ก้าวแรกของการสมรสเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. ... และ
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอ เนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการให้สิทธิคนเพศเดียวกันในการหมั้นและการสมรสอย่างถูกต้อง รวมถึงให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรส นับว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ
ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ... มีสาระสำคัญดังนี้
1.กำหนดนิยามของคำว่า “คู่ชีวิต” หมายถึง บุคคล 2 คนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้
2.กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.นี้
3.กำหนดถึงความสัมพันธ์ “คู่ชีวิต” ต้องอยู่กินด้วยกัน ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะของตน
4.กำหนดคุณสมบัติของผู้จดทะเบียนคู่ชีวิต จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ทั้งคู่มีสัญชาติไทยหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย ในกรณีผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
5.กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
6.กำหนดให้คู่ชีวิตมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมของอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมของตนได้
7.กำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ว่าด้วยมรดกมาใช้บังคับกับสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิตโดยอนุโลม
8.กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต ด้วยเหตุต่างๆ ดังนี้ (1) ความตาย (2) การสมัครใจเลิกการเป็นคู่ชีวิต (3) ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือศาลพิพากษาเลิกการเป็นคู่ชีวิต และมีการกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น จงใจทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิตหรือฉันสามีภริยา เป็นต้น
การที่กฎหมายคู่ชีวิตของคนรักเพศเดียวกัน จะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิทธิของคู่ชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยคู่ชีวิตจะมีสิทธิให้ความยินยอมให้รักษาพยาบาล มีสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิตของตน มีอำนาจในการจัดการศพ รวมถึงมีสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์บางประการของคู่ชีวิต เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี สวัสดิการรักษาพยาบาลของคู่ชีวิตอีกฝ่ายที่รับราชการ สิทธิในกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญของคู่ชีวิต เป็นต้น
ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีสาระสำคัญดังนี้
1.กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” ไม่ได้
2.กำหนดเหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉัน “คู่ชีวิต”
3.กำหนดให้สิทธิในการรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
เห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลทุกเพศได้รับความเท่าเทียมกันในการมีสิทธิที่จะก่อตั้งครอบครัว และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกลยังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.บรรพ 5 (การสมรส) มีสาระสำคัญคือเสนอให้แก้ไขคำว่า “สามีและภริยา” เป็น “คู่สมรส” ส่วนในเรื่องเงื่อนไขการสมรสเสนอให้แก้ไขคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็นคำว่า “บุคคล” และในเรื่องของการหมั้นเสนอให้แก้ไขคำว่า “ชาย” และ “หญิง” เป็น “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น”
ร่าง พ.ร.บ.นี้มีเป้าหมายสำคัญคือ การให้สิทธิบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกันในการหมั้นและการสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีเนื้อหาค่อนข้างครอบคลุมถึงสิทธิในการใช้ชีวิตคู่กว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ...
สำหรับในต่างประเทศ ปัจจุบันในหลายประเทศให้สิทธิบุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ เช่น ประเทศแคนาดามีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการสมรส (Civil Marriage Act (S.C.2005, c. 33)) โดยกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิในการสมรสเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสต่างเพศหรือคู่สมรสเพศเดียวกัน
ประเทศฝรั่งเศสมีการบัญญัติกฎหมาย Pacte Civil de Solidarité ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองคู่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ บุคคลที่ทำข้อตกลงคู่ชีวิตจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ โดยคู่ชีวิตจะได้รับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างกัน สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม และสิทธิตามกฎหมายภาษีอากร แต่จะไม่ได้รับสิทธิในการรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม
ส่วนไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการออกกฎหมายอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้ (The Enforcement Act of the Judicial Yuan Interpretation No.748) โดยให้สิทธิบุคคลที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีสัญชาติและมีถิ่นที่อยู่ในไต้หวัน และคู่สมรสมีสิทธิในการรับมรดก สิทธิในการรักษาพยาบาล เป็นต้น
การสมรสและการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน บุคคลทุกเพศควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก ความเคลื่อนไหวทางกฎหมายที่เกิดขึ้นทั้งจาก ครม.และจากฝั่งสภาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน
ถึงแม้ว่าสิทธิตามร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ อาจยังไม่ได้ให้สิทธิอย่างเท่าเทียม แต่ผู้เขียนก็ยังหวังว่านี่จะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การยอมรับสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในระดับที่เท่าเทียมกับคู่สมรสโดยแท้จริงต่อไป
โดย....
ชญานี ศรีกระจ่าง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์