น้ำเน่าที่พลังประชารัฐ
ปรากฏการณ์ ระดมพล กรรมการบริหารพรรคลาออก ล้างไพ่หัวหน้า-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
เพื่อปฏิบัติการยึดพรรคของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นับเป็นปรากฏการณ์ย้อนยุคการเมืองไปไม่น้อยกว่า 30 ปีที่แล้ว
การยึดพรรค-เพื่อหวังการสืบทอดอำนาจของนายทหารที่มาจากรัฐประหาร เพื่อ “ปูเสื่อ” อำนาจต่อ ไม่ต่างจากการเกิดพรรคสามัคคีธรรมในปี 2534 เพื่อรองรับคณะนายทหารที่รัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เพียงแค่ซับซ้อนมากขึ้น แต่จุดประสงค์เดียวกันคือ “เพื่อสืบทอดอำนาจ” ของเหล่านายพลนอกราชการเหล่านี้
มีการต่อรองกันยาวนานนับเดือนเพื่อให้กรรมการบริหารพลังประชารัฐ ลาออก เพื่อ “บีบให้เกิดการล้างไพ่”
การต่อรองด้วยเอาผลประโยชน์ ในการบริหารงบฟื้นฟูประเทศ 4 แสนล้าน มาจัดสรรปันส่วน เพื่อหวัง “เงินทอน”กัน
การเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ที่มีความคาดหวังของ ”คนช่างยุ” รอบตัวบิ๊กป้อม อาทิ การเสนอให้ สันติ พร้อมพัฒน์ จาก รมช.คลัง เป็น รมว.คลัง ให้ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น รมช.คลัง หรือให้ สุชาติ ชมกลิ่น เป็น รัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง
หรือการเสนอให้ ผู้นำสามมิตร อย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็น รมว.พลังงาน ตามความอยากของ สุริยะ ตั้งแต่ต้นรัฐบาล แต่ ”กินแห้วพลังงาน” มาแรมปี จึงทำให้ สุริยะ กลับข้างจากอยู่กับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาสยบ อยู่กับบิ๊กป้อม เช่นเดียวกันกับการการันตี ว่าผู้กองมนัส (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) จะไม่พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี จึงยอมกลับข้างเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลง เพื่อ ”สืบทอดอำนาจ” ที่แลกมาด้วยตำแหน่งและผลประโยชน์ หาใช่การเปลี่ยนแปลง เพราะอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อประชาชน เฉกเช่นนี้ เรียกว่า “การเมืองน้ำเน่า”
หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้เห็นหรือยอมถูกบีบบังคับให้ มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี จากคณะ ”ผู้ยึดอำนาจ” ในพรรคพลังประชารัฐ นั่นคือ “จุดเสื่อมของรัฐบาล” ที่จะไปเร็วยิ่งกว่า “ขาลง”
พรรคการเมือง ทั้งฝ่ายที่ร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ทั้งหลายลุ้น อยากให้ “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ เพราะจะเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองเหล่านี้ พลิกฟื้นในการเลือกตั้งใหม่ เพราะประเด็นในการหาเสียงง่ายนิดเดียว “ต้านการสืบทอดอำนาจ” ขณะที่ ส.ส.เขต ของพลังประชารัฐ ต้องกลับไปถามตัวเองและคนในพื้นที่ว่า ไหวไหมกับหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”