Collaborative Engineering สร้างเครือข่าย-ผนึกกำลังฝ่า COVID
โรงงานกว่า 200 แห่งต้องปิดตัวลง พนักงานกว่า 7 - 9 ล้านคนต้องตกงาน นี่คือมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้การแพร่ระบาดจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจต่าง ๆ ยังต้องเผชิญกับผลกระทบที่ยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้
วิกฤตินี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว โดยปกติเรามักจะรู้สึกทำงานง่ายเมื่อทำงานแบบ In-House แต่การทำงานภายในขอบเขตเดิมนั้น มักไม่นำไปสู่การเกิดนวัตกรรม Collaborative Engineering (Co-Engineering) อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณในยุคหลัง COVID-19 หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักมักคุ้นกับคำนี้ แต่มันเป็นเทคนิคการทำงานร่วมกันทางธุรกิจ เพื่อสร้างผลงานที่ให้ผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงแต่คุณจะได้พันธมิตรทางการค้ารายใหม่ แต่คุณยังสามารถเปลี่ยนคู่แข่งให้กลายเป็นคู่ค้าได้อีกด้วย
เพราะในวิกฤติเช่นนี้ หากพึ่งพาตนเองเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น สุดท้ายแล้วความคิดจะเหมือนวนอยู่ในอ่าง ไม่เกิดความก้าวหน้า และทำให้เราหาทางออกของปัญหาไม่ได้เสียที
คุณอาจจะเริ่มตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่า พร้อมแล้วหรือยังกับการทำ Collaborative Engineering และเป้าหมายของคุณคืออะไรกันแน่ หลังจากตั้งคำถามและได้คำตอบแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การเรียนรู้ที่จะเชื่อมต่อข้อมูล ความคิด และสร้างพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพบปะผู้คนใหม่ ๆ พูดคุยกับผู้ที่อยู่นอกวงการ หาคนที่มีเคมีตรงกัน เหมาะสมกับกลยุทธ์ของคุณ เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน นำวิธีการคิด ทักษะ มุมมอง และจุดแข็งที่แตกต่างกันมาประยุกต์ใช้ จึงจะนำไปสู่การค้นพบไอเดียใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งนี้จะช่วยให้สามารถขยายธุรกิจและก้าวไปสู่การเติบโตอีกระดับหนึ่งได้
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าและผลิตเหล็ก ได้มาแชร์ไอเดียร่วมกันกับธุรกิจโรงพยาบาล ก่อให้เกิดเป็นไอเดียใหม่ในการผลิตเก้าอี้เพื่อสุขภาพขึ้นมา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของทั้งสองธุรกิจที่เกิดจากการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์กัน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ เป็นการรวมตัวกันของเหล่าสตาร์ทอัพ เพื่อแชร์ความรู้และความสามารถ โดยการสร้างแอปพลิเคชัน สำหรับการคัดกรองคนเข้าออกในอาคารว่าปลอดภัยไร้เชื้อ COVID-19 จริง รวมไปถึงแอปพลิเคชัน สำหรับหาที่อยู่ให้กับคนกักตัว
จะเห็นได้ว่า ไอเดียไม่ได้เกิดจากแค่ในบริษัทหรือห้องประชุมเท่านั้น วันหนึ่งคุณอาจจะดื่มกาแฟและพูดคุยกับเจ้าของร้าน แล้วเดินกลับออกมาด้วยไอเดียใหม่ให้กับธุรกิจของคุณ ผนวกกับร้านกาแฟก็เป็นได้ ดังคำกล่าวที่ว่า ‘จงอย่าให้คำว่าเป็นไปไม่ได้ มาจำกัดขอบเขตความคิดของคุณ’ เริ่มต้นจากการเปิดใจมากขึ้น ก้าวออกมาจากกรอบเดิมที่คุณอยู่ และฉีกกฎความคิดเดิม ๆ นั้นเสีย
พบกันใหม่คราวหน้าและหากท่านใดที่สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีไอเดียใหม่ที่น่าสนใจ สามารถส่ง E-mail เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้นะครับ