“ธุรกิจไทยตั้งรับศก.ไตรมาส4-วัคซีนโควิดปีหน้า”
ส.ค.ถือเป็นช่วงกลางไตรมาส 3 ที่เชื่อว่าหลายคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการคงกำลังลุ้นเกาะขอบสนามว่าโลกใบนี้จะสามารถเอาชนะวิกฤติโควิด-19 ได้เมื่อใด
ซึ่งการที่โรคระบาดนี้จะคลี่คลายและจบลงได้ต้องมีวัคซีนป้องกัน ส่วนตัวผมประเมินว่าโลกของเราจะมีวัคซีนเข้ามาแก้ปัญหาทั้งระบบน่าจะภายในปี 2564 ครับ
เมื่อการเอาชนะโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีคือ การปรับตัว!!
ผมคาดว่าภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้ที่แม้จะเดินมาครึ่งทาง และภาครัฐได้คลายล็อกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดเดินหน้าแล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วงอยู่ดี เพราะกำลังซื้อในประเทศไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก กอรปกับตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังโงหัวไม่ขึ้น ส่งออกยังมีปัญหา ล่าสุด สงครามการค้า (Trade war) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีนระลอกใหม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตา เพราะจะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังบอบช้ำจากโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤติยังมีโอกาส เพราะผลจากเทรดวอร์ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งที่เป็นของจีนเอง หรือจากญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่างวางแผนย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศอื่นๆ ซึ่งการย้ายฐานนี้เป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยพอสมควรในการเจรจาร่วมลงทุน หรือร่วมซัพพลายเชน แต่ก็ต้องดูว่าการย้ายฐานเหล่านั้นจะมาในรูปแบบไหน จะเป็นการลงทุนที่พึ่งพาอุตสาหกรรมไทย หรือเป็นการยกมาทั้งซัพพลายเชน หากเป็นอย่างหลังก็คงไม่มีประโยชน์กับไทยเท่าไร ซึ่งต้องศึกษาผลกระทบให้รอบก่อนครับ
ดังนั้น ความเห็นของผมต่อทางรอดของไทยคือการพึ่งพาตัวเองก่อน โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
การกระตุ้นดังกล่าวต้องประกอบด้วย การกระตุ้นให้คนไทยใช้สินค้าในประเทศ กระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีรายได้สูง ผมอยากให้ใช้เงินมากขึ้น เพราะการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้จะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้ ส่วนกลุ่มที่มีน้อยหรือไม่มีก็ควรใช้วิกฤติครั้งนี้ทบทวนตัวเองและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เร่งงบลงทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบช่วยให้สถานการณ์โดยรวมผ่อนคลาย ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือไตรมาส 4 เพราะจะเป็นช่วงที่ทุกมาตรการช่วยเหลือของรัฐจบลงแล้ว และยังไม่รู้ว่าจะต่ออายุหรือไม่ อาทิ เงินช่วยเหลือประกันสังคม การพักหนี้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะเดียวกันต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ในช่วงไตรมาส 4 หรือไม่
หากเป็นไปได้ผมอยากให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่คาดว่าจะชัดเจนในเดือน ส.ค.นี้ ผลักดันนโยบายที่ดี เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการต่อไป ตัวอย่างชุดเก่าทำไว้ อาทิ การเตรียมตั้งกองทุนส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท การผลักดันอีอีซี การปรับเกณฑ์กองทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของ ธปท. เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกคนมีโอกาสเข้าถึง ซึ่งการจะปล่อยซอฟท์โลนได้มากขึ้นต้องขึ้นกับรัฐบาลว่าจะอนุมัติวงเงินโครงการพีจีเอส 9 ให้ บสย.เข้าค้ำประกันผู้ประกอบการมากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้อยากขอให้รัฐบาลเดินหน้าฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เร่งรัดงบประมาณ 4 แสนล้านบาทให้ลงสู่ระบบโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม นอกจากความช่วยเหลือจากรัฐ ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวตามที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรก!
ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายต่อหลายราย พบว่ามีการตั้งรับปรับตัวมาตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด แต่ถึงวันนี้โรคนี้ยังอยู่ หลายธุรกิจยังมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวประเมินว่าคงลากยาวไปถึงปี 2564 แน่นอนการปรับตัวจึงต้องทำต่อไป โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ บางรายมีสาขามากก็ควรลดจำนวนสาขาลง ปรับเวลาทำงานให้เหมาะสม ทบทวนงบลงทุน ทบทวนการตลาดใหม่ทั้งหมด ออกผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับตลาดปัจจุบัน หากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีกำลังมีเงินทุนหมุนเวียนมากควรนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
การปรับตัวดังกล่าวไม่เพียงส่งผลดีต่อธุรกิจ แต่ยังมีส่วนในการต่อลมหายใจให้กับลูกจ้างด้วย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเลือกที่จะประคองการจ้างงานให้ยาวนานที่สุดก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะถ้าธุรกิจไม่ดี เป็นธุรกิจที่มีปัญหาก็มีโอกาสเลิกจ้างมากขึ้น
ขอให้ปรับตัว อดทนกันอีกนิด และเข้าร่วมมาตรการรัฐทั้งที่มีปัจจุบันและอนาคตให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าธุรกิจของคุณจะอยู่รอดได้ ฟ้าหลังฝนย่อมดีเสมอ อย่าเพิ่งท้อครับ!!
ในครั้งหน้าผมจะเตรียมเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังอีก รอติดตามอ่านนะครับ หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊คของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.facebook.com/ftichairman
[สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย]