อุบัติเหตุทางถนนของไทย ในมุมมองต่างประเทศ
อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ถือว่าสูงเกือบที่สุดในโลกนี้มาจากหลากหลายสาเหตุ เพราะผูกกันหลายมิติ
ตั้งแต่เรื่องถนน เรื่องเมาแล้วขับ เรื่องหมวกกันน็อค เรื่องกิจกรรมเพื่อความปลอดภัย เรื่องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องความยากจน เรื่องวินัย จนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำคนรวยคนจน และอัตราความเจริญของประเทศ
รายงานจากธนาคารโลกปี 2018 ระบุว่า ถ้าประเทศไทยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุถึงเสียชีวิตที่อยู่ประมาณปีละ 2.2 หมื่นคนในปัจจุบันได้ครึ่งหนึ่ง ประเทศไทยจะเจริญขึ้นถึง 22% ในปี 2038 โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แต่อย่างที่บอกก็คือมันมีหลายมิติหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งถ้าเขียนทั้งหมดในแต่ละประเด็นที่รายงานฉบับนี้ลง คงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกเรื่องทุกประเด็นเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น
มีบางเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่น่าคิด อย่างเช่นที่บทความนี้รายงานว่า ที่ประเทศไทยอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดเพิ่มขึ้น เพราะถนนดีขึ้นมาก ได้มาตรฐานมากสุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ถนนดี ทำให้คนรวยออกรถยนต์มากมาย รถใหม่เครื่องใหม่ ถนนดี ขับรถด้วยความเร็วสูง (ไม่สนใจป้ายจำกัดความเร็ว) คนจนขับขี่มอเตอร์ไซค์บนถนนเดียวกัน หลบรถยนต์ไม่ทัน รวมถึงคนเดินข้างถนน ถูกรถยนต์คนรวยชนเสียชีวิตมากมาย
ทั้งคนรวยคนจนต่างไม่มีวินัยการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่สวมหมวกกันน็อค เกิดอุบัติเหตุเมื่อไรถึงตายเมื่อนั้น คนรวยทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนถึงเจ็บตาย แต่เกือบไม่เคยถูกดำเนินคดี เป็นคดีความก็หลุดเกือบทุกราย ระบบยุติธรรมไม่ทำงาน คนรวยมีเงินฟาดหัวจ่ายค่าชดเชย หรือแม้ไม่จ่ายก็ไม่มีการดำเนินคดี พอนานๆ เข้าเรื่องก็เงียบ ผู้เสียหายที่เป็นคนจนไม่มีปากเสียง ไม่มีใครสนใจฟัง
เรื่องจึงสรุปว่าเกิดอุบัติเหตุบนถนนบ้านเรา คนรวยรอดไม่ติดคุกไม่ต้องรับโทษ แต่คนจนตายเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ กลายเป็นว่าสาเหตุมาจากความจนความรวยที่มีความเหลื่อมล้ำ หรือสรุปอีกทีว่ายิ่งเหลื่อมล้ำยิ่งเกิดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนผูกกันไปผูกกันมายิ่งกว่างูกินหาง
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ประเทศไทยกล่าวรับรองและให้สัญญากับองค์การสหประชาชาติว่าจะลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งใน 5 ปี ตอนนี้ก็ 4 ปีแล้ว เหลืออีกปีเดียว ตัวเลขแสดงชัดเจนว่านอกจากไม่ลดแล้ว จำนวนอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนถนนยังเหมือนเดิม เหมือนรับปากเขาไปวันๆ ประเภทขายผ้าเอาหน้ารอด
นอกเหนือจากองค์กรของรัฐแล้ว เรายังมีองค์กรกึ่งอิสระที่ไม่ใช่ราชการ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และสร้างเสริมกิจกรรมเพื่อลดอุบัติเหตุอีกมากมาย หนึ่งในจำนวนนี้คือสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ใช้เงินงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตปีละถึง 4,000 ล้านบาท ใกล้เทศกาลทีก็โหมประชาสัมพันธ์ที จากนั้นก็เงียบ แล้วทุกอย่างก็เหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคืองบประมาณที่ใช้จ่ายไปปีละ 4,000 ล้านบาทที่หายไปกับสายลมและแสงแดด
ถ้า สสส.ไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว ก็น่าจะเอาเงิน 4,000 ล้านบาทไปซ่อมเสริมดูแลรักษาสุขภาพประชาชนคนยากคนจนที่ได้รับอุบัติเหตุทางถนนเป็นพิเศษ ไม่ดีกว่าหรือ อาจจะช่วยรักษาชีวิตได้มากขึ้นจากการมีเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์ทันสมัย การปฏิบัติการช่วยเหลือรวดเร็วฉับพลันยามฉุกเฉิน เพิ่มบุคลากรหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่หรือ paramedics มากขึ้น เพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับความเหนื่อยยากลำบาก สร้างขวัญกำลังใจ
ดีกว่าอยู่ไปวันๆ ไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากใช้เงินจ้างบริษัทธุรกิจทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย