในหมู่นักเรียนต่างชาติ พวกเราคิดว่า ถ้าทำเป็นกลุ่มเล็กๆ แค่นี้คงไม่มีพลังต่อรองกับมหาวิทยาลัยได้ มีแต่จะต้องพึ่ง เขาให้เราออกนอกประเทศก็ต้องออก ผมนั้นทำงานให้กับ International Student Office ของมหาวิทยาลัยมาหลายปี เป็น Peer group orientation advisers ช่วยพูดเรื่องการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้น้องๆ นักเรียนต่างชาติที่มาเรียนใหม่ปรับตัว ไม่เกิด Culture shock ที่อาจทำให้เกิด homesick แล้วก็ยังเป็นตัวกลางช่วยดูแลเหล่านักเรียนไทยบางคนที่ไปถึงใหม่ๆ ตามที่ International Student Office หรือสำนักงานนักเรียนต่างชาติแจ้งมาให้ช่วยเหลือขั้นต้น ตั้งแต่รับที่สนามบิน เอามาพักที่บ้านช่วงหา roommate หาห้องพักไม่ได้ จัดหาและแนะนำในการช่วยตัวเอง รวมทั้งปัญหาการเรียนกับฝรั่งที่ต้องปรับตัว ผมเป็นพี่ใหญ่ที่ใครๆ เรียกว่าพี่เคราดก เพราะผมไว้หนวดเครา

เมื่อไม่มีใครออกหน้า ผมจึงเสนอเรื่องไปที่ประธานนักเรียนต่างชาติที่เป็นอินเดียตอนนั้น ให้ร่วมกันประท้วงมหาวิทยาลัย ประธานนักเรียนยอมเป็นผู้นำประท้วง เราออกมาชุมนุมประกาศหน้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยจะต้องหาทางออกให้เรา ไม่ใช่ให้พวกเรารับกรรมกันเอง ไม่ช่วยอะไรเลย ในการประท้วงครั้งนั้น ไม่มีนักเรียนไทย แม้กระทั่งนายกสมาคมนักเรียนไทยที่มีนักเรียนกว่า 400 คนก็ไม่ออกมาขึ้นเวที เมื่อไม่มีใคร ผมก็ขึ้นเวทีในฐานะนักเรียนต่างชาติ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนไทย พร้อมกับชาติอื่นๆ ที่มาร่วมกันเป็นจำนวนมากนับพันๆ คน

ผลก็คือ อธิการบดีของมหาวิทยาลัย ยอมออกมาพูดเชิญพวกเราเข้าพบหาทางออก ซึ่งพวกเราก็แสดงเจตนาว่าไม่ได้อยากทำให้ฝ่ายบริหารเดือดร้อน แต่พวกเราเดือดร้อนจริงๆ มันกระชั้นชิดเกินไป เราไม่ได้มีแผนรับมือการขึ้นค่าเล่าเรียนแบบเฉียบพลัน 3 เท่าแบบนี้พร้อมกับขู่ว่า ถ้าไม่ทำอะไร พวกเราก็ต้องไปหาที่เรียนใหม่ มหาวิทยาลัยก็จะมีปัญหา ถ้านักเรียนลาออกเป็นพันๆ คน

ในการประชุมครั้งต่อมา ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย และหาทางประนีประนอม โดยการขึ้นค่าเล่าเรียนนั้นคงแก้ไขไม่ได้เพราะเป็นเรื่องระดับรัฐบาลของรัฐ แต่มหาวิทยาลัยจะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องที่กฎหมายเปิดช่อง เช่น นักเรียนต่างชาติที่เรียนดี มีสิทธิยื่นขอรับทุนเหมือนนักเรียนอเมริกัน นักเรียนต่างชาติที่มีคู่สมรสมาเรียนด้วย ถ้าคู่สมรสคนหนึ่งทำงานให้กับมหาวิทยาลัยได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียค่า out-of-state fee จนกว่าจะมีการยกเลิกระเบียบ เป็นต้น เป็นอันจบการประท้วง

ตัวผมเองนั้นไม่มีปัญหาเพราะใกล้จบแล้วสอบ ผ่านดุษฎีนิพนธ์ ปริญญาเอกแล้ว แต่ปัญหาคือคุณภรรยาที่เพิ่งแต่งงาน เพิ่งไปเรียนยังไม่จบ coursework และต้องทำดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation) ปริญญาเอก ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล ผลการประท้วงและมาตรการช่วยเหลือทำให้คุณภรรยาขอทุนได้ แม้จะไม่กี่พันเหรียญ ก็ช่วยได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือเธอจะเรียนในฐานะคู่สมรสพนักงานของมหาวิทยาลัย ที่ไม่ต้องจ่ายค่า out-of-state เพราะได้รับยกเว้นตามระเบียบที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ถอนหายใจไปได้อีกเฮือก ทั้งหมดนี้ก็แค่เล่ามาให้ฟังสนุกๆ เท่านั้น ไม่มีอะไร เป็นชีวิตของคนพเนจรต้นทุนต่ำที่รอนแรมในต่างประเทศที่ไม่ใช่บ้านเมืองเรา หัวหกก้นขวิด เอาตัวรอด ตีนถีบปากกัดไม่มีอะไรจะเสีย