กลยุทธ์ลงทุน โค้งสุดท้ายก่อนจบครึ่งปีแรก
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการผ่านพ้นช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบมาตลอดตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ เวลานี้
อย่างไรก็ดีในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะปิดครึ่งแรกของปีนี้ ทางฝ่ายวิเคราะห์ เอเอสแอล มีประเด็นและกลยุทธ์การลงทุนที่ควรติดตามให้กับผู้อ่านและนักลงทุนได้ทราบกันครับ
ประเด็นแรกคือการที่จีนวางแผนเร่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐหลังปิดฉากประชุมที่ฮาวาย ซึ่งเป็น sentiment เชิงบวกแก่การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก โดยประเทศจีนวางแผนที่จะเร่งการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำร่วมกับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ไปจนถึงข้าวโพดและเอทานอล หลังจากที่จีนชะลอการซื้อสินค้าดังกล่าว อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด ด้านกลยุทธ์การลงทุนให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น
ประเด็นที่สอง คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 24 มิ.ย. ที่ตลาดคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาสู่ที่ระดับ 0.25% ซึ่งอ้างอิงกับรายงานการประชุมรอบล่าสุดของ กนง. พบว่ากนง.กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมากและอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเป็นปกติ ดังนั้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ จึงมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยสนับสนุนในการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้
แต่อย่างไรก็ดี ธปท. เตรียมออกมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 (เฟสใหม่) จะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2563 เช่น บัตรเครดิต ลดดอกเบี้ยเหลือ 16% ต่อปี (จาก 18% ต่อปี), สินเชื่อส่วนบุคคล ลดดอกเบี้ยเหลือ 25% ต่อปี (จาก 28% ต่อปี) และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดดอกเบี้ยเหลือ 24% ต่อปี (จาก 28% ต่อปี) เป็นต้น ทางฝ่ายวิเคราะห์มองผลกระทบของกลุ่ม Bank นั้นจะกระทบต่อ NIM ที่ลดลง อันเนื่องมาจากการคำนวณ Effective interest rate แต่ละสัญญาเงินกู้ต่ำลง โดยทุก 10 bps ของ NIM ที่ลดลงจะส่งผลต่อกำไรกลุ่มฯ ปี 2563 ประมาณ 5-7% โดยกระทบเกิดขึ้นกับ กลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยสูง เช่น TISCO KKP TMB BAY และ SCB ขณะที่กลุ่ม Non-Bank มองว่าตลาดลงโทษกับหุ้นในกลุ่มนี้มากเกินไป เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าว โดย KTC ในพอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตก็ไม่ได้เก็บอัตราดอกเบี้ยที่เพดานที่ระดับ 24% อยู่แล้ว (ปัจจุบันอยู่ที่ 20-22%) ผลกระทบจึงค่อนข้างจำกัด ขณะที่ MTC และ SAWAD จะโดนผลกระทบเยอะในส่วนของพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนเล่ม โดยเราปรับลดกำไรลงทั้งกลุ่มราว 5-7% ในปีนี้ และ 10% ในปี 2564 ส่วนกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกเช่น THANI แทบไม่ได้รับผลกระทบเลยเนื่องจากคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าเฉลี่ยราว 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว
ประเด็นต่อมา คือมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว“กำลังใจ-เราไปเที่ยวด้วยกัน-เที่ยวปันสุข” จากรัฐบาล มีงบประมาณทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 4 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 โดยจะช่วยหนุนให้หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวปรับตัวขึ้น ตอบรับกับข่าวดีดังกล่าว เมื่ออ้างอิงจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ กสิกร ได้ประมาณการมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวผ่านมาตรการนี้ราว 4.1 หมื่นล้านบาท
ประเด็นที่ 4 คือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเท่ากับศูนย์มาเกือบเดือนแล้ว และรอผลตรวจเชื้ออีก 4 พันตัวอย่าง (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 19 มิ.ย. 63) เป็นปัจจัยบวกที่แสดงถึงความพร้อมในการเปิดเมือง คลายล็อกดาวน์มากขึ้น ทั้งนี้ มีการเจรจาจับคู่ประเทศเดินทาง (Travel Bubble) ในสัปดาห์หน้าอีกด้วย อย่างไรก็ดีมีปัจจัยบวกหนุนอย่าง WHO ที่คาดการณ์วัคซีนรักษาโควิด-19 จะผลิตได้ภายในปลายปี 2563 ราว 200 ล้านโดส
ประเด็นสุดท้าย คือการทำ Window dressing ของนักลงทุนสถาบันและกองทุนในประเทศที่มักจะทำในช่วงสิ้นไตรมาสเพื่อให้ performance ทางบัญชีออกมาดี โดยเราคาดว่าจะเกิดการทำ Window dressing ในไตรมาสนี้มากกว่า 60% โดยหุ้นกลุ่มเป้าหมายเราคาดว่าจะเป็น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มธนาคาร กลุ่มอาหารและกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น ขณะที่มีแนวโน้มที่จะขยายอายุกองทุน SSFX ออกไปถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมีเม็ดเงินไหลเข้ามายังกองทุน SSFX เกือบ 4,000 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิลงทุนราว 56,000 ราย ภาพรวมผลตอบรับไม่ค่อยดีนัก หากยืดขยายอายุออกไปจะช่วยให้มีเม็ดเงินอยู่ในตลาดหุ้นมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเราให้น้ำหนักการปรับตัวขึ้นมากกว่า โดยมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,390/1,400 ส่วนแนวรับเน้นยืน 1,360/1,345 ไม่ควรต่ำกว่า เพื่อลดความเสี่ยงของขาลง ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไป มีการประชุม กนง. และตัวเลขส่งออกของไทยเดือน พ.ค. รวมถึง GDP1Q63 รอบสุดท้ายของสหรัฐ และตัวเลขส่งออกของไทยเดือน พ.ค.