ตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต
พระราชบัญญัติประกันชีวิตพ.ศ.2535 เป็นกฎหมายที่ควบคุมกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประกันชีวิต และที่เกี่ยวเนื่อง
โดยผู้จะประกอบธุรกิจประกันชีวิตจะต้องจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดโดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับบุคคลที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องเช่นบุคคลที่กระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต จะต้องได้รับใบอนุญาตและปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เช่นกัน โดยกฎหมายให้ความหมายของตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตไว้ คือ
“ตัวแทนประกันชีวิต” หมายความว่า ผู้ที่บริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท
"นายหน้าประกันชีวิต" หมายความว่าผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท โดยกระทำเพื่อบำเหน็จเนื่องจากการนั้น
* ผู้ที่จะกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิตต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน คือเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือผู้ได้รับมอบหมาย
ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา69 ของพระราชบัญญัติประกันชีวิต ที่สำคัญคือ ไม่เป็นนายหน้าประกันชีวิต และได้รับการศึกษาวิชาประกันชีวิตจากสถาบันการศึกษาหรือสอบความรู้เกี่ยวกับการประกันชีวิตได้ตามหลักสูตรที่นายทะเบียนกำหนด
นายหน้าประกันชีวิต จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
ในกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตเป็นบุคคลธรรมดา ต้องไม่เป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือเป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทใด โดยต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา69(1)(2)(3)(4)(5)(7)และ(8)ด้วย
ในกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตเป็นนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในมาตรา72 วรรคสอง(1)-(4)โดยสรุปคือต้องมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเป็นนายหน้าประกันชีวิต มีพนักงานลูกจ้างได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตในระยะห้าปีก่อนขอใบอนุญาต
บทบัญญัติที่ใช้บังคับกับตัวแทนประกันชีวิตที่สำคัญ
* บริษัทประกันชีวิตต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิต (มาตรา70/1)
*ในการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท ต้องไม่แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (มาตรา70/2วรรคหนึ่ง)
* ตัวแทนประกันชีวิตมีสิทธิรับเบี้ยประกันภัยได้ในนามบริษัทได้ (มาตรา71)
* ตัวแทนประกันชีวิตอาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท(มาตรา71วรรคสอง)
* ตัวแทนประกันชีวิตต้องแสดงใบอนุญาตทุกครั้งที่ชักชวนให้บุคคลทำประกันชีวิตหรือรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท และต้องแสดงเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่รับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท (มาตรา71/1
บทบัญญัติสำคัญที่ใช้บังคับกับนายหน้าประกันชีวิต
*นายหน้าประกันชีวิตหรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงินอาจรับเบี้ยประกันในนามบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัท(มาตรา71วรรคสอง) และต้องแสดงหนังสือมอบทุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันในนามบริษัท และต้องแสดงเอกสารการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่มีการับเบี้ยประกันในนามบริษัท (มาตรา70/2วรรคหนึ่งและวรรคสอง)
ข้อแตกต่างในการทำประกันชีวิตกับตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิตที่สำคัญ
