Dividend Futures

Dividend Futures

การเก็งกำไรบนราคาหุ้นโดยวิเคราะห์คาดการณ์ผลประกอบการของหุ้น

นักลงทุนมักจะประสบปัญหาว่าถึงแม้จะเก็งผลประกอบการได้ออกมาถูกต้อง ราคาหุ้นก็มักจะไม่ได้สะท้อนตามเสมอไป ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันหุ้นหลายๆตัวปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงสวนทางผลประกอบการที่คาดว่าจะออกมาแย่เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 เพราะจริงๆแล้วการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเป็นเรื่องของความคาดหวังผลประกอบการในระยะยาวด้วยไม่ใช่แค่งบที่จะออกมาใกล้ๆนี้

อย่างไรก็ตามงบการเงินที่จะออกมากลับมีผลโดยตรงกับเงินปันผลที่จะประกาศจ่าย ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาความรุนแรงของ Covid-19 ในยุโรปและอเมริกาเพิ่มขึ้นและเกิดการ Lock-down ในหลายๆพื้นที่ทำให้กระทบผลประกอบของบริษัทเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การเก็งกำไรบนเงินปันผลของบริษัทผ่านตราสารอนุพันธ์ที่เรียกว่า Dividend Futures จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมกับความผันผวนของราคาที่เพิ่มขึ้น ตามความผันผวนที่เกิดขึ้นกับผลกระทบต่องบของบริษัทนั้นๆ

Dividend Futures นั้นมีให้ซื้อขายกันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศหลักๆหลายประเทศ เช่น Eurex Exchange, NYSE Euronext, CME เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันไปในเรื่องของหุ้นหรือดัชนีที่มาอ้างอิง โดยหลักการแล้วราคาของ Dividend Futures ที่ซื้อขายจะใกล้เคียงกับเงินปันผลที่คาดหวัง เช่น ตลาดคาดหวังว่าหุ้น A จะจ่ายเงินปันผล 10 Euro ต่อหุ้น ราคาของ Futures บน Dividend บนหุ้น A ก็ควรจะซื้อขายใกล้เคียงที่ 10 Euro ยิ่งหุ้น A มีการจ่ายปันผล 10 Euro มาอย่างต่อเนื่องหลายๆปีติดกัน ราคาDividend Futures ก็ควรจะใกล้เคียง 10 มากๆ เพราะมีความแน่นอนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับผลประกอบการบริษัทอย่างรุนแรงและส่งผลโดยตรงต่อเงินปันผล ทำให้ตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้ได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างทันที ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรปได้ส่งสัญญาณว่าจะงดการจ่ายปันผลในปีนี้จากที่เดิมมีการจ่ายปันผลต่อเนื่องมาตลอด ทำให้ราคา Dividend Futures ที่อ้างอิงบนเงินปันผลของหุ้นธนาคารในยุโรปปรับตัวลงอย่างรุนแรง นักลงทุนที่ Short ไว้ก็สามารถทำกำไรได้ ในขณะที่นักลงทุนที่เชื่อว่าสถานการณ์ Covid-19 จะดีขึ้นและเชื่อว่าผลประกอบการจะไม่แย่อย่างที่คาดกันก็เข้ามา Long เพื่อเก็งกำไรว่าเงินปันผลจะสูงกว่าที่คาดกันไว้

สำหรับ Dividend Futures ที่อ้างอิงกับเงินปันผลบนดัชนีก็ได้รับความนิยมในช่วงที่มีความไม่แน่นอนของผลประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ในดัชนีเช่นกัน เช่น S&P500 Dividend Index Futures และ Euro StoXX50 Index Dividend Futures โดยเป็นการอ้างอิงกับเงินปันผลที่ถ่วงน้ำหนักของหุ้นหลายๆตัวตามองค์ประกอบของดัชนี ซึ่งการใช้งานของ Dividend Futures นี้จะเป็นที่นิยมสำหนับนักลงทุนสถาบันหรือกองทุน Hedge Fund ที่มีพอร์ตลงทุนอ้างอิงกับดัชนี สังเกตว่าสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นทำให้สำนักข่าวการเงินขนาดใหญ่หรือนักวิเคราะห์บางที่ได้มีการใช้ราคาของ Dividend Futures มาเป็นตัวสะท้อนมุมมองของนักลงทุนสถาบันต่อเงินปันผลและผลประกอบการที่จะออกมา

ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ไม่ว่าสถาณการณ์ Covid-19 จะดีขึ้นเรื่อยๆ หรือกลับมาแย่ลง ความผันผวนของผลประกอบการบริษัทหลายๆบริษัทเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปีการเก็งกำไร Dividend Futures ในตลาดต่างประเทศน่าจะยังคึกคักต่อไปอีก เราคงได้เห็นการนำข้อมูล Dividend Futures มาวิเคราะห์มากขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้นักลงทุนได้เห็นมุมมองของนักลงทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศกัน