Strategy
คำคำนี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจให้ความสำคัญ ผมมีโอกาสอ่านหนังสือชื่อ Strategy : A History แต่งโดย Lawrence Freedman
ผู้แต่งบอกว่าที่มาของ strategy เกิดจากสงคราม สมัยก่อนเวลารบกันต่างคนต่างเคลื่อนทัพ คุณมีกองทัพที่มีทหารแสนคน อีกคนหนึ่งมีทหาร 5 หมื่นคน ผลก็แน่นอนว่ากองทัพที่มีกำลังมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ นี่เป็นที่มาของคำถามของฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าว่า ทำอย่างไรถึงจะชนะฝ่ายตรงกันข้าม และเป็นจุดกำเนิดของคำว่า strategy
รากศัพท์ของคำนี้มาจากภาษากรีก strategos ความหมายคือ the art of creating power ศิลปะของการสร้างขุมกำลัง มีกำลังน้อยกว่าก็เอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามได้ ดังนั้น strategy จึงมีความเป็นมาเป็นพันปี หลังจากนั้น strategy เข้าสู่การเมือง ทำอย่างไรที่จะเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม สุดท้าย strategy เข้าสู่วงการธุรกิจเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารธุรกิจให้มีความแหลมคมของยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะคู่แข่ง
ผมก็เหมือนคนทั่วไปที่คิดว่าการที่เราจะคิด strategy เริ่มต้นต้องตั้งเป้าหมายธุรกิจ และกิจกรรมที่เราทำคือ strategy เพื่อพาเราเดินสู่เป้าหมาย Freedman มีความเห็นอีกแบบหนึ่ง เขาบอกว่า strategy is set by problems you face here and now ความหมายที่แท้จริงของ strategy คือตอนนี้คุณเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร strategy คือการหาทางออกจากปัญหา strategy คือการรับมือกับ moment of now เป็นการอยู่กับปัจจุบัน แล้วผู้แต่งพูดชัดเจนว่า “strategy is not about getting to the ultimate objective, strategy is about getting to a better place than you would be without a strategy”
Strategy ไม่ใช่เส้นทางเดินสู่เป้าหมายสุดท้าย strategy นำคุณไปสู่สิ่งที่ดีกว่าถ้าไม่มี strategy และเมื่อแก้ปัญหาที่หนึ่งได้ คุณจะเจอปัญหาสอง สาม ซึ่งต้องหา strategy ต่อไป แล้วคุณจะเดินไปถึงจุดหมาย strategy ไม่ใช่เส้นทางที่เป็นเส้นตรง มันเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยว แก้ปัญหาทีละเปลาะ แก้ปัญหาแบบ one at a time เปรียบเสมือนวางแผ่นไม้แผ่นแรก แผ่นที่สอง สุดท้ายมันกลายเป็นสะพาน strategy ที่หลักแหลมต้องไม่ยึดติด ไม่ตายตัว เพราะ strategy คือเครื่องมือที่ใช้ในการทำสงครามทางธุรกิจ เมื่อเราคิด strategy โจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ถามว่าคู่ต่อสู้นั่งอยู่เฉย ๆ หรือครับ คู่แข่งจะคิด counter attack strategy มาแก้ไขสถานการณ์ ทำให้เราเจอปัญหาใหม่ จึงต้องปรับเปลี่ยน strategy ถ้าหลักคิดเรื่อง strategy นี้ถูกต้อง คำถามคือการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจควรเป็นอย่างไร
