การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนกับบทบาทของสหกรณ์
“ประเทศไทยคือกรุงเทพ” ประโยคนี้ถูกใช้ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2526 โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของงบประมาณ โอกาส และการพัฒนาประเทศผ่านเมืองหลวงของประเทศไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสโลกาภิวัฒน์ และการกระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นมีโอกาส และงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านการบริหารจัดการท้องถิ่นในมิติการปกครอง และการสร้างเศรษฐกิจ หากแต่โครงสร้างเศรษฐกิจของท้องถิ่นยังคงกระจุกตัวในภาคเกษตรกรรม มีการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่พึ่งพาเฉพาะมูลค่าผลผลิตการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ตัวอย่าง เช่น การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือที่เน้นการใช้สารเคมี มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกโดยรุกล้ำพื้นที่ป่า และการจัดการพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวโดยการเผาตอซังข้าวและข้าวโพด หรือการผลิตอ้อยโรงงานที่เน้นการเผาอ้อยก่อนตัด ทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยโดยเฉพาะ PM 2.5 มีความรุนแรงขึ้นและต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
การผลิตในภาคเกษตรนั้น หากเกษตรกรขายผลผลิต ณ ไร่นา ราคาของผลผลิตนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการผลผลิตในช่วงเวลานั้น ยิ่งถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ราคาผลผลิตจะมีแนวโน้มค่อนข้างต่ำ หากความต้องการผลผลิตมีมากขึ้นก็จะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ เช่น การส่งออกผลผลิตทุเรียนไปประเทศจีน หรือหากมีการจัดการและวางแผนที่ดีเกษตรกรก็สามารถรับรายได้ที่สูงขึ้น เช่น เกษตรกรที่ขายผักช่วงเทศกาลกินเจหรือการปรับปรุงพันธ์และจัดการลำไยให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น นอกจากนั้นกระบวนการหลังไร่นาก็มีความจำเป็นยิ่ง เพราะเป็นการจัดการผลผลิตที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น กระบวนการดังกล่าว มีทั้งการกักเก็บ (เพื่อยืดระยะเวลาจำหน่ายผลผลิต) การขนส่ง (เพื่อกระจายผลผลิตไปสู่ตลาดอื่นๆ) และการแปรรูปผลผลิต (เพื่อสร้างผลผลิตใหม่)
ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เกษตรกรที่ปลูกอ้อยอินทรีย์จังหวัดหนองบัวลำภู สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากเดิมกว่าเท่าตัว เพราะนอกจากจะขายผลผลิตที่เป็นน้ำอ้อยอินทรีย์แทนที่จะตัดอ้อยเข้าโรงงานทั่วไป การจัดการด้านการตลาดก็ทำให้น้ำอ้อยอินทรีย์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หรือกรณีเกษตรกรที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาเลี้ยงหมูและปลูกผักอินทรีย์ส่งขายให้โรงเรียนในละแวกใกล้เคียง นอกจากจะได้รายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษอีกด้วย
การดำเนินการดังตัวอย่างข้างต้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ด้านการผลิต ด้านการตลาด ด้านการจัดการ และการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่าจะอยู่ในรูปของโครงการหรือเป็นสินเชื่อ ดังนั้น ความตั้งใจจริงของเกษตรกรเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอ ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีฐานจากภาคเกษตรกรรมได้เลย
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีฐานจากภาคบริการนั้น สาขาที่เกี่ยวข้องสูงสุด จะเป็นสาขาการท่องเที่ยว และสาขาการค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้นไม่ได้เน้นเรื่องความยั่งยืน จะเห็นได้จากปัญหาขยะ น้ำเสีย ความแออัดและทรรศนะอุจาด ในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ภูเขาและทะเล ซึ่งปัญหาดังกล่าวขาดการจัดการที่ดีและเป็นระบบ ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง
ดังนั้น หากตั้งโจทย์ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นภายใต้ความยั่งยืนที่ท้องถิ่นจะพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญาซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ดีนั้น จะทำอย่างไรและควรมีการจัดการร่วมต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามใหญ่ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นควรขบคิดและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน นอกจากนั้น คำถามนี้ไม่ใช่เป็นคำถามเฉพาะท้องถิ่น แต่ยังโยงไปถึงภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริโภคอย่างเราท่านอีกด้วย
บทบาทของภาคธุรกิจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนนั้น ได้รับการพัฒนาผ่านกลไกที่ดี จนตกผลึกเรียกว่า “Corporate Social Responsibility (การรับผิดชอบต่อสังคม)” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “CSR” ซึ่งมาจากคณะกรรมการนักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอยางยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) หรือWBCSD ได้ใหคำจำกัดความของ หรือ CSR วาเปนกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมที่องคกรจะตองกระทำอยางตอเนื่อง และสนับสนุนอยางเต็มที่เพื่อพัฒนาสภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผูมีสวนเกี่ยวข้อง คือ พนักงาน ครอบครัว ชุมชนในทองถิ่น และสังคมโดยรวมเช่น บริษัท “Coca-Cola” มุ่งมั่นที่จะคืนน้ำทุกหยดที่บริษัทใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ คืนสู่ธรรมชาติและสังคม มูลนิธิใจกระทิง (กระทิงแดง) ที่เน้นโครงการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม หรือCSR ของ เครือเอสซีจี ที่เน้นกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลากหลาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า CSR ของบริษัทจะเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง แต่กิจกรรมดังกล่าวหากขาดความต่อเนื่องเชิงพื้นที่ (ระยะเวลาไม่นานพอ) ขาดความร่วมมือของคนในท้องถิ่นนั้น (ขาดคนสานต่ออย่างตั้งใจจริง) กิจกรรมดังกล่าวก็ยังประโยชน์ไม่ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เป็นแค่เพียงกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีโครงสร้างที่ดี เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ชุมชน และสังคม ซึ่งจะประกอบด้วย คนในท้องถิ่นนั้นที่มีความตั้งใจดี ตั้งใจจริง ในการดำเนินการทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นฐานเกษตรกรรม หรือฐานบริการ องค์ความรู้ ความช่วยเหลือ รวมถึงเงินทุนหรือสินเชื่อที่มาจากภาครัฐ หรือภาคเอกชน ซึ่งโครงสร้างเช่นนี้คล้ายกับโครงสร้างของสหกรณ์ในความหมายกว้าง โดยที่ความหมายของสหกรณ์ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เผยแพร่ ดังนี้
สหกรณ์ คือ “องค์กรๆ หนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินงานทั้งในด้านความคิด ระบบบริหารจัดการผลผลิต และบุคคลโดยใช้หลักประชาธิปไตย เพื่อสนองความต้องการ (อันจำเป็น) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”
จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน นั้นสามารถประยุกต์ใช้หลักสหกรณ์ได้ โดยคนในชุมชนมีเป้าหมายร่วมกันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนของตนให้มีความยั่งยืน โดยที่อาศัยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ผู้บริโภค
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน (1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติ COVID-19 ที่โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี ที่รวมใจพนักงานโรงแรมทุกคนเปลี่ยนธุรกิจโรงแรม 5 ดาวมาขายข้าวแกงข้างถนน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤติได้ (2) บ้านคลองเรือ ชุมชนคนอยู่-ป่ายัง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ผ่านทางชาวบ้านและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง (3) โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม: บ้านแม่ปาน บ้านสันเกี๋ยง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ชาวบ้านรวมตัวกัน โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ ที่ร่วมมือกันสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นใหม่อย่างยั่งยืน (4) โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดน่านทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
สิ่งที่เหมือนกันทั้งสี่ตัวอย่างนี้ คือ ความสมัครใจของคนในชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ที่มี หรือองค์ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดการเศรษฐกิจโดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืน ผลผลิตของตัวอย่างที่ (1) คือ ข้าวแกง ผลผลิตของตัวอย่างที่ (2) ไม้มีค่า หมาก ผลไม้ ยางพารา บริการที่พักและการท่องเที่ยว ผลผลิตของตัวอย่างที่ (3) คือเนื้อสัตว์ พืชผักอินทรีย์ ข้าวไร่ ผลไม้ ผลผลิตของตัวอย่างที่ (4) คือ ผลไม้ ธัญพืช พืชผัก โครงสร้างตามตัวอย่างข้างต้นคือ บทบาทของสหกรณ์ และชุมชนตามตัวอย่างที่ (2) ถึง (4) นั้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหลัก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความร่วมมือร่วมใจ หยิบยื่นความรู้ ทุนทรัพย์ และโอกาส เพียงเพราะอยากเห็นเป้าหมายความยั่งยืนในชุมชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ หรือชื่อเสียงของหน่วยงานชั่วครั้งชั่วคราว
หากใช้สถิติจำนวนหมู่บ้านที่ประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้านประมาณ 75,000 หมู่บ้าน ในขณะที่มีสถิคิจำนวนบริษัทจดทะเบียน หน่วยราชการ สถานศึกษา มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ รวมกันแล้วมากกว่า 75,000 แห่ง หากหน่วยงานนั้นๆ จะเพิ่มพันธกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนเป็นพันธกิจพื้นฐานที่พึงกระทำ การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนจะเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
กลไกหนึ่งที่ภาครัฐสามารถจัดตั้งขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้ เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยกองทุนดังกล่าวสามารถรับเงินบริจาคจากประชาชนและลดหย่อนภาษีได้ และเก็บเงินสมทบจาก บริษัทจดทะเบียน หน่วยราชการระดับกรม จังหวัด สถานศึกษา มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ ที่มีผลกำไรเป็นรายปี และไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการตามพันธกิจพื้นฐาน ก็ให้ชำระเงินเข้ากองทุน เป็นเงินร้อยละ 1 ของกำไร แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่หากบริษัทดำเนินการตามพันธกิจพื้นฐานก็ให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น
ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในแต่ละหมู่บ้าน หรือชุมชน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ในเชิงรูปแบบวิธีการ แต่ต้องมีการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและเป้าหมายความยั่งยืนเป็นสำคัญนอกจากนั้น ขนาดของชุมชนอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้านได้ หรือ มีลักษณะตาม “สิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์” หรือ “สิ่งที่ใช้ระบุตามแหล่งกำเนิด” ได้อีกด้วย การมีจุดเด่น เช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรมสามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ บทบาทของสหกรณ์ในแง่การรวมตัวของคนเพื่อบริหารจัดการให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและหากมีการจัดการที่ดีเป็นระบบก็สามารถยกระดับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้ และในท้ายที่สุดเมื่อท้องถิ่นมีการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง และ “ประเทศไทยจะไม่ใช่แค่กรุงเทพ”