การทำประกันชีวิตผ่านตัวแทนประกันชีวิตและการทำประกันชีวิตผ่านนายหน้าประกันชีวิต มีข้อแตกต่างในทางกฎหมายที่สำคัญคือ
* ความรับผิดของบริษัทประกันชีวิต
ในกรณีทำผ่านตัวแทนประกันชีวิต บริษัทต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตได้ก่อขึ้นจากการกระทำเป็นตัวแทนประกันชีวิต (มาตรา70/2) ในกรณีทำผ่านนายหน้าประกันชีวิตไม่มีบทบัญญัติให้บริษัทร่วมรับผิดกับนายหน้าประกันชีวิต
* การรับเบี้ยประกัน ตัวแทนประกันชีวิตมีสิทธิรับเบี้ยประกันภัยได้ในนามบริษัทได้ ส่วนนายหน้าประกันชีวิตจะรับเบี้ยประกันชีวิตในนามบริษัทได้ต่อเมื่อได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัท
ในกรณีทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตผ่านตัวแทนประกันชีวิตและจ่ายเบี้ยประกันให้ตัวแทนประกันชีวิตแล้ว เป็นการที่ตัวแทนประกันชีวิตรับไว้แทนบริษัท เบี้ยประกันตกเป็นของบริษัทประกันชีวิตแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่373/2559 )แม้จะปรากฏว่า ตัวแทนประกันชีวิตไม่นำเบี้ยประกันส่งบริษัท บริษัทประกันชีวิตจะปฏิเสธไม่รับผิดตามสัญญาประกันชีวิตโดยอ้างว่าไม่ได้รับเบี้ยประกันมิได้(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่170/2524) เป็นเรื่องที่บริษัทต้องไปไล่เบี้ยกับตัวแทนประกันชีวิตทั้งทางแพ่งและทางอาญาเอง
ในกรณีที่ทำประกันชีวิตผ่านนายหน้าประกันชีวิต และจ่ายเบี้ยประกันให้นายหน้าประกันชีวิต จะถือว่านายหน้าประกันชีวิตได้รับเบี้ยประกันชีวิตไว้แทนบริษัทและถือว่าบริษัทได้รับเบี้ยประกันชีวิตไว้แล้ว เฉพาะกรณีที่เป็นนายหน้าประกันชีวิตที่ได้รับมอบอำนาจให้รับเบี้ยประกันเป็นหนังสือจากบริษัทเท่านั้น ดังนั้นเพื่อไมให้เกิดปัญหาผู้ทำประกันชีวิต จึงควรจ่ายเบี้ยประกันให้นายหน้าประกันชีวิตรับแทนบริษัทเฉพาะผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รับเบี้ยประกันแทนบริษัทได้เท่านั้น
* การทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัท
ตัวแทนประกันชีวิตอาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทแต่ไม่มีบทบัญญัติให้นายหน้าประกันชีวิตทำสัญญาในนามบริษัทได้
การทำสัญญาประกันชีวิตหลักสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา865และมาตรา866 คือ
ผู้ทำประกันชีวิตจะต้องเปิดเผยความจริง หรือต้องไม่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ผลของการไม่เปิดเผยความจริงหรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่หากผู้รับประกันชีวิตรู้ความจริงแล้วจะเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่รับประกัน มีผลทำให้สัญญาประกันชีวิตนั้นเป็นโมฆียะ โดยมีข้อยกเว้น ถ้าผู้รับประกันชีวิตรู้ความจริงอยู่แล้วหรือรู้ว่าผู้ทำประกันชีวิตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือควรจะรู้ถ้าได้ใช้ความระมัดระวังตามที่วิญญูชนทั่วไปสามารถคาดหมายได้ กฎหมายบัญญัติว่าสัญญาประกันชีวิตนั้นสมบูรณ์ใช้บังคับได้
ในกรณีทำประกันชีวิตผ่านนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต รู้ข้อความจริงอยู่แล้วหรือรู้ว่าผู้ทำประกันชีวิตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็ยังถือไม่ได้ว่าบริษัทประกันชีวิตรับรู้ด้วยอันจะเข้าข่ายข้อยกเว้นของกฎหมายที่ให้ถือว่าสัญญาสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เพราะนายหน้าประกันชีวิตไม่ใช่ตัวแทนของบริษัท แต่ถ้าทำประกันชีวิตผ่านตัวแทนประกันชีวิตที่ได้รับหนังสือมอบอำนาจให้ทำสัญญาในนามบริษัทได้และตัวแทนประกันชีวิตนั้นรู้ข้อความจริงอยู่แล้วหรือรู้ว่าผู้ทำประกันชีวิตแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็เข้าข่ายข้อยกเว้น สัญญาประกันชีวิตนั้นสมบูรณ์ใช้บังคับได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่1333/2551)