การตั้งเป้าหมายคือ “การปักเข็มหมุดบนก้อนเมฆ” แปลง่ายๆ คือเป้าหมายใหญ่เหมือนเดิม แต่เป้าหมายย่อยในแต่ละช่วงเวลาเปรียบเสมือนเราเปลี่ยนตำแหน่งของการปักเข็มหมุดไปเรื่อย ๆ บนก้อนเมฆก้อนเดิม ขอยกตัวอย่างเรื่องของประธานเหมาเจ๋อตุง เมื่อ 70 ปีที่แล้วประธานเหมาฯ กับเจียงไคเช็ก ต้องการเป็นเบอร์ 1 ของจีน เจียงไคเช็กมีกองทัพในมือเลยได้เป็นประธานาธิบดีของจีน แล้วส่งกองทัพโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้เหมาฯกับทหารคู่ใจต้องหนีไปสุดประเทศ โดยหนีไปในชนบท เหมาฯใช้โอกาสนี้ขายความคิดเรื่อง “สังคมนิยม” ให้ชาวไร่ชาวนาเป็นเรือนล้านที่ถูกกดขี่ข่มเหง มากไปกว่านั้นเหมาฯ บอกกับเหล่าทหารว่า ห้ามปล้นชิงราษฏร ทำให้เหมาฯกับลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นที่ชื่นชอบของคนในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก
สุดท้ายพวกเขาไปจนมุมที่สุดขอบประเทศ มีทหารเหลือแค่หยิบมือเดียว โอกาสเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้ มาถึงตรงนี้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกจีนอย่างโหดเหี้ยม เหมาฯขอเจรจาหย่าศึกชั่วคราวกับเจียงไคเช็กบอกว่า ตอนนี้คนจีนต้องรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อกวาดล้างญี่ปุ่น ภายในเวลาไม่กี่ปีญี่ปุ่นแพ้สงคราม ปรากฏว่าความนิยมของเจียงไคเช็กกับเหมาฯ เแตกต่างกันสุดขั้ว คนยากไร้ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศคิดว่าทางรอดของจีนคือลัทธิที่เหมาฯ ขายไอเดียในช่วง the long march สุดท้ายเหมาฯเปลี่ยนประเทศเป็นระบบสาธารณรัฐแล้วเขาเป็นประธานาธิบดี ส่วนเจียงไคเช็กหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน นี่คือความหมายของการตั้งเป้า “ปักเข็มหมุดบนก้อนเมฆ” เป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่เป้าหมายใหญ่เหมือนเดิม
วิกฤติ COVID-19 อธิบายถึงพลังของ strategy ของ Lawrence Freedman ได้อย่างชัดเจน ถามว่าวันนี้มีนักธุรกิจคนไหนที่สามารถวาง long term strategy เพื่อพาองค์กรไปที่จุดหมายใหม่ ไม่มีทางครับ เพราะสถานการณ์ตอนนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน องค์กรอยู่ใน fluid situation ดังนั้นการวางแผนยุทธศาสตร์คือการหาทางออกให้กับองค์กรแบบ one at a time สร้าง strategy ที่แก้ moment of now ผู้บริหารมีหน้าที่สร้าง strategy เพื่อ unlock ปัญหา เมื่อแก้สำเร็จ มันจะเกิดปัญหาใหม่ แล้วต้องสร้าง strategy ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาต่อไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะสร้าง collective of strategy ที่พาเราเดินไปสู่จุดหมายที่ต้องการ เช่นเดียวกันผมมีความเห็นว่าการที่รัฐบาลรับมือกับวิกฤติโรคระบาดเป็นการสร้าง strategy ในรูปแบบของ Freedman เป็นการแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นเดือนมี.ค. ผมคาดเดาว่าเป็นการแก้ปัญหาโดยสร้าง strategy แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ไร้รูปแบบ คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นกระบวนการหาทางออกต้องมีความลื่นไหล และการลื่นไหลของ strategy ต้องเร็วกว่าสถานการณ์
ขอสรุปเรื่องนี้ด้วยคำพูดของ Dwight D. Eisenhower เขาให้ความเห็นว่า “Plan is useless, planning is essential” การมีแผนคือสิ่งไร้ค่า การวางแผนตลอดเวลาคือสิ่งจำเป็น เพราะคำว่า “มีแผนในมือ” คือมี solid & rigid strategy ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่น่าจะรอด หลักคิดเรื่องปักเข็มหมุดบนก้อนเมฆ กับการสร้าง fluid & flexible strategy คือสุดยอดเครื่องมือบริหารธุรกิจในยุค disruptive economy
ถึงเวลาที่ต้อง revisit การ formulate strategy ในยุค digital transformation ครับ