'ปีแห่งความยากลำบาก' ของสถานศึกษา
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายมิติ วันนี้ผมชวนคิดถึงผลเชิงการเรียนการสอน และเอาตัวรอดของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ
ทุกวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า จำนวนเด็กที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อายุเฉลี่ยของคู่แต่งงานที่เพิ่มขึ้น ขนาดของครอบครัวที่เล็กลง ล้วนทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมที่เจริญแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการศึกษา
ในปัจจุบันมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งจำต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรับผลกระทบในเรื่องของจำนวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ลดลงอย่างมาก การยุบห้องเรียน การลดค่าใช้จ่ายและกิจกรรมบางชนิดลงเพื่อความอยู่รอดในการบริหารสถานศึกษาถือเป็นทักษะที่ผู้บริหารสถานศึกษาพึงมี เช่นเดียวกับการสร้างชื่อเสียงและรักษาคุณภาพของสถานศึกษา
การรับนักศึกษาต่างชาติ เป็นหนึ่งในกลไกที่จะพยุงรักษารายได้เข้าสู่สถานศึกษา เพื่อเป็นน้ำมันในการขับเคลื่อนรักษาชื่อเสียง รักษาคุณภาพของสถานศึกษาต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาศึกษาต่อในไทยตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา
จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่ส่วนใหญ่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น นอกจากจะเป็นนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศในอาเซียนแล้ว ยังมีนักศึกษาชาวจีนที่มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ และนี่คือเหตุผลว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงจำต้องมีหลักสูตรนานาชาติ เพื่อรองรับความต้องการส่วนนี้
อีกกลไกหนึ่งคือ การเปิดรับนักศึกษาภาคพิเศษ หรือในระดับปริญญาโท เพราะค่าธรรมเนียมที่สูงนั้นส่วนหนึ่งก็ถูกนำมาบริหารจัดการและเผื่อแผ่ไปยังโครงการอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเติบโตและขาดทุนได้ เพราะมหาวิทยาลัยมิใช่เป็นองค์กรเอกชนที่แสวงหากำไร แต่เป็นองค์กรที่มุ่งตอบสนองพัฒนาคนและสังคม มหาวิทบาลัยที่ดีจึงไม่ได้มุ่งเน้นแต่การทำกำไร แต่จำต้องตอบแทนสังคม และทำหน้าที่เป็นประภาคารส่องสว่างทางปัญญาให้กับสังคมด้วยเช่นกัน
ในส่วนของโรงเรียนของรัฐก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ถึงแม้จะได้รับงบประมาณจากรัฐ ดังนั้นจำนวนนักเรียนที่น้อยลงก็เท่ากับงบประมาณที่น้อยลงด้วย จึงต้องมีการแข่งขันสร้างชื่อเสียง รักษาคุณภาพ หาเอกลักษณ์ เพื่อทำให้โรงเรียนโดดเด่น
การปรับตัวในส่วนของสถาบันทางการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในไทย เพราะในต่างประเทศก็ประสบพบเจอปัญหาทำนองนี้เช่นกัน เพราะจำนวนนักเรียนนักศึกษาในประเทศที่น้อยลง จึงจำต้องอาศัยการดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศ
ในช่วงความยากลำบากในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ทำให้ความยากลำบากในการสรรหานักศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในระยะต่อไป หรือการแพร่ซ้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบในเชิงลบกับสถานศึกษาทั้งสิ้น
สถานศึกษาไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่า ประสบการณ์และการเรียนการสอนที่นักศึกษาต่างชาติมีความอุตสาหะดั้นด้นมาจากแดนไกลนั้น จะคุ้มค่าเงิน คุ้มเวลากับที่นักศึกษาแลกกับการลงเรียนในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ได้ และชีวิตในการเรียนเมืองนอกก็ไม่ได้จำกัดแค่การเรียนรู้ในห้องเรียน การเรียนรู้นอกห้องเรียน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การเข้าสังคม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่นักศึกษาเลือกที่จะไปเรียนต่อเมืองนอก
ปีนี้ถือเป็นปีแห่งความยากลำบากในอุตสาหกรรรมการศึกษา เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรม ดังนั้นจึง ควรตั้งสติ อ่านและศึกษาให้มาก เรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จและผู้ที่ล้มเหลว เลือกกลยุทธ์ตั้งรับอย่างละเอียดรอบคอบ และเตรียมพร้อมสู่สถานการ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้