หากท่านผู้อ่านเคยโน้มน้าวใครให้เปลี่ยนแปลง และเจอแรงต้าน อาทิ หัวหน้าไม่เห็นด้วย ลูกน้องดื้อตาใส เพื่อนร่วมงานไม่ใยดี ฯลฯ
อย่างน้อย ขอให้ท่านสบายใจว่า ท่านไม่โดดเดี่ยว มิใช่คนเดียวที่ปวดหัวกับการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกคนเคยประสบพบปัญหาเดียวกันทั้งสิ้น
ดังนั้น ใครมีทักษะที่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า ย่อมมาวิน บินสูงกว่าใครในโลกยุคใหม่ ที่การเปลี่ยนแปลงเป็น new normal ของแท้
วันนี้เรามาคุยเรื่อง 4 ข้อ ยามร้องขอให้ใครเปลี่ยน ต้องเรียนรู้จากตารางนี้
ช่อง 1 อธิบายว่าเปลี่ยนแล้วดีอย่างไร
ข้อนี้เรามักไม่ติดขัด เพราะเป็นเรื่องหลักที่มักใช้ในการโน้มน้าวว่าทำไมต้องเปลี่ยน
แนะนำเพิ่มเติมว่า นอกจากมองจากมุมเราว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ดีแน่แท้ ทั้งยังดีในมุมกว้าง มุมใหญ่ เช่น ดีกับโลก ดีกับสังคม ดีกับองค์กร
อย่าลืมมองจากมุมคนที่จะถูกเปลี่ยนด้วยว่า มีอะไรดีสำหรับเขาบ้าง เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีทำงานแบบผสมผสาน เพิ่มการทำงานจากที่บ้าน สลับกับทำที่ทำงาน
ข้อดีในระดับองค์กร คือ ยืดหยุ่น ประหยัด พร้อมรับอนาคตที่ไม่นิ่ง
สำหรับพนักงาน ก็ย่อมมีข้อดี อาทิ ประหยัดค่าเดินทาง มีโอกาสใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ฯลฯ
ช่อง 2 ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลง ก็มีข้อเสีย
หลายครั้ง ยามที่เราจะโน้มน้าวให้คนปรับเปลี่ยน เรามักพยายามทั้งกลบ หลบ และซ่อนหัวข้อนี้ โดยหวังว่าพี่น้องจะมองไม่เห็น หรือไม่คิดถึงมัน
ขอแสดงความเสียใจว่าแผนนี้ไม่เวิร์คค่ะ เพราะพี่น้องไม่โง่ แถมยังตาดี มีทั้งคิดและทั้งอาจลือกันทั่ว ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีรูโหว่แหว่ง เปลี่ยนแบบนี้แกล้งกันชัดๆ ฯลฯ
ส่งผลให้พี่น้องคลางแคลงใจ ว่าพี่ไม่เฉียบพอที่จะเห็นประเด็นสำคัญเหล่านี้ หรือพี่ไม่จริงใจ ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการ จะหักหาญน้ำใจพวกเราไก่กาอย่างไร ก็ไม่สำคัญ...ว่าเข้าไปนั่น!
ดังนั้น การที่เราตระหนักว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีข้อจำกัด และพร้อมบอกและคุยในประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นการแสดงความกล้า ว่าเรามาดี มาอย่างเปิดอก มาอย่างไม่หมกเม็ด
ความจริงใจเช่นนี้ ส่งผลให้มีสิทธิ์ได้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น การทำงานแบบผสมผสานข้างต้น ย่อมมีข้อเสียสำหรับพนักงาน เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพราะต้องใช้เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารเพิ่มเติม พี่จะเสริมเขาอย่างไร เป็นต้น
ช่อง 3 การไม่เปลี่ยน ก็มีข้อดีนะ
คนที่ไม่อยากเปลี่ยน มักเห็นประเด็นนี้โดดเด่นเป็นสง่าว่ายังไม่น่าเปลี่ยน
หน้าที่เราจึงต้องกล้ายอมรับว่า ข้อดีนี้มีจริงไม่อิงนิยาย เช่น หากคุยกับคนที่ไม่อยากกลับมาใช้ชีวิตวุ่นวายในสำนักงานแบบเดิม เพราะทำงานที่บ้านแสนสุข เราก็ต้องพร้อมน้อมรับความจริงข้อนี้ เพราะมันมีข้อดีจริงๆ
แต่หน้าที่เราคือขยี้ให้พี่น้องเห็นว่า ข้อดีมีอยู่ แต่อย่าลืมดูข้อเสีย ดังช่อง 4 ที่ตามมาติดๆ
ช่อง 4 ข้อเสียของการไม่เปลี่ยน
ทุกเหรียญมีอย่างน้อยสองด้านเสมอ การไม่ปรับเปลี่ยนมีทั้งข้อดี แต่ย่อมมีข้อจำกัด ย่อมมีความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้
เช่น หากไม่ใช้วิธีทำงานแบบผสมผสาน คือ ต้องกลับมาทำงานแบบเห็นหน้าเห็นตา เจอกันตัวเป็นๆบ้าง เพื่อเสริมปฏิสัมพันธ์ในการทำงานเป็นทีม อาจไม่มีทีมให้เราทำงานร่วมกันอย่างสนุกสนานอีกต่อไป
เพราะปัญหาหนักใจหลากหลายเรื่อง ยังต้องใช้การจับเข่าให้เข้าใจกัน เพื่อทำให้ปัญหาใหญ่ กลายเป็นเล็ก ปัญหาเล็ก สลายไปได้ง่ายขึ้น
ในทางตรงข้าม หากเราคุยกันน้อยไป พบกันน้อยไป เจอกันเพียงผ่านจอ บางครั้งปัญหาน้อยนิด หากผิดใจกัน ก็ทำให้ยิ่งใหญ่ได้ ไม่ต้องพูดถึงปัญหาใหญ่ หากไม่ไว้ใจกัน อาจลุกลาม บานปลาย กลายเป็นเรื่องแตกหัก
ดังนั้น ท่านที่จะผลักดันและสื่อสารโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องตั้งหลักมองทั้งกระดานให้ครบทั้ง 4 หัวข้ออย่างมีสติ และทำให้ต่างตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลง แม้มีอุปสรรค (ช่อง 2) แต่จะก่อให้เกิดผลดีที่คุ้มค่า (ช่อง 1) และดีกว่าอยู่อย่างเดิม (ช่อง 3) เพราะผลร้ายที่มากับการไม่เปลี่ยนนั้นยิ่งใหญ่ ไม่ควรเสี่ยงด้วยประการทั้งปวง (ช่อง 4)
เมื่อสื่อสารและเตรียมหารือ ตอบข้องกังวลสงสัยให้ครบทั้ง 4 ข้อ จะขออะไรน่าจะได้ความร่วมมือมากขึ้น โดยเฉพาะยามที่พี่โควิดฯได้สร้างความสั่นสะเทือนในทุกวงการทุกระดับ นับเป็นโอกาสสำหรับการปรับเปลี่ยนอย่างแท้จริง